โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

Assumption College Thonburi

Home / academy / โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นโรงเรียนเอกชนลำดับ 8 ก่อตั้งโดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เมื่อปี พ.ศ. 2504 เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2552 ได้รับนักเรียนหญิงเข้ามา จึงเปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนสหศึกษา มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ 92… See More

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นโรงเรียนเอกชนลำดับ 8 ก่อตั้งโดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เมื่อปี พ.ศ. 2504 เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2552 ได้รับนักเรียนหญิงเข้ามา จึงเปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนสหศึกษา มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ 92 ถนนอัสสัมชัญ แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160 ปัจจุบันโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมีอายุครบ 55 ปี

โรงเรียนก่อตั้งขึ้นโดยได้รับที่ดินจำนวนหนึ่งจากนายไถง สุวรรณทัต ศิษย์เก่าอาวุโสโรงเรียนอัสสัมชัญ (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของประเทศไทยชื่อว่า “หมู่บ้านเศรษฐกิจ” ซึ่งท่านได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ให้กับโรงเรียน ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 74 ไร่

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

อาคารอัสสัมชัญ

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 เป็นโรงเรียนเอกชนลำดับที่ 8 ที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จากความประสงค์ของภราดาผู้ใหญ่ที่ต้องการให้มีโรงเรียนในฝั่งธนบุรี หรือจังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น เพราะในขณะนั้นโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทั้ง 2 โรงเรียนไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมากได้เพียงพอ ด้วยเหตุนี้เอง เจษฎาธิการ ภราดายอห์น แมรี่ เยซู ซาลาส เอสควิโรส และเจษฎาจารย์ ภ.ฮีแลร์ จึงได้นำเรื่องนี้ หารือกับนายไถง สุวรรณทัต ศิษย์เก่าอาวุโสโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่กำลังเปิดโครงการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย นายไถง สุวรรณฑัต จึงได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ในบริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ เพื่อก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาทางโรงเรียนได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จึงได้มีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 79 ไร่ 44 ตารางวา ทางทิศเหนือของโรงเรียน จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมีอาคารเรียนและอาคารประกอบจำนวน 23 หลัง แบ่งเป็นห้องเรียน 99 ห้อง ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องดนตรี ห้องแนะแนว ห้องปฏิบัติการภาษาต่างประเทศ ห้องพยาบาล ห้องไฟฟ้า ห้องโสตทัศน์ ห้องกิจกรรมชมรมต่าง ๆ ห้องอาคารครู ห้องอาหารนักเรียน และอื่น ๆ มีคอมพิวเตอร์มากกว่า 600 เครื่อง และเครื่องดนตรีมากกว่า 500 ชิ้น

ในปี พ.ศ. 2504 ภราดาอาซีเนียว อานเกล อินฟานเต ได้ดำรงตำแหน่งอธิการคนแรก และภราดาประทีป ม. โกมลมาศ เป็นครูใหญ่คนแรก ปีการศึกษา 2504 สร้างเรือนไม้ 2 ชั้น คือ บ้านพักภราดาและอาคารเรียน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ความยาว 104 เมตร มี 13 ห้องเรียน สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น ครูรุ่นแรกของโรงเรียนมีจำนวน 5 ท่าน เปิดเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2504 มีจำนวนนักเรียน 95 คน โดยในวันเปิดเรียน คุณไถง สุวรรณฑัต ได้ทำพิธีมอบที่ดินโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีให้แก่มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2505 ได้มีการสร้างโรงอาหารและได้ต่อเติมอาคารเรียนเรือนไม้ให้มีห้องเรียนมากขึ้น ทำให้อาคารหลังนี้ยาวถึง 176 เมตร นอกจากนั้น ยังได้ขุดคูระบายน้ำรอบโรงเรียนและได้สร้างสนามฟุตบอลและสนามบาสเกตบอล สร้างบ้านพักภราดาขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ปรับปรุงบ้านพักภราดาหลังเดิมให้เป็นบ้านพักครู มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พร้อมกล้องส่องดูดาวขนาดใหญ่ และได้ตั้งชมรมดาราศาสตร์ขึ้น ขณะเดียวกัน ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ และมาสเตอร์ทวี ปัญญา ได้ฝึกฝนเปียโนและไวโอลินให้กับนักเรียน จนหลายคนสามารถสอบวิชาดนตรีของ The Trinity College of Music, London University ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เกรด 4 พร้อมได้รับประกาศนียบัตร ในระหว่างนี้ ภราดามาร์ติน ได้นำไม้ยืนต้น จากกรมป่าไม้โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณเขตร์ ศรียาภัย ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ มาปลูกในโรงเรียนกว่า 500 ต้น และในปีการศึกษา 2508 ได้เริ่มสร้างอาคารคอนกรีตทรงญี่ปุ่น ขนาด 10 ห้องเรียน ความยาว 80 เมตร สำหรับนักเรียนที่จะศึกษาในปีการศึกษา 2509 และเรียกอาคารนี้ว่า “ตึกญี่ปุ่น”

ปี พ.ศ. 2508 ได้ปรับปรุงอาคารเรียนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มจำนวนห้องเรียน ปรับพื้นที่บริเวณโรงเรียน สร้างสนามบาสเกตบอลคอนกรีต 2 สนาม สร้างสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน สร้างบ้านพักครู 5 หลัง สำหรับครูที่มีครอบครัวแล้ว 4 หลัง และบ้านครูโสด 1 หลัง จำนวน 5 ห้อง ซึ่งเรียกว่า “บ้านชายโสด” ปรับปรุงเรือนไม้ที่เคยใช้เป็นบ้านพักภราดา โดยให้ชั้นบนเป็นห้องเรียนและห้องสมุด นับเป็นห้องสมุดแห่งแรกของโรงเรียน สำหรับชั้นล่างเป็นห้องพักครู จากนั้นได้เริ่มก่อสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 12 ห้องเรียน แต่สร้างไม่ทันเสร็จ ท่านอธิการก็ได้ไปดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาเสียก่อน

ปี พ.ศ. 2510 ได้มีการสร้างอาคาร 3 ชั้น ต่อจนเสร็จ และเปิดใช้ในปีการศึกษา 2512 เรียกว่า “ตึกอำนวยการ” ปัจจุบัน คือ “อาคารเซนต์คาเบรียล” จากนั้นได้ปรับปรุงเรือนไม้ให้เป็นห้องประชุม ห้องสมุด ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องวิทยาศาสตร์ และห้องจำหน่ายอุปกรณ์การเรียน ราวต้นปีการศึกษา 2512 ภราดาราฟาแอล ภักดี ทุมมกานน เห็นว่าถนนตั้งแต่วงเวียนทะเลสาบถึงโรงเรียน เป็นหลุมเป็นบ่อจึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จากผู้ปกครองและให้บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด มาลาดยางมะตอยเส้นทางดังกล่าว เรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนอัสสัมชัญ” ต่อมาภราดาเลโอได้สร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เรียกว่า “ตึกวิทยาศาสตร์” ปัจจุบันเรียกว่า “อาคารอิลเดอฟองโซ” ใช้เป็นห้องวิทยาศาสตร์ 2 ห้อง ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องพิมพ์ดีด และห้องพักครู เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2514 ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดอาคาร ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2515 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศรับรองวิทยฐานะโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ในปีนี้ เริ่มมีการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีกับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในปีการศึกษา 2516 ภราดาราฟาแอล ได้ซื้อที่ดินด้านหลังสนามฟุตบอลใหญ่เพิ่มอีก 10 ไร่ 9 ตารางวา

ปี พ.ศ. 2518 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนางานด้านวิชาการครั้งใหญ่ ได้ขยายห้องสมุดขนาด 6 ห้องเรียนให้ได้มาตรฐาน จัดหาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองด้วยตนเองจำนวนมาก สร้างกำแพงโรงเรียนด้านหน้าและด้านข้างบางส่วน แทนรั้วลวดหนามและรั้วเฟื่องฟ้าเดิม ปรับปรุงโรงเรียนอัสสัมชัญอาชีวศึกษา ที่เลิกกิจการไปให้เป็นนวกสถาน ปรับปรุงเป็นหอพักนักเรียนประจำ นำบ้านมงฟอร์ตมาเป็นสถานที่อบรมเยาวชนที่จะบวชเป็นภราดา ก่อนที่จะส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ในระหว่างนี้ ภราดาราฟาแอลได้ซื้อที่ดินที่ติดกับพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนเพิ่มอีก 11 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และได้ซื้อที่ดินแปลงเล็ก ๆ เพิ่มอีก จนกระทั่งปัจจุบัน โรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมด 80 ไร่ 27 ตารางวา

ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนวันหยุดประจำสัปดาห์ จากเดิมหยุดวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ มาเป็นหยุดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ในปีการศึกษา 2522 ได้ก่อตั้ง กองลูกเสือสำรองและสามัญขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาปีการศึกษา 2523 มาสเตอร์ทวี ปัญญา ได้แต่งเพลงมาร์ชอัสสัมชัญธนบุรี และภราดาพีรพงศ์ ดาราไทย ได้ตั้งคณะโขนขึ้น ในส่วนของอาคารสถานที่ ได้ปรับปรุงสนามตะกร้อ สร้างสนามกรีฑา สนามเทนนิส ห้องน้ำนักเรียน ถนนรอบโรงเรียน และหอพักนักเรียนประจำ ขยายจำนวนห้องเรียนจากชั้นละ 4 ห้องเรียน เป็น 5 ห้องเรียน รื้ออาคารไม้หลังแรกออก และได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนคอนกรีต 4 ชั้น 21 ห้องเรียน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 เรียกว่า “อาคาร 4” ปีการศึกษา 2525 เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์และสายศิลป์ อย่างละ 1 ห้อง เป็นปีแรก ซึ่งนักเรียนรุ่นแรก สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังได้ตั้งวงดนตรีไทยวงใหญ่ขึ้น ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีไทยประเภทขับร้องเดี่ยว ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ทั่วประเทศ ได้รับรางวัลโล่ชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ต่อมา ได้ตั้งวงโยธวาทิตพร้อมเครื่องดนตรีใหม่ครบชุด 36 ชิ้น ขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียน

ปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดทำแผนแม่บทระยะ 12 ปี ได้สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ทางด้านทิศตะวันออกเชื่อมกับอาคาร 4 เดิม แล้วเสร็จในปีการศึกษา 2529 ซึ่งเป็นวโรกาสที่โรงเรียนก่อตั้งครบ 25 ปี และได้รับพระกรุณาคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิด ภราดามีศักดิ์ ยังได้ก่อตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูฯ ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญธนบุรี สร้างกำแพงด้านข้างและด้านหลังโรงเรียนต่อจากของเดิม ทำให้โรงเรียนมีกำแพงล้อมรอบโรงเรียนครบทั้ง 4 ด้าน สร้างโรงอาหารขนาดมาตรฐาน 2 ชั้น เริ่มจัดทำวารสารประจำโรงเรียน จัดให้มีงานราตรีสัมพันธ์เป็นครั้งแรก จัดตั้งโรงเรียนคอมพิวเตอร์อัสสัมชัญธนบุรี สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกเป็นสระลอย 2 สระ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อสระว่ายน้ำว่า “เทิดเทพรัตน์’ 36” ในวโรกาสที่พระองค์ท่านมีพระชนมายุ 36 ชันษา นอกจากนั้น ยังได้สร้างเรือนไทยคีตวัณณ์ สำหรับฝึกซ้อมวงดนตรีไทย ได้ปรับปรุงวงโยธวาทิตโดยจัดหาเครื่องดนตรีเพิ่มเติมหลายชิ้น และมีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันวงโยธวาทิตนักเรียน นิสิต นักศึกษา เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2533 นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงงานดนตรีเยาวชน 90 ในโอกาสที่ประเทศสิงคโปร์เฉลิมฉลองเอกราชครบ 25 ปี ได้สร้างสนามกรีฑาขนาดมาตรฐานพร้อมอัฒจันทร์และกระถางคบเพลิง ปรับปรุงสนามฟุตบอล สร้างอาคารมัธยมศึกษาตอนปลายชั่วคราว สร้างอาคารเก็บพัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับปรุงประตูทางเข้า พัฒนาโรงอาหารจนได้รับรางวัลโรงอาหารมาตรฐานระดับดีเยี่ยม ริเริ่มให้มีการแข่งขันกีฬาครูสัมพันธ์อัสสัมชัญ 4 สถาบัน ขึ้นเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. 2534 ได้มีการปรับปรุงแผนแม่บทในการพัฒนาโรงเรียน ปีการศึกษา 2538 ได้ร่วมกับ The Bell Educational Trust จากสหราชอาณาจักร เปิดศูนย์ภาษาอังกฤษอัสสัมชัญธนบุรี Bell โดย ดร.เจริญ คันธวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานพิธีเปิด นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยให้บุคลากรทุกคนอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ ปีการศึกษา 2539 เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ร่วมกับคณะผู้ปกครอง ได้ร่วมกันสมทบทุนสร้างสวนกาญจนาภิเษก จากนั้น ได้เริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้โดย ฯพณฯ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ และพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นประธานพิธีเสกอาคาร และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร และได้พระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า “รัตนบรรณาคาร” แปลว่า อาคารแห่งหนังสือที่รุ่งเรือง พร้อมกันนี้ โรงเรียนได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายห้องทรงงานบนชั้น 3 ของอาคาร โดยได้รับพระราชานุญาต ให้ใช้นามห้องนี้ว่า “สิรินธร” และในคราวเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ มีพระกรุณาธิคุณผสมเกสรดอกกล้วยไม้ระหว่างพันธุ์มาดามวิภากับพันธุ์เขียวบางเลน และได้พระราชทานนามกล้วยไม้ที่ผสมนี้ว่า “พันธุ์อัสสัมชัญ” ปีการศึกษา 2540 ได้เปิดการเรียนการสอนแบบสหศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นปีแรก จากนั้นได้ก่อสร้างอาคาร “ราฟาแอล” โดยมีศิษย์เก่า คือ ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ และมุขนายกยอร์ช ยอด พิมพิสาร เป็นประธานพิธีเสกอาคาร จากนั้น ได้ก่อสร้างอาคารหอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ในโอกาสที่ก่อตั้งโรงเรียนครบ 36 ปี นับได้ว่ายุคนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเข้าสู่ยุคการศึกษาสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ปี พ.ศ. 2541 ได้มีการก่อสร้างหอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต จนแล้วเสร็จ ในปีการศึกษา 2542 มุขนายกไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเสกอาคาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จากนั้น ภราดาเลอชัยได้ก่อสร้างอาคารบ้านพักภราดาหลังใหม่แทนบ้านพักภราดาหลังเดิม ก่อตั้งทุน “ลวสุต” เพื่อมอบให้กับนักเรียนในชุมชนโดยรอบที่เรียนดีแต่ขาดแคลน สร้างบรรยากาศคาทอลิกโดยการติดตั้งรูปปั้นพระนางมารีย์พรหมจารี รูปปั้นนักบุญหลุยส์ เดอ มงฟอร์ ตามบริเวณต่าง ๆ ของโรงเรียน ทำรูปหล่อคุณไถง สุวรรณฑัต และภราดายอห์น แมรี่ ถมคลองทำถนนรอบโรงเรียน ปรับปรุงสถานที่ด้านหลังโรงเรียนให้เป็นสวนเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฏีใหม่ สร้างแปลงนาสาธิต ตลอดจนสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีสัตว์เลี้ยงนานาชนิด สนับสนุนการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายใน ให้ชื่อว่า “ตากสินคัพ” ริเริ่มโครงการนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือกโดยใช้หอพักเดิมที่อยู่ในบริเวณวัดนักบุญหลุยส์ฯ เป็นที่พัก สนับสนุนพัฒนาห้องสมุดเป็นอย่างมาก โดยปีการศึกษา 2543 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลห้องสมุดดีเด่นระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษให้กับโรงเรียน นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ได้จัดตั้งกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนสวัสดิการครู กองทุนถาวรครูไม่สูญสลาย กองทุนครูเกษียณ และเริ่มก่อสร้างอาคาร “ยอห์น แมรี่”

ปีพ.ศ. 2544 ได้มีการสร้างอาคาร “ยอห์น แมรี่” จนแล้วเสร็จ เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน ห้องอาหาร ที่ทำการสมาคมผู้ปกครองฯ ที่ทำการสมาคมศิษย์เก่า และห้องประชุม ปีการศึกษา 2544 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลห้องสมุดดีเด่นระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ให้กับโรงเรียน ปรับปรุงอาคาร “มาร์ติน” ให้เป็นหอพักนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือก ส่งเสริมสนับสนุนทีมนักกีฬาฟุตบอลจนกระทั่งได้รับชัยชนะหลายรายการ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและประเทศชาติ โดยเป็นตัวแทนโซนเอเชีย ไปแข่งขันในรายการ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พรีเมียร์คัพ 2003 เวิลด์ไฟนัล” ที่รัฐโอเรกอนประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อันดับที่ 5 จาก 20 ทีมทั่วโลก สนับสนุนให้คณะครูแต่งเครื่องแบบของโรงเรียน เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับสถาบัน Knoten Welmar สาธารณรัฐเยอรมัน โดยนำเศษกิ่งไม้ใบไม้มาทำปุ๋ยหมักเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ปรับปรุงสวนสัตว์โดยการสร้างกรงนกขนาดใหญ่ และได้ก่อสร้างอาคารเซนต์แอนดรูว์สำหรับเป็นบ้านพักครูต่างชาติ ได้เช่าสถานที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่คลองทวีวัฒนา เพื่อทำสนามฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือก นอกจากนั้นยังได้นำหลักสูตรภาษาจีนเข้ามาสอนในโรงเรียน และเริ่มวางแผนการเปิดหลักสูตร English Program

ปี พ.ศ. 2547ได้มีการเปิดสอนหลักสูตร English Program ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ก่อสร้างอาคารบ้านพักครูต่างชาติเพิ่มอีก 1 หลัง สร้างศูนย์การเรียนสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ปรับปรุงพื้นที่ใต้สระว่ายน้ำให้เป็นครัวลีลาวดี สร้างห้องเบเกอรี่ ห้องเซรามิค และห้องเบญจรงค์ สร้างแหล่งเรียนรู้โดยรอบโรงเรียน อาทิ สร้างโรงเพาะเห็ด วังมัจฉา โรงทำกระดาษ ไบโอดีเซล และปลูกพืชไฮโดรโปรนิก จัดตั้ง ACT Bank พัฒนาโรงเรียน จนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ ในปีการศึกษา 2548 และนายชวิน ชัยวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถทำคะแนนรวมเป็นที่ 1 ของประเทศในคณะแพทยศาสตร์ ต่อมาในปีการศึกษา 2549 ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่อีกครั้ง
ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานใหม่ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นำเอา Interactive Board พร้อมระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ตลอดจนจอ LCD ขนาดใหญ่ มาใช้ในห้องเรียน ปรับเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จำนวนมาก นำระบบ School Web-based Information System SWIS มาใช้ในการบริหารงาน ติดระบบวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ของโรงเรียน ขยายหลักสูตร English Program ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มแผนการเรียนสหศิลป์ ดนตรี กีฬา คอมพิวแตอร์ จัดตั้งศูนย์ดนตรีและจัดหลักสูตรเรียนดนตรีในเวลาเรียนให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ขยายหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษกับศูนย์ Bell ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และสอนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นอกจากนั้นยังบูรณาการ การสอนภาษาอังกฤษในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ สนับสนุนให้ครูทำงานวิจัยและเขียนบทความ จัดทำห้องศูนย์การพิมพ์ให้ครูใช้ผลิตสื่อการสอน เปิดรับนักเรียนหญิงในทุกระดับชั้น นับว่าโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีเป็นโรงเรียนสหศึกษาโดยสมบูรณ์ ในด้านอาคารสถานที่ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเซนต์ปีเตอร์ ในคราวที่โรงเรียนก่อตั้งครบ 48 ปี และสร้างอาคารยิมเนเซียม ในโอกาสฉลอง 50 ปีโรงเรียน นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างอาคาร ลวสุต เป็นที่พักนักกีฬาโครงการพิเศษ (ช้างเผือก) สร้างอาคารสำนักงานฝ่ายอาคารสถานที่สำหรับเป็นที่เก็บวัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับปรุงอาคารเซนต์คาเบรียล และอาคารอิลเดอฟองโซ ให้เป็นสถานที่เรียนอย่างเป็นสัดส่วนของนักเรียน English Program ปรับปรุงประตูทางเข้าและแนวรั้วด้านหน้าโรงเรียนใหม่ ปรับปรุงสนามกีฬา ลู่วิ่ง กระถางคบเพลิง และอัฒจันทร์ใหม่ ให้ชื่อว่า “สนามว่องประชานุกูล” ปรับปรุงอาคารมาร์ติน ให้เป็นสถานที่เรียนกิจกรรม ปรับปรุงสระว่ายน้ำ สถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียนใหม่ให้สวยงาม นอกจากนั้น ยังได้นำบทสวดมนต์ภาษาอังกฤษมาใช้ในโรงเรียน ส่งเสริมสนับสนุนให้ฝึกซ้อมวงโยธวาทิตอย่างจริงจัง ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง รณรงค์ให้โรงเรียนเป็นแหล่งอนุรักษ์พลังงาน จนได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านพลังงาน สนับสนุนให้นักฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศ ส่งผลให้ทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้เลื่อนชั้นไปเล่นฟุตบอลอาชีพ ลีกดิวิชั่น 2 ในชื่อ “อัสสัมชัญธนบุรี เดอะแพค เอฟซี” นอกจากนั้นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ ในระดับชาติอีกมากมายหลายรายการ

ปี พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน ในสมัยผู้อำนวยการคนล่าสุดคือ ภราดา ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ ได้มีงานสำคัญ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการเปิดอาคารเรียน ยิมเนเซียม และ อาคารเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งอาคารยิมเนเซียมเป็นอาคารใหม่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2555 เพื่อเป็น โรงอาหาร ห้องเรียนทำอาหาร ห้องเรียนเทควอนโด และชั้นบนเป็น สนามกีฬาในร่ม ซึ่งสามารถดัดแปลงไปเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ได้ และอาคารเซนต์ปีเตอร์ เป็นอาคารมัธยมปลาย เปิดใช้ในปี 2552 ภายในอาคารประกอบด้วยเทคโนโลยี ด้านสื่อการเรียนการสอนครบวงจร อาทิเช่น การใช้จอ iBoard หรือ กระดานเรียนที่ใช้ระบบสัมผัสได้ ในการเข้ามาประกอบการเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น อีกด้วย

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

ตราประจำโรงเรียน
เครื่องหมายโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีลักษณะ เป็นตราโล่สีแดงคาดสีขาว กึ่งกลางมีตัวอักษร ACT สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ และปีคริสต์ศักราช 1961 สีนำเงินอยู่ใต้ตัวอักษร ซึ่งเป็นปีก่อตั้งโรงเรียน นอกจากนี้ สีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ความหมายของ “อัสสัมชัญ”
ชื่อ อัสสัมชัญ ใช้กันตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2453 ซึ่งคำ ๆ นี้ ให้เสียงเป็นคำไทยและคล้ายกับภาษาอังกฤษว่า Assumption เพราะคำว่า อัสสัมชัญได้แก่ศัพท์บาลีมคธว่า อัสสโม แผลงเป็นไทยว่า อาศรม ซึ่งหมายความว่า กุฏิที่ถือศีลกินพรต ส่วนคำว่า ชัญ ก็จะแยกตามศัพท์เดิม ได้แก่ ธาตุศัพท์ว่า ช ซึ่งแปลว่า เกิด และ ญ ซึ่งแปลว่า ญาณความรู้ รวมความได้ ชัญ คือที่สำหรับเกิดญาณความรู้ ครั้น รวมสองศัพท์มาเป็นศัพท์เดียวกันเข้าแล้วก็แปลได้ว่า อัสสัมชัญ คือ สถานแห่งความรู้

flag

ธงประจำโรงเรียน
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบน เป็น สีแดง ส่วนล่าง เป็น สีขาว
ตรงกลางของธง มีตราโล่ของโรงเรียนและตัวหนังสือภาษาอังกฤษใต้โล่ ASSUMPTION COLLEGE THONBURI

สีประจำโรงเรียน
สีแดง – ขาว
เป็นสัญลักษณ์สีประจำโรงเรียน
สีแดง หมายถึงความเสียสละ ความเข้มแข็ง ความอดทน
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ

ต้นไทร

ต้นไม้ประจำโรงเรียน
เหตุผลที่เลือกต้นไทรเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน เพราะ
1. เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น พักพิง กับสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์
2. เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตยืนยาว ถาวร มั่นคง แข็งแกร่ง
3. เมล็ดเป็นอาหารกับสัตว์ ให้ชีวิตกับสิ่งมีชีวิต
4. เขียว สดใส ตลอดทั้งปี
5. กิ่ง ก้าน เหนียว ไม่หักเปราะง่าย บ่งบอกถึงความมานะ อดทน ต่อทุกสภาวะในแต่ละวันของชีวิตคน

อักษรย่อ : อ.ส.ธ. / A.C.T.
ประเภท : โรงเรียนเอกชน
ก่อตั้ง : พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)
เพลง : มาร์ชอัสสัมชัญธนบุรี,สดุดีอัสสัมชัญ
ที่ตั้ง : 30 หมู่ 3 แขวงบางไผ่ เขตกรุงเทพมหานคร 10160
โทร : 02-8079555-63
เว็บไซด์ : http://www.act.ac.th
facebook : ACTalumni/

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ /www.act.ac.th

See Less

ข่าวการศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

กิจกรรม โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้