cat radio issue40 คณะนิเทศศาสตร์ คลื่นอินดี้ จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มุมมองสะกิดใจเด็กแนวของผู้บริหาร cat radio จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ

Home / วาไรตี้ / มุมมองสะกิดใจเด็กแนวของผู้บริหาร cat radio จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ

ทางเลือกของคนเสพสื่อ ณ วันนี้ คือ การที่ต้องฟังเพลงเดิมๆ ศิลปินหน้าเดิมๆ หนังเรื่องเดิมๆ เพราะความเชื่อแค่ที่ว่าหนัง ศิลปิน หรือเพลงนั้นๆ เป็นแมตซ์ของคนส่วนใหญ่ แต่คลื่นอินดี้ขวัญใจเด็กแนว Cat Radio ภายใต้การนำของผู้บริหารอินดี้รุ่นใหม่ จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ กลับเลือกเดินสวนทางด้วยการให้ค่ากับคนส่วนน้อย เลือกนำเสนอสื่อคุณภาพที่ยังไม่มีคนรู้จัก ให้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอกย้ำวิถีวัยรุ่นสมัยใหม่ที่มีแนวทางของตัวเองอย่างแท้จริง

มุมมองสะกิดใจเด็กแนวของผู้บริหาร cat radio จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ
มุมมองสะกิดใจเด็กแนวของผู้บริหาร cat radio จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ

INSPIRATION
ผู้บริหารไฟแรงแห่งคลื่น Cat Radio เริ่มต้นความชอบส่วนตัวที่ชอบดูหนัง ฟังเพลง และหนังสือ ตั้งแต่เด็ก และมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเรียนทางด้านสื่อสารมวลชน แต่ด้วยความที่ในสายมัธยม เขาเรียนหนังสือได้เกรดดี จึงได้ถูกกำหนดจากสังคมสมัยนั้นที่ว่า คนเก่งต้องเรียนทางสายวิทย์เท่านั้น หนุ่มน้อย ณ ถูกบีบเส้นทางให้เลือกเรียนเข้าวิทย์-คณิต แต่มีแผนการทำเกรดให้ตก เพื่อขอพ่อของเขาสอบทางสายศิลป์! และสุดท้าย เขาสอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ เป็นสิ่งที่ตัวเองได้เลือกเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีความเป็นคนสื่อมวลชนมาจนถึงทุกวันนี้

มุมมองสะกิดใจเด็กแนวของผู้บริหาร cat radio จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ
IMPORTANT IN A CAREER
“การเข้าเรียนในคณะนิเทศฯ มันคือการได้เจอคนที่มีพื้นฐานความชอบคล้ายๆ กัน แล้วก็มีอะไรให้ทำเยอะ แล้วตอนปี 3 ก็ตัดสินใจเลือกเอกหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราอยากเขียน ก็ได้ฝึกเขียนทุกวัน แล้วก็มีโอกาสได้ฝึกงานที่คลื่นฮอตเวฟที่เพิ่งเปิดตัว ก็ถือเป็นการทำงานเบื้องหลังในสายอาชีพครั้งแรก แต่ช่วงที่เรียนไปเรื่อยๆ ปัญหาก็คือความฝันกับความจริงมันไม่ค่อยบรรจบกัน เราอยากเป็นนักเขียน แต่เราคงต้องสั่งสมประสบการณ์บางอย่างก่อนจะเขียน พอใกล้จบ เราก็คิดแต่ว่า จะต้องหางานทำอย่างอื่นไปก่อน ระหว่างรอเป็นนักเขียน ตอนนั้นคิดถึงขนาดจะไปทำงานบริษัทเนสท์เล่ เพื่อเป็นเด็กแจกไมโลเย็นตามโรงเรียน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายได้ทำงานที่แรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ได้ทำงานหลากหลาย ตามสัมภาษณ์คน ตรงกับที่เราเรียนมาก ทำได้ 6 เดือน พี่เต็ด (ยุทธนา) ชวนกลับไปทำที่ฮอตเวฟ เลยได้มีโอกาสเป็นโปรดิวเซอร์รายการกรีนเวฟ เป็นคนริเริ่มรายสไตล์ Easy Listening ของคนวัยทำงาน ได้เริ่มจัด Green Concert เป็นครั้งแรก ทำอยู่ถึง 5 ปี จนได้มาทำคลื่น Fat Radio ซึ่งการทำสองคลื่นนี้เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เราทำสิ่งที่ในตลาดไม่มีเหมือนกัน เราทดลองสร้างสิ่งใหม่ จนเกิดภาพลักษณ์ที่ว่าคนทำคลื่นนี้ต้องเท่ๆ ติสท์ๆ จนมาถึง Cat Radio ผมว่ามันคือการอยู่ในเส้นทางของ Fat เพราะเราคิดว่าเส้นทางที่จะไป มันยังไปไม่สุด เราเชื่อว่า มีเดียที่ดี มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่หลากหลายและดีพอให้คนเสพ วงการเพลงยังมีศิลปินดีๆ มากมายที่รอวันเติบโตและชื่นชมจากผู้คน ถ้าเรายังมัวแต่เปิดเพลงที่ดังแล้ว แล้วงานดีๆ เหล่านี้จะไปถึงหูคนฟังได้ยังไง แต่เราเลือกนำเสนอคอนเทนท์ในหน้าตาของผู้ที่ไม่มีภูมิรู้ เราเสนอความสนุกสนาน แต่เราก็ไม่ได้ตลกขนาดนั้น เราเสนอความซีเรียส แต่ก็ไม่ได้เครียดขนาดนั้น ก็เหมือนกับชีวิตของวัยรุ่นที่มันสับสนอยู่ไม่ใช่หรอ เราอยากให้เขาไปแบบช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน คุณจะเป็นคนส่วนน้อยในสังคมเสมอที่ฟังเรา เราไม่เคยบอกว่าคุณต้องชอบเพลงอะไร แต่เรามีตัวเลือกให้คุณ แล้วคุณไปเลือกเอาเอง ว่าคุณจะรับหรือไม่ โลกกว้างกว่าที่เราคิด แต่สุดท้ายคุณต้องเป็นตัวของตัวเองก่อน แล้วเราก็ยังมีความหวังว่า ยังมีเพลงดีๆ ศิลปินดีๆ หรือหนังดีๆ ที่รอให้คุณดูหรือฟังอยู่ทุกวัน หรือกิจกรรมที่เราทำออกมาเรื่อยๆ อย่างล่าสุดเป็นการประกวดหนัง Cat Film ที่อยากให้เอาเพลงสักเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจของคุณมาทำเป็นพล็อตหนัง คือไอเดียในแต่ละงานของเรา เราไม่ได้ตามเทรนด์ เราไม่ได้มองว่าตอนนี้กำลังฮิตอะไรกันอยู่ เราแค่อยากหยิบเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากจะพูด อยากทำสิ่งที่เราอยากทำ แล้วหวังว่าจะมีคนชอบก็แค่นั้นเอง”
THINKING TO CAMPUS
“อย่าไปเครียดหรือกดดันกับการเป็นคนที่กำลังงงๆ ในชีวิต แต่จงกล้าหาญที่จะทำมัน อย่างมากก็ผิด อย่างมากก็เจ๊ง มากสุดก็เท่านั้น ถ้าเราวงความเสียหายไว้ระดับหนึ่ง มันก็คงไม่เสียหายไปกว่านี้มั้ง อยากให้น้องๆ จำความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ การมองโลกที่แตกต่างสมัยตอนที่เรียนไว้ เพราะมันอาจจะหมดไปได้ในปีสองปีแรกที่ทำงาน อยากให้เก็บความมุ่งมั่นในวันนี้ แล้วลุยมันต่อไป ถ้าจะบอกว่า การที่เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แล้วเราจะมีวุฒิภาวะดีขึ้น มันไม่จริงเลย เราไม่ได้ฉลาดขึ้น เราแค่มีประสบการณ์มากขึ้น ประสบการณ์ที่ดีส่วนใหญ่มักมาจากบทเรียนที่ผิดพลาด เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความสำเร็จ แล้วก็ไม่ได้การันตีว่าสิ่งที่เคยสำเร็จ มันจะสำเร็จอีก แต่ปัญหามันมักจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ถ้าเราไม่ผิดพลาด แสดงว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วคำว่าสำเร็จอยู่ที่ใครจะนิยามนะ แต่อย่าให้ใครมานิยามเรา ความสำเร็จของเรามันเป็นเรื่องของเรา จงภูมิใจในสิ่งที่เราทำ มันอาจจะไม่ดูดีในสายตาใคร แต่ถ้าเราว่าดี มันก็ดีของเรา เพราะชีวิตเป็นของเรา”

 

ตามดูคอลัมน์ worker ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.40

www.facebook.com/campusstars