GDH 559 issue40 คณะนิเทศศาสตร์ นิเทศ เอกฟิล์ม เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี แฟนเดย์...แฟนกันแค่วันเดียว

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม

ด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นพระเอกภาพยนตร์อารมณ์ดี กลายเป็นเสน่ห์ที่หนุ่มเต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี มีในสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งนอกจากจะประสบความสำเร็จในฐานะนักแสดงภาพยนตร์แล้ว อีกบทบาทหนึ่งของเต๋อ นั่นคือ การเป็นนักเขียนบทมือทอง จากการร่ำเรียนเก็บเกี่ยวความฟุ้งซ่านจากเอกฟิล์ม คณะนิเทศฯ จุฬา จนพาหนังฮิตติดอันดับทำเงินมานับเป็นถ้วน

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม

เต๋อในวันนี้ กับก่อนเข้ามหาวิทยาลัย มีความเป็นคนละคนกันสูงมาก

ตอนม.ปลายเป็นเด็กเนิร์ด เรียนสายวิทย์ ตอนนั้นอยากเป็นหมอหรือไม่ก็วิศวะ แล้วมีจุดเปลี่ยนตอนไปดูหนังเรื่อง BRAVE HEART ที่เมล กิบสันเล่น ปกติเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก ก็ดูทั้งแนวตลก แอกชั่น ครอบครัว ก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นแนวแอกชั่น ปรากฏว่าไม่ใช่ มันมีดราม่าด้วย มันจี๊ด มันอินมาก เขาทำได้ยังไง อยากทำอย่างนี้บ้าง ก็เลยไปค้นหาข้อมูลเจอคณะหนึ่ง สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่งที่จุฬาฯ ตอนนั้นผมมาคิดว่า ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เราก็เรียนได้ แต่ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เราเข้ามหา’ลัยเรียนในด้านที่ไม่ได้ชอบ อีก 4, 5 หรือ 6 ปี จบมาก็ทำงานในสิ่งที่เราไม่ได้ชอบขนาดนั้นไปทั้งชีวิต ก็เลยรู้สึกว่า ไปหาอะไรที่เราชอบขนาดนั้นดีกว่า ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจจะเอนท์เข้าเรียนที่นี่แหละ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน ตอนนั้นสอบไปแล้วนะรอบแรก มีสอบต่อรอบสอง ก็ไปติววิชาเพิ่ม แล้วคือบังเอิญมากที่คณะนี้มีสอบวิชาเลขสอง ไม่รู้ทำไมนิเทศฯ ต้องสอบเลข (หัวเราะ) แล้วผมคิดว่าตัวเองน่าจะเก่งเลขกว่าคนเรียนสายศิลป์ ก็เลยมุ่งมั่นทำคะแนนเลข มีไปติวพิเศษเฉพาะเลข ส่วนวิชาภาษาอังกฤษผมเก่งมาก (ฮา) สังคม ภาษาไทย ไม่เก่ง ก็ต้องอ่านเพิ่มเอา ก็เลือกอันดับแรก นิเทศฯ จุฬาเลย อันดับสองเป็นวารสาร ส่วนอันดับสี่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งคิดว่าจะไม่เรียนอยู่แล้ว สุดท้ายก็ติด แต่ระหว่างที่เปลี่ยนสาย ก็คุยกับแม่อยู่นานเหมือนกัน แม่เขาอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะตอนนั้นอาชีพด้านนี้ยังไม่มี เขาก็ไม่รู้ว่าจบไปจะทำงานอะไร

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม
ความฟุ้งซ่านที่ได้ถูกปลดปล่อยออกมาตอนที่เรียน
ตอนผมเข้าไป สาขาผมมีคนเรียนแค่ 12 คน เป็นชาย 6 หญิง 6 แล้วก็รู้สึกว่าเลือกเรียนได้ถูกมาก คือไม่ได้รู้สึกว่าไปเรียน แต่รู้สึกว่าไปเที่ยวเล่นมากกว่า วิชาดูหนัง ก็ชอบดูหนังอยู่แล้ว เพลินมาก วิชาวิจารณ์หนัง ก็สบาย เรื่องที่เราดูแล้วเราชอบไม่ชอบเอาไปเขียน แล้วที่ค้นพบอีกวิชา คือ วิชาเขียนบทภาพยนตร์ เพราะผมเป็นฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับตั้งแต่เด็ก ชอบคิดโน่นคิดนี่อยู่ในหัวตลอด แต่ไม่ได้รับการระบายออกมา พอมีวิชานี้ขึ้นมา เราก็ใช้มันระบายออกมาเต็มไปหมด เขียนโน่นนี่ แล้วอาจารย์ชอบมาก อาจารย์เห็นเลยว่านายคนนี้น่าจะมีแววเขียนบท ตอนนั้นผมก็พราวมาก แบบเราเก่งมาก จนกระทั่งจบมาแหละ ถึงได้รู้ว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราคิด (หัวเราะ)
ค้นพบความเป็นเด็กแนวผสมผสานในแบบตัวเอง
ผมว่าเด็กนิเทศฯ จะมีความเป็นเด็กแนวที่มั่วซั่วสูง อย่างสถาปัตย์จะเป็นผู้ชายเซอร์ๆ หน่อย วาดรูปเก่ง ส่วนครุ อาร์ตก็น่าจะเกินสถาปัตย์ อาจจะมีสร้อย กำไล เจาะหู วาดรูปเก่งกว่าสถาปัตย์ เป็นแนวศิลปินจริงๆ แต่นิเทศฯ นี่มั่วไปหมด (หัวเราะ) มีทั้งคนที่ตั้งใจเรียนจริงจังมาก คนที่เป็นแบบสถาปัตย์ หรือคนที่เป็นครุอาร์ตก็มี แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนรวมตัวกันได้ ก็เพราะผู้ชายมีน้อย รุ่นพี่ที่จบไปก็เลยกลับมาให้ผู้ชายรวมตัวกันตลอด เวลาพี่คนไหนประสบความสำเร็จหรือมีงานก็จะเอามาให้รุ่นน้องทำ เลยทำให้ผมมีโอกาสได้รู้จักกับพี่ย้ง พี่โต้งตอนเรียนอยู่ แต่ตอนเรียนผมเป็นนักศึกษาที่ขี้เกียจมาก คือไม่ชอบเรียนรู้อะไรมาก เช่น วิชาจัดไฟ ไฟมีองค์ประกอบอะไร กล้องภาพยนตร์ กล้องฟิล์มโหลดยังไง รู้ว่าไม่ชอบในส่วนนี้ของภาพยนตร์ แต่ชอบในส่วนของการเขียนบท กำกับ แสดงมากกว่า แต่คือด้วยความที่เราไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่ไง ไม่ได้มีความเครียดกับการอ่านหนังสือ ตอนนั้นก็เอาเวลาไปทำกิจกรรมเยอะเหมือนกัน สุดท้ายจบมาได้เกรดเฉลี่ย 3.00 พอดี ซึ่งผมก็โอเค เพราะไม่ได้หวังเกียรตินิยมอยู่แล้ว

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม
จากนักศึกษานิเทศฯ นักกิจกรรม จนได้ออกมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงในการทำงานครั้งแรก
ตอนนั้นจบใหม่ๆ จำได้ว่างานแรกที่ทำ คือ งานถือวิดีโอหน้าโรงหนัง คอยสัมภาษณ์คนที่ดูหนังว่าเขาชอบไม่ชอบ สนุกมั้ย แล้วก็เอาคลิปพวกนั้นไปตัดต่อ ฉายหน้าโรงหนัง สนุกดี ได้วันละ 500 บาท แล้วพอดีมีช่วงที่แก๊งแฟนฉันโด่งดังขึ้นมา ก็เริ่มมีคนทำหนังเยอะขึ้น ก็เลยได้ทำงานให้แกรมมี่ฟิล์ม ก่อนที่เขาจะรวมบริษัทกันเป็น GTH ตอนแรกที่ไปทำงานผมรู้สึกเท่ นักศึกษาทำงานได้เงินแล้วนะ แต่จริงๆ ตอนหลังก็มารับรู้ว่าเงินที่ได้มามันน้อยเหมือนกัน (ฮา) แต่ตอนนั้นรู้สึกสนุก เราได้ออกมาใช้ชีวิตนอกห้องเรียน ได้นำสิ่งที่เรียนมาทำงานเพื่อแลกเงิน เวลามีงานอะไร ผมก็อ้อนขอพี่เขาทำหมด แต่ก็ได้เรียนรู้อีกอย่างเหมือนกันว่า สิ่งที่เราเรียนกับสิ่งที่เราไปทำงานจริงๆ มันไม่เหมือนกัน มันต้องปรับเยอะมาก เพราะตอนที่เราเรียนในห้องเรียน เราได้วิชานี้ A A+ ตลอด เป็นมาสเตอร์พีชของวงการเขียนบทในห้องเรียน แต่พอเราออกมาจากห้อง เราเอาสิ่งที่เราได้ A A+ มาทำไม่ได้ ทุกอย่างมันแย่ไปหมด มาตรฐานในห้องเรียนกับมาตรฐานในความเป็นจริงมันต่างกันมาก คือในห้องเรียนเราสามารถคิดบทหนังอะไรก็ได้ ให้น่าสนใจ อย่างเช่น เขียนบทฉากจรวดยิงขึ้นฟ้าระเบิด ปัง! นักบินอวกาศไล่ยิงเอเลี่ยน อาจารย์บอก โอ้โห ฉากนี้ดี ผมชอบ คุณเอา A ไป แต่ถ้าผมไปเขียนฉากนี้ขายค่าย ใครเขาจะทำ นึกออกมั้ย เราต้องทำงานตามหลักความเป็นจริง สิ่งที่คิดว่าดี จริงๆ แล้วมันมีดีกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลากับมันให้มากขึ้น ดังนั้น ตอนผมเขียนเรื่องบทแรกเรื่อง “เก๋าเก๋า” ก็ใช้เวลาเขียนกับเพื่อนๆ ในเอกถึงสองปีเต็ม เสร็จแล้วพอเอามานั่งดูก็ยังรู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ตอนทำงานใหม่ๆ รู้เลยว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ เราเก่งแต่ในห้องเรียนจริงๆ
การเดินทางยาวนานในวงการบันเทิง ทำให้เต๋อได้ทำมาหมดทุกด้าน บทบาทไหนที่คิดว่าเป็นตัวเองมากที่สุด
ที่ผ่านมาได้ลองทำมาหมด ทั้งเขียนบท นักแสดง ผู้ช่วยผู้กำกับ แอกติ้งโค้ช ถ่ายวิดีโอ เบื้องหลัง ล่าสุดก็ได้กำกับ MV ด้วย ตอบไม่ได้ว่าชอบอะไรมากกว่ากัน ผมชอบหมดทุกอย่างที่เกี่ยวกับการแสดงและภาพยนตร์ มันสนุก เหมือนเราไม่ได้ทำงาน อย่างเขียนบทมันก็เหมือนเราได้ทำลายความคิดฟุ้งซ่านของเราออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วมันสามารถเอาไปใช้ได้จริง แล้วพอคนดูชอบ เราก็รู้สึกมีความสุข มันเป็นความฟินส่วนตัว ในขณะที่งานแสดงเป็นเหมือนความท้าทาย ที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ ในชีวิต ที่ในชีวิตจริงไม่มีโอกาสได้ทำ ได้ไปรับบทเป็นคนโน้นคนนี้ ได้ร่วมงานกับคนใหม่ๆ ได้เพื่อนกลับมา ก็เป็นความสนุกไปอีกแบบ แต่ถ้าถามว่าผมจะอยู่กับอะไรได้นาน ก็คิดว่าน่าจะเป็นเบื้องหลัง เพราะการแสดงสักวันมันก็ต้องหมด คลื่นลูกใหม่ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ก็คิดว่าอยากจะไปทำงานเบื้องหลังให้มากขึ้น อย่างงานเขียนบท หรือการเป็นผู้กำกับหนัง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของอนาคตต่อไป

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี จากเด็กเนิร์ดสายวิทย์ มาเป็นเด็กแนวสายฟิล์ม

แนวคิดติสท์ๆ ในการใช้ชีวิตฉบับเต๋อ
เมื่อก่อนผมมีคติประจำใจว่า พยายามทำทุกวันให้เป็นเหมือนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะเมื่อเวลานั้นผ่านไป เราจะได้ไม่ต้องกลับมานั่งนึกว่า ทำไมวันนั้นเราไม่ทำอย่างนั้น สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกมีความสุข แต่พอผมเริ่มโตขึ้น ตอนนี้กลับรู้สึกว่าชอบอยู่บ้านมาก การไม่ได้ทำอะไรเลยมันมีความสุข เพราะเราทำอะไรมาเยอะแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา คือ ความพอดีนั่นแหละ หมายถึง การที่เราได้ใช้ชีวิตหนึ่งวัน โดยตั้งโจทย์ว่าวันนี้จะเป็นวันที่เรามีความสุข แล้วหาอะไรที่เราทำแล้วมีความสุขในวันนั้น แค่นั้นเอง แค่นี้ทุกวัน มันก็มีความสุขหมดแล้ว
บทบาทใหม่ ลุคส์ใหม่ ที่หวังว่าคนดูจะไม่รู้สึกว่าเล่นเป็นตัวเอง
สำหรับผมการหาไอเดียใหม่ๆ ให้ชีวิตมันก็อยู่รอบตัวเราทุกอย่าง เพียงแต่เราต้องเพิ่มสกิลอีกอย่างหนึ่งเข้ามาเพื่อเลือกว่าสิ่งไหนที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ อย่างเมื่อก่อนผมเป็นคนฟุ้งซ่านมาก จนได้เจอพี่โต้ง ก็เลยเอาความฟุ้งซ่านไปโยนให้เขา ว่าพี่จะเอาอันนี้มั้ย อันนั้นมั้ย ซึ่งพี่โต้งจะมีสกิลในการเลือกหยิบอันดีๆ มาใช้ อันไหนไม่ดีก็โละทิ้ง อย่างเอาง่ายๆ เลย แค่เรานั่งแท็กซี่ไป เราได้ดูว่าเขาคุยโทรศัพท์กับใคร เราฟังสิ่งที่เขาคุย เรามองออกไปข้างนอก เราก็เจอไอเดียเต็มไปหมด อย่างเวลาผมดูคนสองคนทะเลาะกัน ผมจะเริ่มเดาแล้วว่าความสัมพันธ์สองคนนี้ คือ พี่น้องหรือแฟน แล้วผู้หญิงร้องไห้ ทะเลาะกันเรื่องอะไร พอเราเริ่มเดาออก เราก็สามารถเอาสิ่งเหล่านี้มาใส่ในภาพยนตร์ได้ เช่น ตัวละครโหดคนนั้นไม่จำเป็นต้องผลักให้ล้ม บางทีแค่การนั่งกันนิ่งๆ ไม่คุยกันเลย มันก็มีพลังมาคุกว่าการระเบิดอารมณ์ออกมาอีก ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดึงอะไรออกมาจากสิ่งนั้น อย่างเรื่องล่าสุด “แฟนเดย์…แฟนกันแค่วันเดียว” ของ GDH 559 ผมก็ไปเจอไอเดียจากข่าวของคนคนหนึ่งที่ความจำเสื่อม เป็นโรคชื่อ TGA (Transient Global Amnesia) ซึ่งจะความจำเสื่อมอยู่แค่วันเดียว คือความจำพื้นฐานยังอยู่นะ ว่าตัวเองชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน แต่ความทรงจำที่เพิ่งมาทีหลัง อย่างสองวันก่อนไปกินข้าว เดือนที่แล้วรถหาย จะจำไม่ได้ แล้วที่ประหลาด คือ เป็นแค่วันเดียว หลับไปปุ๊บตื่นมาก็หาย ความจำค่อยๆ กลับมาแล้ว เราก็คิด เฮ้ย โรคนี้มีจริงด้วยหรอ ก็เลยเป็นที่มาของพล็อตหนังเรื่องนี้ ที่เราไปชอบคนคนหนึ่ง แต่ก็รู้ว่ายังไงก็ไม่มีหวังที่เขาจะมารักเรา แต่อยู่มาวันหนึ่งที่คนคนนั้นความจำเสื่อม มันก็เป็นโอกาสที่ทำให้เรากับเขาจะเป็นแฟนกันแค่หนึ่งวันเท่านั้น ซึ่งบทบาทจะเปลี่ยนไปมาก ที่ผ่านมาคนจะเห็นผมในบทโรแมนติกคอเมดี้ แต่มาถึงจุดหนึ่งที่ผมอยากเล่นแนวดราม่าจริงบ้าง แต่ก็ต้องไปทำการบ้านเยอะมาก อย่างกายภาพก็ต้องทำผมหยิก ไปหล่อให้ฟันเกๆ บุคลิกต้องเนิร์ดๆ เก่งเรื่องคอม ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ซึ่งแรกๆ ยาก แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มชิน ก็คาดหวังนะว่าคนที่ได้ดูบทบาทเรื่องนี้จะไม่รู้สึกว่าเป็นผม แต่ให้รู้สึกว่าเป็นตัวละคร “เด่นชัย” ในเรื่อง เพราะถ้าคนดูหนัง แล้วยังเห็นว่าเป็นเต๋ออยู่ ผมจะถือว่าผมล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นี่คือเป้าหมายสูงสุดตอนนี้ของผม

 

 

ตามดูคอลัมน์ interview ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.40

www.facebook.com/campusstars