โรงเรียนปทุมคงคา

Patumkongka School

Home / academy / โรงเรียนปทุมคงคา
โรงเรียนปทุมคงคา เป็นโรงเรียนชายล้วนระดับมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนปทุมคงคา ประวัติความเป็นมา โรงเรียนปทุมคงคาสถาปนาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2443 จนถึงปัจจุบันโรงเรียนมีอายุกว่า 114 ปี เริ่มต้นขึ้นในวัดปทุมคงคา โดยพระครูใบฎีกาเหลียนเป็นครูสอนนักเรียนที่กุฏิของท่าน… See More

โรงเรียนปทุมคงคา เป็นโรงเรียนชายล้วนระดับมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนปทุมคงคา

โรงเรียนปทุมคงคา

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนปทุมคงคาสถาปนาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2443 จนถึงปัจจุบันโรงเรียนมีอายุกว่า 114 ปี เริ่มต้นขึ้นในวัดปทุมคงคา โดยพระครูใบฎีกาเหลียนเป็นครูสอนนักเรียนที่กุฏิของท่าน พ.ศ. 2444 พระครูใบฎีกาเหลียนได้ย้ายนักเรียนไปสอนที่ “เรือนท่านพร” ซึ่งเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ที่ใช้เป็นที่จัดงานฌาปนกิจศพ ของท่านพรเศรษฐีตลาดน้อย เมื่อเสร็จงานแล้วจึงได้ อุทิศให้โรงเรียนปทุมคงคา พระครูใบฎีกาเหลียนจึงให้นักเรียนมาเรียนที่เรือนไม้นี้ และเรียกเรือนไม้หลังนี้ว่า “เรือนท่านพร” นับว่าเป็นอาคารแรกของโรงเรียนปทุมคงคา ได้รื้อออกเมื่อ พ.ศ. 2494 เพื่อใช้ที่ดินสร้างอาคารเรียนเป็นตึก 2 ชั้น จำนวน 6 ห้องเรียน

พ.ศ. 2445 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลขึ้นในวัดตามโครงการการศึกษา ท่านเจ้าอาวาสและคณะครูจึงได้มอบโรงเรียนวัดให้แก่รัฐบาล พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์การสอนทั้งหมดใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา” ครูใหญ่คนแรกคือ นายสนธิ์ พระครูกัลยาณคุณ (โชติ) เจ้าอาวาสผู้อุปการะโรงเรียนท่านเอาใจใส่ในการศึกษามาก ได้ยกตึก “สมเด็จพุฒจารย์” (ศรี) ให้เป็นโรงเรียน และได้สร้างตึกเรียน 2 ชั้น 6 ห้อง โดยใช้เงินธรณีสงฆ์และยังมีที่ว่างสำหรับเล่นฟุตบอล บริเวณโรงเรียนเดิมด้านทิศตะวันออกไปถึงโรงภาพยนตร์โอเดียน ณ ที่นี้เคยเป็นที่ตั้งโรงฝึกพลศึกษาของโรงเรียนโรงเรียนเจริญก้าวหน้าเพราะมีเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาเป็นผู้อุปการะโรงเรียน ถึงขนาดให้เงินธรณีสงฆ์สร้างตึกเรียน 2 ชั้น 6 ห้อง

พ.ศ. 2445 – 2459 โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา ต่อมา ชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนย้ายไปเรียนที่วัดสัมพันธวงศ์ ส่วนชั้นมัธยมศึกษานั้น โรงเรียนปทุมคงคาเปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นปีที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบโรงเรียนวัดปทุมคงคาแล้วใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา” สมัยนั้นเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วก็ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนวัดปทุมคงคา ที่เรียนประถมไปอาศัยเรียนที่วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จึงจะย้ายมาเรียนที่ตัวโรงเรียนใหญ่ คือ ที่วัดปทุมคงคา ในระหว่าง พ.ศ. 2445 – 2459 โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคาเปิดสอน ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ชั้นประถมก็ยังคงเป็นสอนอยู่และยังคงอาศัยอยู่ที่วัดเกาะ

พ.ศ. 2464 โรงเรียนยังคงเปิดสอนชั้นประถมศึกษาและไม่ปรากฏว่าเลิกสอนชั้นประถมศึกษาไปตั้งแต่เมื่อไร โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคาเริ่มเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เมื่อพ.ศ. 2460 และเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2461

พ.ศ. 2476 หลวงปาลิตวิชาสาสก์ เป็นอาจารย์ใหญ่ เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เรื่อยมาจนถึง 2481 โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคาได้ยกเลิกการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 พ.ศ. 2482 ก็ยกเลิกชั้นมัธยมปีที่ 8 เพราะนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วจะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมเท่านั้น สำหรับโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา ได้เปิดการสอนเฉพาะชั้นมัธยมปลายเท่านั้น คือ มัธยมปีที่ 4 – 6 เท่านั้น แต่ละชั้นมี 3 ห้อง รวมมีนักเรียน 9 ห้องเรียนมีนักเรียน 270 คน

พ.ศ. 2483 หลวงบรรสบวิชาฉาน เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนยังเปิดสอนเฉพาะมัธยมตอนปลายเท่านั้น

พ.ศ. 2486 ขุนจรรยาวิจัย (สารี มะกรสาร) ซึ่งเป็นนักเรียนปทุมคงคา หมายเลขประจำตัว 1 ได้เป็นครูใหญ่

พ.ศ. 2487 นายสนอง สุขสมาน เป็นครูใหญ่ ในระยะนี้นักเรียนโรงเรียนปทุมคงคาลดต่ำลงมาก กล่าวคือ พ.ศ. 2488 ได้ลดลงเหลือเพียง 7 ห้อง มีนักเรียน 224 คน มีครู 12 คน อาจกล่าวได้ว่าเป็นระยะที่โรงเรียนเกือบจะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น คือ ทางราชการดำริจะยุบโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา

พ.ศ. 2490 นายสกล สิงหไพศาล ย้ายมาดำรงตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่ ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการขอขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งทางราชการก็อนุญาตให้เปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ 1 ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2491 และเปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ 2 – 3 เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2493 ได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น ตึกยาวทุกห้อง เป็นไม้มุขชั้นบนจัด 2 ห้องเรียน ชั้นล่างเป็นห้องประชุมปกติเป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ ตึกเทียนประเทียน จัด 4 ห้องเรียน ชั้นล่างเป็นห้องพละ ชั้นเรียนมากขึ้น ครูมากขึ้น บริเวณก็แคบไป จึงรื้อเรือนไม้หน้ามุขกลางออกเป็นบริเวณให้นักเรียนเล่นและเป็นห้องประชุมอบรม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2493 โรงเรียนปทุมคงคาจึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึง ปีที่ 6

ในปี พ.ศ. 2497 โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงเตรียมอุดมศึกษา (ม.1 – ม.8) โรงเรียนเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น แต่เพราะเมื่อโรงเรียนเปิดสอนถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษานั้น สถานที่ของโรงเรียนคับแคบมาก โรงเรียนได้รับงบประมาณต่อเติมอาคาร เมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นเงิน 600,000 บาท โรงเรียนมีที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา จนถึง วันที่ 1 สิงหาคม 2503 วัดได้สร้างตึกแถวเพื่อหารายได้เข้าวัดจึงต้องรื้อถอนอาคารสโมสรนักเรียนเก่า โดยสมาคมได้รับเงินชดเชย 10,000 บาท ทำให้การดำเนินการของสมาคมนักเรียนเก่าหยุดชะงักไประยะหนึ่ง โรงเรียนมีที่ดินเหลือเพียง 2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา

ในปี พ.ศ. 2503 เป็นปีแห่งการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนปทุมคงคา กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งมีผลทำให้จัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ เป็นระบบ 4 – 3 – 3 – 2 ซึ่งหมายถึง การจัดการศึกษาเป็น ระบบประถมศึกษาตอนต้น 4 ปี ระดับประถมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ปี โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.ศ.1) โดยรับผู้ที่จบประโยคชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.7) ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เปิดสอนถึงชั้นเตรียมอุดมก็เปลี่ยนเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4 – 5) โรงเรียนปทุมคงคาจึงเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.ศ.1) ในปี พ.ศ. 2504 และตัดชั้นมัธยมปีที่ 1 (ม.1) ปีการศึกษา 2505 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ม.ศ.2) และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.ศ.4) พร้อมกับตัดชั้น ม.2 และเตรียมอุดมปีที่ 1 พ.ศ. 2506 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5) พร้อมกับตัดชั้น ม.3 และชั้นเตรียมอุดมปีที่ 2 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในปี พ.ศ. 2506 โรงเรียนปทุมคงคาเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ. 1 – 5) ซึ่งเป็นไปตามระบบการศึกษา โดยเปิดสอน 2 ผลัดคือผลัดเช้า 16 ห้องเรียน ผลัดบ่าย 13 ห้องเรียนรวม 29 ห้องเรียน มีนักเรียน 1,181 คน มีครูอาจารย์ 45 คน

เนื่องจากที่ทางโรงเรียนแคบมากและมีความลำบากยิ่ง และมีสาธารณะผ่านปิดประตูก็ไม่ได้ ประกอบกับโครงการขยายการศึกษาออกไปชานเมือง จึงทำให้กรมวิสามัญศึกษานั้นพิจารณาย้ายโรงเรียนปทุมคงคา มาเรียนที่แห่งใหม่ เลขที่ 920 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ได้ทำการขนย้ายพัสดุครุภัณฑ์ รวมทั้ง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง โดยใช้รถบรรทุก เมื่อเดือนมีนาคม 2507 และนักเรียนเริ่มย้ายมาเรียนที่โรงเรียนใหม่เมื่อเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2507 แต่ยังมีนักเรียน ม.ศ.1 ต้องอยู่วัดปทุมคงคาต่อไป เนื่องจากอาคารหลังที่ 2 ยังสร้างไม่เสร็จ ในขณะที่นักเรียนชั้น ม.ศ.2 – ม.ศ.5 ย้ายมาเรียนที่ใหม่นั้น อาคารเรียนหลังที่ 2 กำลังก่อสร้างเมื่อสร้างเสร็จ จึงย้ายนักเรียน ม.ศ.1 มาเรียนรวมกันที่แห่งใหม่ การย้ายโรงเรียนมาที่ใหม่มีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา เมื่อโรงเรียนปทุมคงคาย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ได้ย้ายมาหมดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2508 ทางราชการดำริจะเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนบ้านกล้วย แต่ในที่สุดก็ยังคงใช้ชื่อเดิม นายสกล สิงหไพศาล อาจารย์ใหญ่ ซึ่งดำเนินการย้ายโรงเรียน ครบเกษียณอายุราชการเมื่อ 30 กันยายน 2507

22 พฤศจิกายน 2507 นายวินัย เกษมเศรษฐ ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปทุมคงคา ได้รับภาระการพัฒนาโรงเรียนซึ่งกำลังก่อสร้างอาคารเรียนและเริ่มเพิ่มปริมาณนักเรียนขึ้นเล็กน้อยและได้ทำพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2508 โรงเรียนปทุมคงคาจัดการสอน นักเรียนชั้น ม.ศ.1 – 5 และได้เพิ่มจำนวนนักเรียนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2508 อาจารย์มนตรี ชุติเนตร ได้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปทุมคงคา ซึ่งขณะนั้นโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ ม.ศ.1 ถึง ม.ศ.5 โรงเรียนปทุมคงคาขยายขึ้นตามลำดับ ปีการศึกษา 2508 มีห้องเรียน 21 ห้อง นักเรียน 705 คน ปี พ.ศ. 2510 มีห้องเรียน 25 ห้อง นักเรียน 844 คน พ.ศ. 2513 มีห้องเรียน 41 ห้อง นักเรียน 1,733 คน พ.ศ. 2515 มีห้องเรียน 49 ห้อง นักเรียน 2,396 ในปี พ.ศ. 2515 นี้ โรงเรียนปทุมคงคามีคุณภาพ และปริมาณงานสูงมากจนทางราชการ ให้ปรับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนชั้นพิเศษโรงเรียนปทุมคงคา นับเป็นรุ่นแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างหนึ่งของโรงเรียนปทุมคงคา ต่อมาทางราชการปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

พ.ศ. 2520 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งมีผลทำให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอีก คือ ใช้ระบบ 6 – 3 – 3 ซึ่งหมายถึง ระดับประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี พร้อมกับใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 มีผลทำให้ปีการศึกษา พ.ศ. 2521 โรงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) ตัดชั้น ม.ศ.1 ปีต่อ ๆ ไป ก็เปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 3 – 4 – 5 – 6 (ม.2 – ม.6) พร้อมกับตัดชั้น ม.ศ.1, ม.ศ.2, ม.ศ.3, ม.ศ.4 และ ม.ศ.5 ตามลำดับ ในปีการศึกษา 2523 โรงเรียนมีนักเรียนจบชั้น ม.3 และ ม.ศ.3 และม.ศ.5 พร้อมกัน ปีการศึกษา 2526 โรงเรียนจึงเปิดสอนระดับชั้น ม.1 – ม.6 ครบถ้วนตามระบบใหม่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โรงเรียนปทุมคงคาเปิดสอน 2 ผลัด ตามนโยบายของกรมสามัญศึกษาเพื่อแก้ปัญหานักเรียนไม่มีที่เรียนในปี พ.ศ. 2517

โรงเรียนปทุมคงคามีห้องเรียน 37 ห้อง นักเรียน 3,338 คน ครูอาจารย์ 136 คน และปีการศึกษา 2521 ได้เพิ่มปริมาณขึ้นมากเป็นห้องเรียน 122 ห้อง นักเรียน 5,211 คน ครูอาจารย์ 219 คน โรงเรียนปทุมคงคาเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษของประเทศไทย หลังจากนั้นจำนวนนักเรียนลดลง ปี พ.ศ. 2522 มีห้องเรียน 120 ห้อง นักเรียน 5,088 คน ครูอาจารย์ 248 คน ปีการศึกษา 2523 มีห้องเรียน 118 ห้อง นักเรียน 4,939 คน ครูอาจารย์ 264 คน ปีการศึกษา 2524 มีห้องเรียน 102 ห้อง 4,358 คน ครูอาจารย์ 262 คน ปีการศึกษา 2526 โรงเรียนเปิดสอนผลัดเดียวมีห้องเดียว 81 ห้อง นักเรียน 3,554 ครูอาจารย์ 237 คน

เดือนมิถุนายน 2523 นายประยูร ธีระพงษ์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคา ซึ่งเป็นระยะที่โรงเรียนเริ่มลดปริมาณห้องเรียนและนักเรียนลง แต่ในขณะนั้นโรงเรียนยังเปิดสอน 2 ผลัด และสอนสัปดาห์ละ 6 วัน ท่านพยายามปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนใหม่ โดยจัดการสอนสัปดาห์ละ 5 วัน (เดิมสอนสัปดาห์ละ 6 วัน) ซึ่งสามารถจัดได้จำนวนคาบครบตามหลักสูตร ท่านปรับปรุงคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการฝ่ายบริหาร คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ โรงเรียนเปิดสอนชั้น ม.1, ม.2, ม.3, ม.ศ.3, ม.ศ.4 และ ม.ศ.5

ในปีการศึกษา 2523 นั้นจึงมีนักเรียนจบการศึกษาชั้น ม.3 และ ม.ศ.3 พร้อมกันเป็นจำนวนถึง 1,895 คน และยังจบชั้น ม.ศ.5 อีก 554 คน นับว่าเป็นปีที่มีนักเรียนจบการศึกษามากที่สุด

ในปีการศึกษา 2524 โรงเรียนปทุมคงคาเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 (ม.1) เพียง 14 ห้อง และรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 (ม.4) 20 ห้อง และในปีการศึกษา 2525 เปิดรับ ม.1 เพียง 12 ห้อง ม.4 จำนวน 16 ห้องเรียน จุดมุ่งหมายเพื่อจะให้ โรงเรียนปทุมคงคาขยายการ ศึกษาในระดับมัธยมปลาย

นายเจตต์ แก้วโชติ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคา เมื่อเดือนมกราคม 2526 ขณะนั้นโรงเรียนปทุมคงคายังเปิดสอน 2 ผลัด จนสิ้นปีการศึกษา 2525

ปีการศึกษา 2526 ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคา ได้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนใหม่โดยเปิดสอนผลัดเดียวตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 (ม.1) ถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม.6) มีห้องเรียน 89 ห้อง นักเรียน 3,591 คน การที่โรงเรียนเปิดสอนผลัดเดียวนั้น ก็เพื่อจะให้นักเรียนได้มีโอกาสอยู่ในโรงเรียนในวันหนึ่งๆ เป็นระยะเวลานานขึ้น ไม่ไปประพฤติตนเสียหายหรือไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง

อาจารย์อุดม วัชรสกุณี เป็นผู้อำนวยการคนที่ 17 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการระหว่าง ปีพ.ศ.2528ถึง พ.ศ.2530 ระหว่างดำรงตำแหน่งท่านได้ให้การสนับสนุนวงโยธวาทิตโรงเรียนปทุมคงคา จัดซื้อเครื่องดนตรีใหม่เป็นเงินกว่า 2ล้าน ได้อัญเชิญเทพชื่อ ธนบดีเทพ มาประดิษฐานเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวน้ำเงินฟ้าทุกคนให้เกิดสิริมงคล มีความสุข ความเจริญ ร่ำรวยและมั่งคั่งแทนศาลพระพรหม ท่าน เห็นว่าสถานที่คับแคบไม่สง่างาม และอยู่ใกล้กองขยะซึ่งส่งกลิ่นเหม็นอยู่ตลอดเวลา จึงรื้อศาลออกเสีย แล้วมาตั้งศาลใหม่ตรงบริเวณสวนหย่อมระหว่างอาคารสารีศรีปทุมและอาคารวิริยสโรส และจากการใช้วิชาโหราศาสตร์ของผู้รู้ ซึ่งสำหรับผู้ทำพิธีอัญเชิญเทพ คือ คุณนนทฤทธิ์ ศโรภาส จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สนใจวิชาพรหมศาสตร์ สำหรับฤกษ์การอัญเชิญ ท้าวธนบดีเทพเป็นฤกษ์ดีมาก คือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลา ๑๙.๑๙ น. ตรงกับฤกษ์ฉลองศาลหลักเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าพวกเราชาวน้ำเงินฟ้า จะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป โรงเรียนปทุมคงคา ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางลีลา “หลวงพ่อคง” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา สูง ๑.๘๐ เมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ประดิษฐานบนรูปดอกบัว พระครูสมุห์เศรษฐกิจ วัดนากปรก เขตภาษีเจริญ ได้ตั้งปณิธานว่า จะจัดสร้างพระพุทธรูป จำนวน ๖๐ องค์ เพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมายุ ครบ ๖๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช เมื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จ ได้ถวายนามว่า “ พระศากยมุนีศรีปัญญา ๘๕” เรียกสั้นๆ ว่า “หลวงพ่อคง” ซึ่งมาจากคำว่า ปทุม คง คา “หลวงพ่อคง” มาประดิษฐานไว้บริเวณหน้าประตูโรงเรียน โดยมีนักเรียน ม.๖ รุ่นปีการศึกษา ๒๕๒๘ ร่วมบริจาคสร้างฐานพระเป็นหินอ่อน และทำพิธีเบิกเนตรในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูปมาประกอบพิธีและถวายภัตตาหารเพล หลวงพ่อคง หล่อเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ณ. ปริมณฑลสถานโรงหล่อพุทธนิรมิตอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ. โรงเรียนปทุมคงคา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๙.๐๐ น.ทำพิธีเบิกพระเนตร บรรจุพระธาตุดิน จาก เวชนียสถาน พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่พระเกตุมาลา ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เวลา ๑๐.๒๐ น.

ตั้งแต่ปี2532โรงเรียนปทุมคงคา ได้เริ่มส่งนักเรียนเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และทางโรงเรียนก็มีผลงานกลับมาทั้ง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง คณิตศาสตร์โอลิมปิก เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ฟิสิกส์โอลิมปิก และเหรียญทองแดงโอลิมปิกทั้งของทั้งเคมีและชีววิทยา แล้วในนี้ยังรวมถึงเกียรติคุณประกาศของทางโอลิมปิกวิชาการด้วย

ในปี พ.ศ.2543 ครบรอบ 100ปี โรงเรียนปทุมคงคา ยังคงมีความสามารถทั้งทางวิชาการและทางกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล โรงเรียนปทุมคงคาเปิดสอนผลัดเดียว จำนวน 70 ห้องเรียน มีนักเรียน 3,040 คน มีครูอาจารย์ 143 คน นับว่าเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ของประเทศไทย

โรงเรียนปทุมคงคา

ตราประจำโรงเรียน
รูปดอกบัวสีชมพูบานลอยอยู่เหนือน้ำ หมายถึง ผู้ที่มีปัญญาสามารถสั่งสอนให้รู้แจ้งได้
คบเพลิง หมายถึง แสงสว่าง หรือก็คือ ปัญญา

สีประจำโรงเรียน
น้ำเงิน – ฟ้า

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน
พระศากยมุนีศรีปัญญา (หลวงพ่อคง)

โรงเรียนปทุมคงคา

ดอกไม้ประจำโรงเรียน
ดอกบัวหลวง

คติพจน์
ศึกษาดี มีวินัย ใจนักกีฬา

อักษรย่อ : ป.ค. (PK)
ประเภท : รัฐบาล สังกัด สพฐ.
ก่อตั้ง : 16 สิงหาคม พ.ศ. 2443
ผู้ก่อตั้ง : พระครูใบฏีกาเหลียน (พระยาสีมานนทปริญญา)[1]
ผู้อำนวยการ : นางสุภัทร เงินดี
เพลง : น้ำเงิน-ฟ้า
ที่ตั้ง : 920 ถนนสุขุมวิท พระโขนง คลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
โทร : 0-2392-2510,0-2393 2576
โทรสาร : 0-2390-2288
เว็บไซต์ : www.patumkongka.ac.th
facebook : https://www.facebook.com/patumkongka.ac.th

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ www.patumkongka.ac.th

See Less

กิจกรรม โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ดาวเด่น โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

วาไรตี้ โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า โรงเรียนปทุมคงคา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้