รับตรง สอบ เคลียริงเฮาส์ เรียนต่อ โควตา

ทปอ. ปรับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ปี 2561

Home / ข่าวการศึกษา / ทปอ. ปรับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ปี 2561

ทปอ. เผย 3 วิธีปรับระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 61 โดยแบ่งออกเป็น โควตา ข้อสอบกลาง และรับตรง เพื่อเป็นการลดปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และการวิ่งรอกสอบของนักเรียน พร้อมยังคงใช้ข้อสอบ GAT/PAT ในการคัดเลือกตามเดิม คาดปฎิทินการศึกษาจะเส็รจภายในเดือน ธันวาคม 2559 นี้

‘โควตา ข้อสอบกลาง รับตรง’ ปรับระบบคัดเลือกใหม่ ปี 61

ทปอ. เผย 3 วิธีปรับระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 61

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา การประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 5/2559 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 และมีมติยืนยันว่า มหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นสมาชิกของ ทปอ. จะปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 โดยยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง เด็กมีสิทธิ์ที่เลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเด็กได้เช่นกัน โดยแบ่งระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ออกเป็นดังนี้

1. ระบบโควตา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ

รูปแบบที่ 1 ระบบโควตาโดยไม่สอบคัดเลือก (ระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์) เช่น โควตาพื้นที่ โควตาเรียนดี/ช้างเผือก โควตานักกีฬา โควตาดนตรีศิลปวัฒนธรรม โควตาโอลิมปิกวิชาการ โควตาเด็กดีมีคุณธรรม เป็นต้น การคัดเลือกโดยพิจารณาจากการสอบสัมภาษณ์และแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เริ่มดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2560 เมื่อนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ. ทำการตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ ภายในเดือนธันวาคม 2560

รูปแบบที่ 2 ระบบโควตาโดยใช้คะแนนข้อสอบกลาง เช่น โควตาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค โครงการผลิดแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) โครงการผลิตแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) เป็นต้น เริ่มดำเนินการช่วงหลังเดือนมีนาคม 2561 การคัดเลือกโดยใช้การสอบข้อสอบกลางที่ดำเนินการจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เช่น GAT/PAT, วิชาสามัญ 9 วิชา ที่จัดสอบในช่วงเดือนมีนาคม 2561 และเมื่อนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ. ทำการตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ต่อไป

2. ระบบเคลียริ่งเฮาส์

การสอบข้อสอบกลาง ที่ดำเนินการจัดสอบโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ประกอบด้วย O-NET ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561, GAT/PAT จัดสอบครั้งเดียว ในช่วงเดือนมีนาคม 2561, วิชาสามัญ 9 วิชา ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 และ การสอบวิชาเฉพาะความถนัดแพทย์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ในช่วงเดือนมีนาคม 2561

เมื่อนักเรียนทราบผลคะแนนข้อสอบกลางแล้ว นักเรียนจึงดำเนินการสมัครเข้าศึกษาผ่าน ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 โดยใช้องค์ประกอบคะแนนคัดเลือกจาก ผลคะแนนข้อสอบกลาง (GAT/PAT และ/หรือ วิชาสามัญ 9 วิชา) ผลคะแนน O-NET และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) เมื่อนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 แล้ว จะถูกตัดสิทธิ์จากการคัดเลือกระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 2

ทั้งนี้ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จะร่วมรับนักศึกษาผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 ด้วย โดย กสพท. จะใช้คะแนนวิชาสามัญ 9 วิชา จำนวน 7 รายวิชา ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และการสอบวิชาเฉพาะความถนัดแพทย์เป็นองค์ประกอบคะแนนคัดเลือก สำหรับนักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 จะยังมีสิทธิ์ดำเนินการสมัครเข้าศึกษาผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 2 ได้อีกภายในเดือนมิถุนายน 2561

3.ระบบรับตรง

ทั้งนี้ภายหลังการรับนักศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์เสร็จเรียบร้อยแล้ว หากมหาวิทยาลัยยังรับนักเรียนไม่ได้ตามจำนวนที่ต้องการ มหาวิทยาลัยก็สามารถดำเนินการรับตรงเพื่อรับนักเรียนได้เอง แต่จะต้องไม่มีการจัดสอบเพิ่มเติม หากต้องใช้คะแนนคัดเลือกให้ใช้ผลคะแนนจากข้อสอบกลางเท่านั้น อย่างไรก็ตามระบบการคัดเลือกใหม่นี้ นักเรียนจะสามารถเลือกเรียนได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น หากยังไม่พอใจก็สามารถเลือกเรียนที่ใหม่ได้ แต่ต้องสละสิทธิ์จากที่เดิมก่อน

ประธาน ทปอ. กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานผลดำเนินการโครงการวิจัยเรื่อง การตรวจสอบคุณภาพแบบทดสอบและการประเมินผลการนำคะแนน O-NET, GAT/PAT ไปใช้ในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งพบว่าคะแนน O-NET, GAT/PAT มีคุณภาพและสามารถพยากรณ์องค์ความรู้ของนักเรียนในการเข้าเรียนคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ใช้คะแนน O-NET, GAT/PAT ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในอุดมศึกษาต่อไป โดยจะมีการปรับกระบวนการออกข้อสอบให้มีความสมบูรณ์ เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของโรงเรียนจะต้องปรับการเรียนการสอน ปรับปรุงข้อสอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีการจัดสอบ GAT/PAT เพียงครั้งเดียว แต่สัดส่วนที่จะนำคะแนน GAT/PAT ไปใช้ในการคัดเลือกนักเรียนนั้นเปิดกว้างให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปกำหนดเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทปอ. จะนำเสนอผลการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 เสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ เพื่อพิจารณาต่อไป

———————————————————————–

ชมคลิป เลขาฯ ทปอ. สรุปสั้นๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย

สรุประบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561

  • ระบบโควตา (โดยไม่สอบคัดเลือก) หรือ (ระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์) เดือนตุลาคม 2560 – เดือนธันวาคม 2560
  • สอบข้อสอบกลาง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 – เดือนมีนาคม 2561
  • ระบบโควตา (โดยใช้คะแนนข้อสอบกลาง) หลังเดือนมีนาคม 2561
  • ระบบเคลียริ่งเฮาส์ (ครั้งที่ 1) เดือนพฤษภาคม 2561
  • ระบบเคลียริ่งเฮาส์ (ครั้งที่ 2) เดือนมิถุนายน 2561
  • ระบบรับตรง หลังเดือนมิถุนายน 2561

———————————————————————–

ข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Admission Premium
http://www.thairath.co.th/content/768777
http://p-dome.com/new-admissions-61/