นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (นานาชาติ) BBA (International Program) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School (CBS) คว้าชัยชนะในการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจในงาน AIBC Alberta International Business Competition 2019 ที่จัดขึ้น ณ เมืองแจสเปอร์ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้แก่ Concordia University จากแคนาดา HEC Montreal จากแคนาดา ได้รางวัลรองชนะเลิศ
นิสิตคณะบัญชีฯ จุฬาฯ สุดเจ๋ง คว้าชัยชนะ แข่งเคสธุรกิจระดับโลก ที่แคนาดา
4 นิสิตไทยจากคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ที่เข้าร่วมการแข่งขันและคว้าชัยชนะให้แก่ประเทศไทย ในนามทีม “บิงซู” ได้แก่ นายภากร ชวนะลิขิกร ชั้นปีที่ 4 น.ส.ณัฐธยาน์ สิทธิศรัณย์กุล ชั้นปีที่ 4 น.ส.อริสรา พรรัตนรักษา ชั้นปีที่ 3 และ นายเจษฏจิต จิตร์แจ้ง ชั้นปีที่ 3 ที่ชนะใจกรรมการด้วยกลยุทธ์ที่มีความสด ใหม่ มีการสื่อสารที่โดนใจเข้าถึงอารมณ์ และยังมีความละเอียดที่ครอบคลุม เสริมให้กลยุทธ์ธุรกิจที่นำเสนอมีความแข็งแกร่ง
นายภากร ชวนะลิขิกร ชั้นปีที่ 4
ภากร เผยว่า “ก่อนการเดินทางไปแข่งขัน เราได้มีการตระเตรียมด้านข้อมูลพื้นฐาน โดยศึกษาว่าคนอัลเบอร์ตามีวิถีชีวิตอย่างไร ทำธุรกิจแบบไหน มีความแตกต่างจากไทยอย่างไร โดยโจทย์ที่ได้รับในวันแข่งขัน แบบ 5 ชั่วโมง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติแจสเปอร์ แคนาดา ที่ต้องการลดจำนวนอุบัติเหตุต่างๆ ในอุทยาน รวมถึงการห้ามให้อาหารสัตว์ ในขณะที่โจทย์ของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแบบ 30 ชั่วโมง เป็นธุรกิจสปอร์ตบาร์ ซึ่งเขาต้องการรับสมัครพนักงานให้เข้ามาทำงานในองค์กรตั้งแต่ตำแหน่งหน้าร้านไปจนถึงระดับการบริหารจัดการที่เป็นคนรุ่นใหม่”
น.ส.ณัฐธยาน์ สิทธิศรัณย์กุล
ณัฐธยาน์ เผยว่า “ในโจทย์แรก เราได้วิเคราะห์สื่อต่างๆ ที่เขาใช้ พบว่าอุทยานยังเข้าไม่ถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย เราจึงเสนอให้พัฒนาการสื่อสารทางออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง โดยนำไปโปรโมตในเว็บไซต์รีวิวการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าชม ต่อมาเน้นเรื่องการใช้มีเดียในอุทยานให้มากขึ้น โดยการสื่อสารชี้ให้เห็นถึงผลเสียว่าหากทำเช่นนี้จะเกิดผลเสียอย่างไร โดยเราได้ทำภาพที่เป็นมือยื่นยาพิษให้แก่สัตว์ เพื่อให้รู้ว่าอาหารที่เราให้แก่สัตว์ มันเป็นอันตรายสำหรับมัน”
น.ส.อริสรา พรรัตนรักษา
อริสรา กล่าวเสริมว่า “โจทย์ที่ 2 นั้นความยากอยู่ที่เราไม่เคยเห็นรูปแบบธุรกิจสปอร์ตบาร์ จึงต้องศึกษาจากเว็บไซต์ของเขา ดูว่าเขามีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรที่ใช้ดึงดูดพนักงาน เราจึงเสนอกลยุทธ์ว่า ให้สร้างประสบการณ์ที่ดี ให้กับตำแหน่งผู้จัดการร้าน เพราะมีความสำคัญเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องภายในร้านทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีให้พนักงานในร้านด้วย เช่น บริกร คนทำอาหาร เพราะเป็นหน้าที่ที่จะเผชิญหน้ากับลูกค้า เมื่อคน 2 กลุ่มมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดี เวลาที่มาใช้บริการ จากการแข่งขันทั้ง 2 รอบ กรรมการได้ให้ความเห็นว่า ความคิดของเรามีความแปลกใหม่ ที่ทำได้จริง เป็นสิ่งที่เขาเองยังไม่เคยทำมาก่อน”
นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (นานาชาติ) BBA (International Program) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายเจษฏจิต จิตร์แจ้ง
ทางด้านการบัญชีและการเงินนั้น เจษฏจิต เป็นผู้ดูแล เผยว่า “ต้องทำตัวเลขออกมาให้สอดคล้องในทิศทางที่เขาได้วางโจทย์เอาไว้ ต้องทำให้กรรมการเห็นว่า การที่จะลงทุนในกลยุทธ์ที่เราคิด จุดไหนสำคัญ เพราะอะไร และผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือตัวเลขของอุบัติเหตุที่ลดลง จำนวนสัตว์ตายลดลง หรือ มีคนสนใจเข้าสมัครงานจำนวนมาก”
ภากร ได้เล่าถึงการเตรียมตัวก่อนการแข่งขันและคว้าชัยครั้งนี้ว่า “พวกเราเป็นนิสิตที่อยู่ในชมรม Case Club หลังจากรู้ว่าจะมีการแข่งขันนี้ ได้มีการแข่งขันในคลับเพื่อคัดเลือกทีมที่จะไปแข่ง โดยอาจารย์จะเปิดกว้างให้พวกเราสามารถเลือกน้องที่จะมาร่วมทีมได้ โดยในทีมจะต้องประกอบด้วยพี่ปี 4 และน้องปี 3 จากนั้นใช้เวลา 3 เดือนในการเตรียมตัวหาข้อมูล ฝึกแก้ไขกรณีศึกษาทางธุรกิจเช่นเดียวกับการแข่งจริง โดยจะมีอาจารย์ รวมถึงพี่ๆ ศิษย์เก่าเข้ามาช่วยดู ช่วยสอนเพื่อให้พร้อมสู่การแข่งขัน รวมถึงการวางไทม์ไลน์ในแต่ละชั่วโมงเราจะต้องทำอะไรกันบ้าง”
ณัฐธยาน์ เพิ่มเติมว่า “สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคว้าชัยได้ในครั้งนี้ มาจากการสนับสนุนที่ดีของทางคณะฯ ทั้งในส่วนของชมรม Case Club ที่สร้างให้พวกเรามีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องการจัดระบบทางความคิด การบริหารเวลา รวมถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ทางคณะได้ติดตาม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชั้นเลิศที่พวกเราใช้สำหรับการแข่งขัน”
ด้าน อริสรา เผยถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมแข่งขันในครั้งนี้ว่า “เป็นการพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น ได้เรื่องการจัดระบบความคิด การวิเคราะห์ที่เป็นระบบ จะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการเวลาได้ดี รางวัลที่ได้ไม่เพียงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จที่พวกเราทุ่มเท แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการเติบโตทางความคิดของเรานั่นเอง”
เจษฏจิต ที่กล่าวปิดท้ายว่า “การทำงานร่วมกับคนใหม่ๆ เราต้องพร้อมที่จะเติมเต็มให้กับทีม เพื่อให้ทีมมีความแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขัน”
การแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาตินับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบ่มเพาะ และเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตบัญชีฯ จุฬาฯ ที่จะก้าวออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่น้อยหน้าใครในโลก