CAREER issue45 นักวาดภาพประกอบ

สัมภาษณ์เรื่องราวของ จ๋า-นิรัญชา ก่อนมาเป็น นักวาดภาพประกอบ เจ้าของหนังสือ เย็นนี้กินอะไรดี

Home / วาไรตี้ / สัมภาษณ์เรื่องราวของ จ๋า-นิรัญชา ก่อนมาเป็น นักวาดภาพประกอบ เจ้าของหนังสือ เย็นนี้กินอะไรดี

ศิลปินนักวาดภาพประกอบสาวสุดครีเอจ จากหนังสือ “เย็นนี้ กินอะไรดี” ของสำนักพิมพ์ GEEK BOOK จ๋า-นิรัญชา ปูรณโชติ จากพรสวรรค์ที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก กลายมาเป็นอาชีพอิสระที่ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันกับการทำงานได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ทำให้ทุกๆ วันได้ก้าวไปกับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่ทั้งสนุกและสร้างสรรค์

จ๋า-นิรัญชา ก่อนมาเป็น นักวาดภาพประกอบ

INSPIRATION

จากความชอบสื่อด้วยรูปวาดแทนคำพูดในวัยเด็กของจ๋า กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความอยากเรียนศิลปะ และได้ค้นพบทางที่ใช่ที่ School of Architecture and Design ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

IMPORTANT IN A CAREER

“ที่นี่ไม่ได้สอบให้เราวาดรูปเหมือน แต่เขาสอบเพื่อวัดความคิดเรา เขาจะมีโจทย์ มีรูปมาให้นิดหนึ่งแบบไม่เคลียร์ว่ามันคืออะไร แต่ให้เอาไปวาดต่อ เป็นรูปอะไรก็ได้ แล้วทุกคนต้องเอาข้อสอบมาคุยกับอาจารย์ด้วยว่าทำไมถึงต้องวาดรูปนี้ มันตรงกับความคิดของเราที่ว่า ศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูปเหมือน มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น แล้วการเรียนจะเป็น Communication Design มันแปลกใหม่มาก เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ เอาศิลปะมาทดลองเป็นขั้นตอน ให้เราได้ศิลปะในแบบใหม่ๆ

พอเรียนจบมา ไปทำงานที่แรกเป็นงานประจำ อยากรู้จักความคิดของคน แต่คิดว่าเรายังไม่เก่งกราฟิก เลยไปเป็นเลขากองบรรณาธิการที่อะเดย์ก่อน แต่พี่ๆ มาเห็นว่าเราวาดรูปได้ เลยให้ลองงานแรกเป็นวาดรูปประกอบคอลัมน์ “มองโรคในแง่ดี” ก็ทำอยู่ปีหนึ่ง ออกมาทำประจำอีกหลายอย่าง แต่เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบงานประจำอยู่แล้ว เพราะบางที่ทำเสร็จเร็วแล้วไม่มีอะไรทำ เราก็ต้องมานั่งรอเวลาให้เลิกงาน ก็รู้สึกเสียดายเวลา จนเริ่มคิดว่าเราพอมีคอนเนกชั่นได้อยู่ เมื่อปีที่แล้ว ตัดสินใจออกมาทำงานอิสระ ปฎิญาณตนว่า ชั้นจะไม่กลับไปทำงานประจำอีกแล้ว จะต้องอยู่ให้ได้”

HOW TO WORK

1. ฝึกฝนค้นหาสไตล์ตัวเอง

“ตอนที่เรียนที่คณะไม่มีทักษะเลย เพราะคนต่างชาติเขาคิดว่าคนไทยน่าจะวาดรูปเป็นอยู่แล้ว ก็ค่อนข้างเป็นปัญหาตอนทำงาน วิธีของเรา คือ ต้องฝึกวาดด้วยตัวเอง ทดลอง Material หลายอย่าง แล้วเป็นคนชอบ Painting คือจะใช้หมดในส่วนของ Drawing ทั้งสีน้ำ สีน้ำมัน อะคริลิก ทดลองวาดหลายแบบ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นแบบที่เราไม่ได้พยายามนะ แต่มันออกมาเป็นสไตล์แบบนี้ของมันเอง”

2. งานภาพประกอบแปลกใหม่ชิ้นแรกที่อะเดย์

“งานแรกมีความแปลกคือเป็น Drawing ผสมกับภาพถ่าย โดยเขาจะส่งเรื่องมาให้เรา ให้เราตีความเองว่าจะวาดอะไร จะดึงสิ่งของมาเล่นกับรูปวาดได้ยังไง รูปแรกตอนนั้นเป็นช่วงน้ำท่วม แล้วมันยากเพราะเราคิดเยอะเกิน สุดท้ายพี่ๆ เขาบอกไม่ต้องคิดยาก แค่ให้คนเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไรก็พอ ก็เลยวาดเป็นคุณพ่อมีเด็กขี่หลัง แล้วก็มีน้ำท่วมที่เป็นรูปถ่ายจริงๆ

3. การวาด คือ การใช้พลังทั้งหมดมาจากข้างใน

“ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์กับงานแทบจะแยกกันไม่ออก สำหรับเรามันดีนะ อย่างตื่นมาตอนเช้าจะดูหนังก่อนเลย ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้อยากได้อารมณ์ความอยากวาดแบบไหน หนังแรงบันดาลใจ หนังรัก หรือการ์ตูน ดูจนมันอิ่มที่เราจะมีแรงบันดาลใจถึงจะเริ่มวาดรูป และจะวาดจนไม่อยากวาดอีก บางรูปไม่จบในวันเดียว วาดตา วาดผมไว้ อยากโฟกัสตรงนั้นให้ดีที่สุด การวาดคือการใช้พลังทั้งหมดมาจากข้างใน วันไหนพลังหมด ก็จะวาดไม่ได้เลย”

4. ครีเอจยังไงให้มันสนุก

“แต่ละงานแค่คิดว่าต้องทำอะไรที่มันสนุก อันนี้เห็นคนทำเยอะแล้ว ไม่สนุกเลย ความสนุกที่เราอยากให้มันมีจะต้องเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นหรือเกิดใหม่ ก็พยายามคิดไปเรื่อยๆ จนปิ๊งไอเดียขึ้นมา แล้วก็ต้องมา Analyze ตัวเองว่าเฮ้ย มันสนุกมั้ย ถ้าเราสนุก คนอื่นก็จะต้องสนุกด้วย”

5. แรงบันดาลใจจากเทรนด์ใหม่ๆ รอบตัว

“อย่างในกรุงเทพ คนอื่นเขาชอบไปเดินช้อปปิ้งกัน แต่เราจะไม่ได้เดินซื้อของ แต่ชอบไปดูแพกเกจจิ้งว่าเขาเป็นยังไง ผ่านร้านอาหารก็ดูเขาแต่งร้านยังไง แม้กระทั่งกริดของตัวหนังสือว่าเขาจัดวางตรงมั้ย หรือบางทีอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็นั่งรถไปเลยคนเดียว ดูข้างทางไปเรื่อยๆ เป็นคนชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เทรนด์ตอนนี้ คนหันมาเที่ยวเยอะขึ้นนะ ความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่การซื้อของ ซึ่งตัวเองก็รู้สึกอย่างนั้น ชอบการใช้ชีวิตมากกว่า เอาเงินไปซื้อของสักพักก็เบื่อแล้ว คุณค่าของมันลดลงทุกวัน แต่สำหรับประสบการณ์ คุณค่ามันเพิ่มขึ้นทุกวัน การได้ทำกิจกรรมที่เรารัก มันดีต่อจิตใจตัวเอง ดีต่อคนรอบข้าง และดีต่อการพัฒนาตัวเองด้วย”

6. ไอเดียชิ้นใหม่ วาดภาพของกินแบบเรียล

“ตอนนี้ทำทั้งวาดภาพประกอบ ถ่ายภาพ ทำกราฟิก แล้วก็เวิร์คช้อป คนจ้างก็จะรู้สึกเราทำได้หมด มันดูวุ่นวาย แต่ดีนะ มันเป็นวงกลมที่ดูเป็นเรื่องเดียวกัน อย่าง “เย็นนี้ กินอะไรดี” ก็เริ่มมาจากทางบก.อยากได้แนวเกี่ยวกับอาหาร แล้วเราก็ชอบวาดรูปอาหาร ส่วนกานต์ (นักเขียน) ก็ชอบชิมอาหาร ก็เลยได้ลิสต์ร้าน แล้วนัดกันไปทำ คือไปนั่งวาดรูปที่ร้านเลย ถ้าได้วาดกับของจริงมันจะอินกว่า มันได้อารมณ์ของมัน บางร้านวาดเร็วมาก เพราะมันมีร้านข้างทางด้วย บางทีก็วาดลงในทิชชู่ด้วย เพราะแต่ละร้านเนื้อทิชชู่ไม่เหมือนกัน บางทิชชู่มีตราของร้าน วาดเสร็จก็เอารูปนั้นมาถ่ายประกอบกับรูปจริง เราอยากให้เล่มนี้ไม่เหมือนเล่มอื่นๆ”

THINKING TO CAMPUS

“สำหรับคนที่ชอบงานด้านนี้ อย่าหยุดฝึกฝน อย่ายอมแพ้ บางทีเราวาดสวยแล้วแต่มีคนบอกว่าเราวาดไม่สวย มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้น บรรทัดฐานของคนมันเปลี่ยนกันได้ แต่ไม่ใช่ไม่ฟังคอมเม้นท์เลย แค่พยายามเป็นตัวของตัวเองที่สุด พามันออกมาในงานให้ได้ แต่อย่าก็อปปี้ อย่างแรกที่จะเป็นคือตัวเอง อย่ากลัวที่จะเอามันออกมา คิดอะไรก็วาดออกมาเลย แล้วค่อยมาตบๆ มันทีหลังให้เข้าที่ เราควรจะรู้จักตัวเอง ก่อนที่คนอื่นจะรู้จักเรา”

NIRANCHA BOORANACHOAT
Graphic Designer/Illustrator/Artist

ติดตามอ่านได้ใน นิตยสารแคมปัสสตาร์ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ฉบับ 45