ครู นักเรียน ประเทศสิงคโปร์ ระบบการศึกษา

คุรุสภา ใช้โมเดลผลิตครูของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง ปรับให้ นร. ม.3 ฝึกอาชีพปิดเทอม

Home / ข่าวการศึกษา / คุรุสภา ใช้โมเดลผลิตครูของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง ปรับให้ นร. ม.3 ฝึกอาชีพปิดเทอม

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางการผลิตครูให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยชี้แก้ปัญหาเด็กไม่นิยมเรียนสายอาชีพ โดยให้ สพฐ. จัดกระบวนการให้เด็กเรียนรู้เส้นทางอนาคต 4 แนวทาง และอาจจะให้เด็กนักเรียน ม.3 ฝึกงาน 2 สัปดาห์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ .. คุรุสภา ใช้โมเดลผลิตครูของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง

คุรุสภา ใช้โมเดลผลิตครูของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง

ปรับหลักสูตรให้ นร. ม.3 ฝึกอาชีพ

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวกับด้านการผลิตครูนั้นก็ได้เห็นว่ามีหน่วยงานที่ดูแลการผลิตครูเพียงแห่งเดียวในประเทศ ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีสถาบันอุดมศึกษาหลากหลายแห่งด้วยกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าก็ควรที่จะมีเพียงมาตรฐานเดียวให้เหมือนกันทั้งประเทศ ซึ่งคุรุสภาก็ได้แจ้งที่ประชุมในเบื้องต้นว่าได้เตรียมแผนการพัฒนาไว้แล้ว หลังจากที่ได้มีการประชุมเพื่อพัฒนากรอบมาตรฐานสมรรถนะครูในอาเซียน (High Officials Meeting on the Development of Regional Competency Framework for Teachers in Southeast Asia) เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา

ดังนั้น คุรุสภาจะเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดกรอบการผลิตครู เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แจ้งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งที่ผลิตครูได้ดำเนินการตามกรอบที่คุรุสภากำหนด อาจเป็น 4 หรือ 5 ปี แต่จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศต่อไป

คุรุสภา ใช้โมเดลผลิตครูของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเทศสิงคโปร์มีเส้นทางการเรียน (Education Path) สำหรับนักเรียนอย่างชัดเจน โดยจะให้นักเรียนสามารถเลือกความถนัดได้ ไม่ว่าจะเป็นสามัญและสายอาชีพ ที่ประชุมจึงมอบให้ สพฐ. พิจารณากระบวนการให้เด็กทุกคนได้รู้เกี่ยวกับ Education Path ทั้ง 4 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่

Education Path 4 ขั้นตอน

1. มีการจัดระบบการแนะแนวที่เหมาะสม

ให้ สพฐ. จัดทำหลักสูตรเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ทำงาน (Work Experience) โดยเริ่มจากนักเรียนชั้น ม.3 ทุกคน ต้องไปเรียนรู้ หรือฝึกงาน หรือค้นหาอาชีพที่ตนเองสนใจ เพื่อให้เด็กทดลองด้วยตนเองก่อนว่า ชอบหรือไม่ชอบในเส้นทางอาชีพนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชานั้นๆ ต่อไปในอนาคต

2.จัดทำหลักสูตรเสริมให้เด็กที่เรียนระดับ ม.3

โดยจัดทำหลักสูตรเสริมให้เด็กที่เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ออกไปฝึกประสบการณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในสถานประกอบการ เช่น โรงพยาบาล โรงงาน สถานีตำรวจ เป็นต้น (ตามที่นักเรียนมีความสนใจ) เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเองว่ามีความถนัดแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบ และหลักสูตรนี้ต้องเป็นหลักสูตรบังคับด้วย

3. มีระบบเสริมอาชีพในโรงเรียน เช่น

– โครงการห้องเรียนกีฬา ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ รับผิดชอบดำเนินการในขณะนี้ โดย รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่จากปัจจุบันซึ่งมี 4 แห่ง คือ ภาคเหนือ ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม, ภาคใต้ ที่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ จ.กระบี่, ภาคกลาง ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จ.สมุทรสาคร ซึ่งอาจขยายเพิ่มห้องเรียนกีฬามากกว่า 1 ห้องเรียนก็ได้ โดยคำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ

– โครงการห้องเรียนดนตรี ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ รับผิดชอบโครงการห้องเรียนดนตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ทำการเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี, โรงเรียนสุไหงโกลก จ.นราธิวาส และโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จ.ยะลา

4. ให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโรงเรียนที่สอนด้านอาชีพให้มากยิ่งขึ้น

** สำหรับหลักสูตรบังคับฝึกประสบการณ์วิชาชีพของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น จะเริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่ 2/2560 เป็นต้นไป **

บทความที่เกี่ยวข้อง