บริจาคร่างกาย อาจารย์ใหญ่

ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป – พระยาอุปกิตศิลปสาร อาจารย์ใหญ่คนแรกของไทย

Home / วาไรตี้ / ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป – พระยาอุปกิตศิลปสาร อาจารย์ใหญ่คนแรกของไทย

เปิดประวัติ พระยาอุปกิตศิลปสาร อาจารย์ใหญ่คนแรกของประเทศไทย ผู้อุทิศร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ ท่านนับเป็นอาจารย์ใหญ่ท่านแรก ที่บริจาคร่างกายในประเทศไทย

เปิดประวัติ พระยาอุปกิตศิลปสาร

“พระยาอุปกิตศิลปสาร” หรือนามเดิม “นิ่ม กาญจนาชีวะ” ท่านเป็นนักเขียนผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ใช้นามปากกาหลายนาม แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ “อ.น.ก.”, “อุนิกา”, “อนึก คำชูชีพ” นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มคำทักทายว่า “สวัสดี”  ด้วย

ประวัติส่วนตัว “พระยาอุปกิตศิลปสาร”  เป็นบุตรของ นายหว่าง และ นางปลั่ง เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 ในวัยเด็กได้เริ่มศึกษาหาความรู้ภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดบางประทุนนอก อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดกรุงเทพมหานคร) และที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ต่อมาได้บวชเป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระวันรัต (แดง ลีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างที่บวชได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และศึกษาวิชาครูไปด้วย

เริ่มรับราชการ

จากนั้นมาได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากเป็นครูแล้ว ท่านยังเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการ พนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำราและอาจารย์ประจำกรมศึกษาธิการ และได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ จนในปี พ.ศ. 2467 จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุปกิตศิลปสาร มีตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ ถือศักดินา 1,000 และมียศเป็นอำมาตย์เอก

ความเชี่ยวชาญ

ท่านเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ภาษาบาลี และวรรณคดีไทย อีกทั้งท่านยังเป็น อาจารย์พิเศษแผนกภาษาไทย และภาษาโบราณตะวันออกในคณะอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยในชุดครูมัธยม และเป็นกรรมการชำระปทานุกรม

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 และในวาระสุดท้าย ท่านได้อุทิศร่างกายของตัวเองเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ถือเป็นอาจารย์ใหญ่ท่านแรกของประเทศไทย โดยท่านได้กล่าวไว้ว่า

“ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป”

ผลงานของท่าน

  • ตำราไวยากรณ์ไทย 4 เล่ม ได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์
  • สงครามภารตะคำกลอน
  • คำประพันธ์บางเรื่อง
  • ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี”
  • กลอนสุภาพ พ่อแม่รังแกฉัน
  • กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า (ปรับจาก Elegy Written in a Country Churchyard)
  • ได้รับการบรรจุเป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามานานนับ 10 ปี

บทความน่าสนใจ