วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

The College of Dramatic Arts

Home / academy / วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)
วิทยาลัยนาฏศิลป เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดสอนเพื่อผลิตครู บุคลากรสายอาชีพในด้านนาฏศิลป์และดนตรี วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) ประวัติความเป็นมา วิทยาลัยนาฏศิลป เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม… See More

วิทยาลัยนาฏศิลป เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดสอนเพื่อผลิตครู บุคลากรสายอาชีพในด้านนาฏศิลป์และดนตรี

วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ประวัติความเป็นมา

วิทยาลัยนาฏศิลป เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ. ศ.2477 นับเป็นสถาบันของชาติแห่งแรกที่ให้การศึกษา ทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลป ขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้คือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2478 ทางการมีความประสงค์ที่จะให้วิชาศิลปทางโขน-ละคร และดนตรี มารวมอยู่ในสังกัดเดียวกัน จึงได้โอนครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ กับศิลปินประจำราชสำนักของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเครื่องดนตรี เครื่องโขน เครื่องละครของหลวงบางส่วนจากกระทรวงวัง ให้มาสังกัดกรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงได้แก้ไขปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2478 ได้มีคำสั่งตั้งโรงเรียนศิลปากร สอนวิชาช่างปั้น ช่างเขียน และช่างรักขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร และให้โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ไปรวมเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียน ศิลปากร เรียกชื่อเฉพาะแผนกนี้ว่า “โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์” ให้การศึกษาวิชาศิลปทางดนตรี ปี่พาทย์ และละครแต่ยังไม่มีโขน ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2485 ได้ยุบกองโรงเรียนและให้ “แผนกช่าง” ของโรงเรียนศิลปากรไปขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร และโอนกรมศิลปากรไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2485 กรมศิลปากรปรับปรุงกองดุริยางคศิลป์ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองการสังคีต และโอนแผนกนาฏดุริยางค์จากโรงเรียนศิลปากรขึ้นกับกองการสังคีต เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนสังคีตศิลป” ขึ้นอยู่กับแผนกนาฏศิลป แต่เนื่องจากอุปสรรคและสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งราชการได้คืนสถานที่ไปใช้ราชการอย่างอื่น ระหว่าง พ.ศ.2485-2487 การศึกษาของโรงเรียนสังคีตศิลปจึงหยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง พ.ศ.2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีบัญชาให้แก้ไขปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนสังคีตศิลปใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนาฏศิลป” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1. เพื่อเป็นสถานศึกษานาฏศิลปและดุริยางคศิลป์ของทางราชการ
2. เพื่อบำรุงรักษาและเผยแพร่นาฏศิลปและดุริยางคศิลป์ประจำชาติไทย
3. เพื่อให้ศิลปทางดนตรีและโขน–ละคร ภายในประเทศมีฐานะเป็นที่ยกย่อง

เมื่อเปิดโรงเรียนนาฏศิลป ปี พ.ศ.2488 มีนักเรียนเก่าเหลืออยู่ในโรงเรียนสังคีตศิลป 33 คน เป็นนักเรียนหญิงทั้งสิ้น จึงเปิดรับสมัครนักเรียนชายเข้าฝึกหัดโขน จำนวน 60 คน นับแต่นั้นมา โรงเรียนนาฏศิลปก็ขยายการศึกษาทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและสากล กองการสังคีตมาขึ้นกับกอง ศิลปศึกษา และได้รับการยกฐานะให้เป็น “วิทยาลัยนาฏศิลป” เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2515

วิทยาลัยนาฏศิลปเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตครูและบุคลากรสายอาชีพ ในด้านนาฏศิลป์ ดนตรี มีการจัดการเรียนการสอนอันประกอบด้วยการศึกษาวิชาสามัญและศิลปะตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือ

– ระดับนาฏศิลป์ชั้นต้น รับผู้สำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น
– ระดับนาฏศิลป์ชั้นกลาง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) เข้าศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลาง
– ระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นกลางเข้าศึกษาต่อ 2 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หรือเทียบเท่าอนุปริญญา

ในปีการศึกษา 2519 ได้ขยายการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี โดยสมทบกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ รับศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปในระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) ต่อมาในปีการศึกษา 2541 กรมศิลปากรได้จัดตั้ง “สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์” ขึ้น โดยจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี ในคณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา

ปรัชญา

สาธุโข สิปฺปํ นาม อปี ยาทิสกีทิส์ ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้เช่นใด เช่นหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานในโอกาสครบรอบ 60 ปี วิทยาลัยนาฏศิลปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537)

ปณิธาน

วิทยาลัยนาฏศิลป เป็นสถานศึกษาที่มุ่งผลิต นักเรียน นักศึกษา สู่ความเป็นเลิศด้านนาฏศิลป์และดุริยางค์ศิลป์ ผสมผสานกับวิทยาการที่เป็นสากลให้เกิดความงอดงามทางสติปัญญา สามารถพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรม และคุณธรรม

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยนาฏศิลป มีความเป็นเลิศทางด้านนาฏศิลป์ และดนตรีเพื่อปวงชนสู่สากลด้วยคุณภาพ

พันธกิจ

1. จัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรีระดับพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษาอย่างมีคุณภาพ
2. สร้างพัฒนาและเผยแพร่งานวิจัยด้านนาฏศิลป์และดนตรีมีคุณค่าสู่สังคม
3. ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ และดนตรี กับองค์กรภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป
4. อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และรักษาสิ่งแวดล้อม
5. เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ และดนตรีทั้งแบบราชสำนักและพื้นบ้านอันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

เป้าหมาย

1. เพื่อจัดการศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียน นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษา มีความรู้ ความสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข
2. เพื่อผลิตศิลปินครู ทางด้านนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์
3. เพื่ออนุรักษ์ พัฒนา เผยแพร่และสืบทอดศิลปะและวัฒนธรรมไทย
4. เพื่อพัฒนาวิชาการด้านนาฏศิลป์และดนตรีให้ไปสู่มาตรฐานสากล
5. เพื่อเป็นแหล่งวิชาการให้บริการความรู้ทางด้านนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์
6. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์สืบสาน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาไทย ให้คงอยู่เป็นมรดกของชาติสืบไป

สถานที่ตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ

1. วิทยาลัยนาฏศิลป

119 หมู่ 3 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

2. วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี

ศูนย์ราชการกรมศิลปากร จังหวัดสุพรรณบุรี เลขที่ 119 หมู่ที่ 1 ถ.สุพรรณบุรี-ชัยนาท ต.สนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 72000

3. วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

28 ต.บางแก้ว อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง

4. วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี

ถ.รามเดโช ต.ทะเลชุบศร อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี 15000

5. วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี

ถ.ชวนะอุทิศ ต.วัดใหม่ อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี

6. วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย

ถ.จรดวิถีถ่อง ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย

7. วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

เลขที่ 1 ถ.สุรยวงค์ ซ. 2 ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

8. วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

เลขที่ 444 หมู่ 10 ถ.มิตรภาพ บ้านดอน ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

9. วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

เลขที่ 25 ถ.กองพลสิบ ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด

10. วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

ถ.สนามบิน ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์

11. วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง

150 หมู่ที่ 1 ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง

12. วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช

หมู่ 11 ต.ท่าเรือ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

เว็บไซต์วิทยาลัยนาฏศิลป : http://cda.bpi.ac.th/

Facebook : งานเทคโนโลยีสารสนเทศ วนศ.

ติดต่อเบอร์โทร. 02-4822170 ต่อ 1202

————————

ข้อมูลจาก :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
http://cda.bpi.ac.th/

See Less

ข่าวการศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

กิจกรรม วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า วิทยาลัยนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)