รับตรง สอบ เคลียริงเฮาส์ เรียนต่อ โควตา

อัพเดทล่าสุด! การปรับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2561

Home / ข่าวการศึกษา / อัพเดทล่าสุด! การปรับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2561

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ในเรื่องของระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ศธ. หารือระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยกับ ทปอ.มรภ.-มทร.

อัพเดทล่าสุด! การปรับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2561

ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักคิดกับระบบการจัดสอบรูปแบบใหม่ ที่ ทปอ. ได้นำเสนอ ภายใต้หลักคิดให้นักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องวิ่งรอกสอบหลายรอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง และเด็กยังมีสิทธิเลือกเรียนในคณะ/สาขาที่ต้องการ มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์เลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามความถนัดของเด็กแต่ละคน ส่วนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET โดยตามนโยบายแล้วยังต้องการให้นำมาใช้ในระบบการคัดเลือกเหมือนเดิม

ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการ ทปอ. กล่าวภายหลังการหารือว่า เห็นด้วยกับการจัดสอบก่อนเดือนมีนาคม โดยจะจัดการสอบเพียงครั้งเดียว หลังที่นักเรียนจบ ม.6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน จะเป็นการคัดเลือกที่ใช้ “ข้อสอบกลาง” โดยจะบูรณาการข้อสอบใหม่จากข้อสอบเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ ข้อสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และข้อสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา และข้อสอบวิชาเฉพาะความถนัดแพทย์ ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) รวมถึงข้อสอบโควตาของมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย

โดยระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ ประกอบไปด้วยดังนี้

1. ระบบโควตา ที่มหาวิทยาลัยจะใช้คัดเลือกนักเรียนโดยไม่ต้องสอบข้อเขียน แต่จะใช้เป็น Portfolio ในการคัดเลือก อาทิเช่น โควตาเรียนดี โควตาโอลิมปิกวิชาการ โควตานักกีฬา ฯลฯ โดยจะต้องดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม และนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบโควตา จะถูกตัดสิทธิ์จากการคัดเลือกในระบบระบบเคลียริงเฮาส์ ทั้งนี้ในช่วงเดือนธันวาคมจะเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถสละสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบโควตาได้ เพื่อเข้าคัดเลือกในระบบเคลียริงเฮาส์ได้อีกครั้ง

2. ระบบเคลียริงเฮาส์ จะทำการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง เมื่อนักเรียนทราบผลคะแนนข้อสอบกลางแล้ว ถึงจะสามารถสมัครเลือก 4 อันดับคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการได้ โดยผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ได้ 2 รอบ ซึ่งจะรับนักเรียนได้ทั้งหมดราว 80-90% เลยทีเดียว รายละเอียดของระบบเคลียริงเฮาส์ทั้ง 2 รอบ มีดังต่อไปนี้

– ระบบเคลียริงเฮาส์รอบแรก นักเรียนยื่นผลคะแนนข้อสอบกลาง โดยเลือก 4 อันดับ คณะ/สาขาวิชา ผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ จากนั้นมหาวิทยาลัยก็จะส่งชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ และแจ้งให้นักเรียนทราบว่าผ่านคัดเลือกกี่แห่ง หลังจากนั้นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะไปสอบสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก แล้วให้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกตัดสินใจว่าจะยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาที่ใด หากนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์จากระบบเคลียริงเฮาส์รอบสองในทันที

– ระบบเคลียริงเฮาส์รอบสอง นักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแต่ไม่ได้ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา สามารถยื่นผลคะแนนข้อสอบกลาง โดยเลือก 4 อันดับ คณะ/สาขาวิชา เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ได้อีกครั้ง

3. ระบบรับตรง ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือจะเรียกว่าเป็นรอบเก็บตกนักเรียนหลังระบบเคลียริงเฮาส์ทั้ง 2 รอบ ซึ่งในรอบจะไม่มีการจัดสอบอีกแล้ว แต่จะใช้คะแนนของข้อสอบกลางแทน (ที่จัดสอบช่วงเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน)

ส่วนด้านของกลุ่มวิชาทักษะเฉพาะ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และหลักสูตรนานาชาติ ฯลฯ ยังสามารถจัดสอบทักษะเฉพาะได้ตามปกติ โดยอยู่ระหว่างการหารือว่าจะให้จัดสอบในเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน หรือไปจัดสอบในขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์แทน

ในส่วนของโควตาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยภูมิภาค ที่แต่เดิมแต่ละมหาวิทยาลัยเคยจัดสอบ ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะแยกการรับออกจากระบบเคลียริงเฮาส์ทั้ง 2 รอบ แต่จะใช้ข้อสอบกลาง ที่จะจัดสอบในเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายนเป็นตัวในการคัดเลือก

ขณะที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ได้มีการหารือกันภายในกลุ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้แจ้งมายัง ทปอ. ว่าจะมาเข้าร่วมการคัดเลือกผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ โดยข้อสอบวิชาเฉพาะความถนัดแพทย์ ที่กลุ่ม กสพท เคยจัดสอบจะมาอยู่ในข้อสอบกลางด้วยเช่นกัน

จากนี้จะรอทางกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ไปหารือกัน คาดว่าจะสามารถวางระบบร่วมกันได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 และจัดทำคู่มือการคัดเลือกระบบใหม่ เพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนได้รับทราบภายในเดือนเมษายน 2560

ทางด้าน นางสมบัติ คชสิทธิ์ ผู้แทนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กล่าวว่า จากนี้จะนำรายละเอียดต่างๆ ไปหารือในที่ประชุม ทปอ.มรภ. เบื้องต้น มรภ. อยากขอให้คงการสอบรับตรงของ มรภ. ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เอาไว้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถคัดเด็กได้ตรงตามเป้าหมาที่จะเน้นให้โอกาสเด็กในท้องถิ่นได้เข้าเรียนกว่า 85% และทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเมื่อจบศึกษาแล้ว ส่วนเด็กจะไปสอบในระบบสอบกลางอีกครั้งหรือไม่ ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ขณะที่ผู้แทนกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)  กล่าวว่า ประเด็นที่ มทร. กังวลคือระบบดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่ไม่ตรงกับวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งจากนี้คงต้องไปหารือกันภายในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เสียก่อน

ดังนั้นจึงได้ขอให้ ทปอ.พิจารณาด้วยว่า ระบบการคัดเลือกใหม่มีส่วนขัดขวางปรัชญาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองหรือไม่อย่างไร เช่น การพัฒนาท้องถิ่น การอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่น การพัฒนาฝีมือวิชาชีพเฉพาะสู่โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทปอ.มทร./ทปอ.มรภ.จะรับโจทย์เหล่านี้ไปหารือในที่ประชุมอธิการบดีทั้งสองแห่งต่อไป พร้อมทั้งขอให้ผู้แทน ทปอ. เข้าร่วมประชุมด้วย

ปล. ถ้ามีความคืบหน้าอะไร เราจะมาอัพเดทเพิ่มเติมให้ต่อนะคะ

—————————————————————–

ข้อมูลจาก : http://www.moe.go.th/websm/2016/sep/371.html
ภาพประกอบ เป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ campus-star.com

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

>> ศธ. จัดระบบสอบรับตรงใหม่ ย้าย GAT/PAT ไปสอบหลังจบ ม.6 ในปีการศึกษา 2561

>> อ่านเลย! ระบบเคลียริ่งเฮาส์ (Clearinghouse) คืออะไร