นศ. ครุศาสตร์ฯ มจธ. คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดสื่อการสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติด

จากข้อมูลประมาณการผู้ใช้สารเสพติดปี 2562 ของเครือข่ายวิชาการสารเสพติด พบว่ามีผู้ใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มช่วงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหม่และเป็นเพศชาย ปัจจัยที่ส่งผลให้มีผู้ใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น อาทิ การเปิดรับสื่อที่เกี่ยวกับสารเสพติดและการเข้าถึงแหล่งซื้อขายได้บนโลกออนไลน์ ฯลฯ

การประกวดสื่อการสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติด

“ENTER” แอนิเมชัน 2 มิติ คว้ารางวัลชนะเลิศ ผลงาน นศ. ครุศาสตร์ฯ มจธ.

ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งเน้นที่กลุ่มเยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนหน้าใหม่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดโครงการประกวดผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด หัวข้อ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดนักเสพหน้าใหม่ เยาวชนไทยห่างไกลยาเสพติด (Save Zone, No New Face)” ขึ้น โดยมีโจทย์ให้ทำเป็นแอนิเมชันไม่เกิน 3 นาที เปิดโอกาสให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานสื่อทางเลือกที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนตื่นตัว เห็นความสำคัญหันมาสนใจกับปัญหาและมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด

“ENTER” แอนิเมชัน 2 มิติ ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวดวงกมล บัวบาน (เบลล์), นางสาวสวรส ทองแก้ว (เบลล์) และนางสาวโสรญา คล้ายผล (โย) ในชื่อทีม “เลี่ยงได้เลี่ยง อย่างเสี่ยงเลยครับ” ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทแอนิเมชัน โดยการแข่งขันในประเภทนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 27 ทีม

นางสาวดวงกมล บัวบาน เล่าให้ฟังว่า การเข้าประกวดครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยใช้เวลาว่างในช่วงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยตามมาตรการภาครัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อทราบข่าวการประกวดจึงชวนเบลล์ และโย ร่วมกันทำแอนิเมชันเพราะเป็นวิชาที่เรียนและสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่บ้านได้ เพราะโยและเบลล์ต่างก็อยู่บ้านที่ต่างจังหวัดซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค

นางสาวสวรส ทองแก้ว หรือ เบลล์ กล่าวว่า ตอนแรกที่ส่งประกวดหวังเพียงรางวัล Popular Vote และทำเก็บเป็นผลงาน แต่เมื่อได้รางวัลชนะเลิศรู้สึกตื้นเต้นและภูมิใจมาก ทางทีมช่วยกันคิด ออกแบบ และหาไอเดีย ใช้เวลาทำงานประมาณหนึ่งเดือน ผลงาน “ENTER”แอนิเมชัน 2 มิติ มีแนวคิดการนำเสนอที่แตกต่างในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดนักเสพหน้าใหม่ โดยใช้พลังของสังคมออนไลน์ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” สวรส กล่าว

ดวงกมล เล่าว่า ไอเดียแรกมุ่งเน้นไปที่คำจำกัดความของพื้นที่ปลอดภัยว่าควรเป็นที่ไหน โรงเรียน บ้าน หรือเพื่อน จึงคิดกันว่าไอเดียนี้อาจจะซ้ำกับทีมอื่น จึงพยายามคิดให้แหวกแนวออกไป ใช้การเดินเรื่องด้วยเด็กผู้ชายเป็นตัวละครหลัก ที่เวลาเล่นโซเชียลมีเดียมักจะหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เหมือนอยู่ในโลกอวาตา และไปเห็นตัวร้ายซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่มาขายยาเสพติด แรกๆ เด็กผู้ชายพยายามจะรีพอร์ตไปยังผู้ดูแลระบบด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ จึงไปขอความร่วมมือจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในโซเชียล เป็นการใช้พลังโซเชียลมาช่วยกันทุบหรือรีพอร์ตโพสต์ที่ไม่เหมาะสม จนสามารถจัดการตัวร้ายที่เป็นตัวแทนคนขายยาเสพติดถูกเก็บกวาดหรือลบทิ้งไป ทำให้พื้นที่โซเชียลกลับมาปลอดภัยและน่าอยู่อีกครั้ง เป็นแนวคิดของผลงาน “ENTER” ที่นอกจากจะต้องต่อสู้กับตัวเองแล้ว ทุกคนในสังคมควรจะต้องช่วยกัน เพราะลำพังเพียงแค่คนคนเดียวไม่ช่วยอะไรได้มาก เหมือนการทิ้งขยะลงถัง แต่คนอื่นไม่ทำก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ดี” ดวงกมล กล่าว

ด้าน นางสาวโสรญา คล้ายผล หรือ โย บอกเล่าถึงความรู้สึกในวันประกาศผลว่า ตื่นเต้นมาก พูดไม่ออก จากที่ไม่เคยเข้าร่วมประกวดอะไรมาก่อน ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ประกอบกับสิ่งที่ได้รับจากการเรียนการสอนของ มจธ. ตั้งแต่ปีหนึ่ง คือ การปลูกฝังวิธีคิด ให้คิดให้ละเอียด และหลังจบการศึกษาก็จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำงานเพื่อหาประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ สวรส ได้ฝากถึงรุ่นน้องๆ เกี่ยวกับโครงการประกวดว่า “การสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นไอเดียอะไรถ้าคิดออกมาแล้วเหมือนไม่ดี ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเพียงแค่แปลกออกไป และไม่อยากให้กังวลกับการทำความเข้าใจเรื่องหัวข้อมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสดีๆ ไป ดังนั้น อย่าปิดกั้นตัวเอง และกล้าที่จะก้าวออกจากความกังวลเดิมๆ”

(ซ้าย) โสรญา-คล้ายผล (กลาง) ดวงกมล-บัวบาน (ขวา) สวรส-ทองแก้ว

โครงการประกวดผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดหัวข้อ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดนักเสพหน้าใหม่ เยาวชนไทยห่างไกลยาเสพติด (Save Zone, No New Face)” แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแอนิเมชัน และประเภทคลิปวิดีโอ โดยเปิดให้ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน–14 สิงหาคม 2563 และประกาศผลการประกวดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยประเภทแอนิเมชัน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “เลี่ยงได้เลี่ยง อย่าเสี่ยงเลยครับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี”สามารถเข้าไปดูผลงานได้ที่ http://bit.ly/clipENTER ส่วนประเภทคลิปวิดีโอรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “ลืมชาร์จโรนิน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง