23 ปีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรศ (มศว) แสดงจุดยืนหนักแน่น จริงจังและเข้มข้นของหลักสูตรการเรียนการสอนและความสำเร็จด้านศิลปกรรมศาสตร์ ได้อย่างถ่องแท้ถาวร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตนิสิตนักแสดงที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในวิชาชีพต่างๆ กระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงบันเทิงมานับรายไม่ถ้วน ทำให้คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจของนักเรียนทั่วทั้งประเทศในปัจจุบัน งานนี้จึงได้จัดกิจกรรม เปิดบ้านศิลปกรรม มศว. ขึ้น เพื่อให้น้องๆ นักเรียน ม.ปลายได้มาลองเล่น ลองทำ เรียนรู้ รายละเอียดหลักสูตรวิชาต่างๆ ของคณะ น้องๆ จะได้มีข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจเรียนต่อ ซึ่งก็มีน้งอๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ไปชมภาพบรรยากาศ และบทสัมภาษณ์ความรู้สึกของน้องๆ ที่ได้ไปร่วมงานกันเลยค่ะ
จัดหนัก จัดเต็ม“เปิดบ้านศิลปกรรม มศว” ให้ นักเรียนได้ร่วมเรียนรู้หลักสูตรจริง
งาน “เปิดบ้านศิลปกรรม มศว” ปีนี้ จัดหนัก จัดเต็ม โดนใจวัยรุ่น ม.ปลาย ถ้วนหน้าเพราะนอกจากจะนำเอา “ของจริง” มาให้ละเลง ลองเล่น ลองทำ ลองเต้น กันแล้วก็ยังมีรายละเอียดของหลักสูตรให้เอากลับไปตัดสินใจ งานนี้นักเรียนนับพันกว่าคนทั้งใกล้และไกลเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานจากการที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้สาธิตการเรียนการสอนจริง ให้นักเรียนได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ในหลักสูตรการเรียนศิลปกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรีทั้ง 8 สาขาวิชา ได้แก่ ศิลปศึกษาศิลปจินตทัศน์ /การออกแบบสื่อสาร/ การออกแบบทัศนศิลป์ /ศิลปะการแสดง /นาฎศิลป์ /ดุริยางคศาสตร์ศึกษา และ ดุริยางคสาสตร์สากล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ได้ทำความรู้จักกับสาขาวิชาต่างๆ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว แบบเจาะลึก เข้าใจ-เข้าถึง การเรียนการสอนจริงในแต่ละสาขาวิชากันเลยทีเดียว
Open house FOFA SWU 2016
ทั้งนี้มีกิจกรรมแนะแนวการศึกษาในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นไฮท์ไลท์สร้างสีสันและความสนุกสนานอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ที่รุ่นพี่ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง นำน้องๆ นักเรียนชมการสาธิตการเรียนจริง สอนจริง ที่บูทของแต่ละสาขาวิชา อาทิ เปิดโลกจินตนาการไร้ขีดจำกัดไปกับการวาดภาพในฝันในสาขาศิลปจินตทัศน์ / การสัมผัสงานปั้นเซรามิกของจริงที่มีความแตกต่างระหว่างการเรียนศิลปศึกษาและสถาปัตยกรรม / การออกแบบสื่อสารที่ได้รับการตอบรับจากโลกสื่อโซเชี่ยลสังคมก้มหน้าสมัยใหม่ / การแสดงหรือ Performance ในรูปแบบของการเต้นเพื่ออาชีพในศาสตร์สาขาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ เพื่อสร้างทัศนคติค่านิยมแบบดั้งเดิมของการ “เต้นกินรำกิน” ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง สร้างความบันเทิงได้อย่างประสบความสำเร็จในปัจจุบัน รวมถึงการสาธิตความสามารถของรุ่นพี่ในการเรียนดุริยางคศาสตร์ศึกษา และ ดุริยางคสาสตร์สากล โดยที่พี่ๆ เขายกวงดนตรีใหญ่มาบรรเลงเพลงเพราะๆ ทั้งร้อง ดีด สี ตี เป่า กันอย่างกระหึ่มกึกก้อง นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดเคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ เทคนิคพิชิตข้อสอบ การเรียนการสอนที่เปิดสอน การแสดงและสาธิตผลงานศิลปกรรมจากรุ่นพี่หลากหลายวิชาเอก พูดคุยกับศิลปินศิษย์เก่าที่จะมาเล่าถึงเรื่องราวความสนุกในช่วงที่เรียนและกิจกรรมลุ้นของที่ระลึกอีกมากมายไม่มีอั้น
นางสาวนัชชา โรจน์ธนวัฒน์ (แนท) นักเรียนชั้น ม.6 จาก รร.วัดดาวคะนอง “อยากมาดูว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ว่ามีสาขาวิชาเอกอะไรบ้าง ที่ตั้งใจเลยคืออยากเรียนวาดรูปค่ะเลยสนใจสาขาวิชาทัศนศิลป์แต่ก็ต้องไปมีทักษะวาดรูปเพิ่มมากกว่านี้ ส่วนตัวหนูชอบวาดรูปเพราะมีความสบายใจ ที่บอกว่าถ้าเป็นจิตรกรหรือเป็นคนวาดรูปแล้วจะไส้แห้ง หนูว่าไม่จริงเสมอไปเพราะเดี๋ยวนี้มีศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีรายได้ที่น่าทึ่งมาก แถมยังได้ทำงานศิลปะช่วยงานสังคมได้ด้วย หนูก็อยากทำแบบนั้นค่ะ พอได้ฟังพี่ๆ เขาแนะนำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียน Visual Art สาขาวิชาทัศนศิลป์แล้วก็ชอบนะคะเพราะก็มีหลายอย่างให้เลือกเรียนได้ตามความถนัดและสนใจ อย่าง ศิลปะจินตทัศน์ จิตรกรรม เซรามิกส์ ศิลปวัฒนธรรม รู้สึกน่าสนุกค่ะ ถ้าไม่เป็นศิลปินอิสระก็เป็นนักวิชาการครูบาอาจารย์ได้ด้วย ก็น่าจะเป็นอาชีพที่ดีกับสังคมได้”
นางสาววริศรา วิมุขมนต์ (มุก) นักเรียนชั้น ม.5 จาก รร.เซนโยเซฟบางนา “มุกชอบและสนใจในสาขาเอกแฟชั่นดีไซน์ค่ะเพราะชอบแต่งตัวอยู่เป็นทุนเดิม มีความรู้สึกว่าสนุกมากเวลาที่ได้แต่งตัวสวยๆ แนวๆ อย่างสาขาแฟชั่นดีไซน์ของศิลปกรรม มศว ก็ดังมากนะคะเพราะเวลาที่มีเวทีประกวดอะไรต่างๆ ก็เห็นพี่ๆ ได้รางวัลมากๆ อยากทำเสื้อผ้าสวยๆ เก๋ๆ แนวๆ เป็นอาชีพอิสระที่ทำแล้วมีความสุขมากค่ะ”
นางสาวกรรณิการ์ โกวรรณ (ไอซ์) นักเรียนชั้น ม.6 จาก รร.สารสาสน์วิเทศ รังสิต “ไอซ์ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กและเรียนในสายดนตรีอยู่แล้ว ร้องได้ทุกแนว แต่ถนัดลูกทุ่ง เคยประกวดบ้างภายในโรงเรียน เพลงประจำตัวคือ หงส์ฟ้า ของแอน มิตรชัย ค่ะ เลยอยากดูว่าสาขาดุริยางค์ของ มศว จะเหมาะกับตัวเองไหมเพราะฝันไว้ว่าอยากเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงเหมือนนักร้องดังๆ คนอื่น พอมาดูข้อมูลการเรียนจริงๆ ของ Music Education หรือสาขาวิชา
ดุริยางคศาสตร์ศึกษาแล้วเลยยิ่งประทับใจเพราะที่นี่เปิดสอนและผลิตบัณฑิตทางดนตรีเป็นแห่งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 ผู้เรียนจะได้เรียนวิชาการทางดนตรีที่มีความหลากหลายทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล รวมถึงดนตรีอื่นๆ ในกลุ่มทวีปเอเชีย ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อไปประกอบอาชีพครูดนตรี นักวิชาการ นักวิชัน ศิลปินและอาชีพอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับทางดนตรีและได้รู้อีกด้วยว่ามีรายวิชาเด่นในหลักสูตรที่น่าสนใจอีกหลายรายวิชา เช่น วิชาฝึกปฏิบัติทางดนตรี วิชาเทคโนโลยีทางการดนตรี วิชาฝึกปฏิบัติการดนตรีเอเชีย วิชาดุริยนิพนธ์ วิชาการประพันธ์เพลงสำหรับครูดนตรี ยิ่งมีพี่ๆ มาเล่นให้ดูด้วยยิ่งรู้สึกว่าการเปิดบ้านศิลปกรรมครั้งนี้มาแล้วไม่ผิดหวังจริงๆ ค่ะ”
นางสาวภัณฑิรา ยกย่อง หนึ่งในนักเรียนชั้น ม.6 จาก รร.ราชวินิตบางแก้ว สมุทรปราการ กล่าวว่า “หนูสนใจและอยากเรียนในสาขาวิชานาฎศิลป์ค่ะเพราะคิดว่ามีคุณสมบัติตามที่สาขากำหนด โดยเฉพาะประสบการณ์ด้านการแสดงรำของหนูซึ่งก็ชอบรำไทยเพราะตอนเด็กๆ มีโรงลิเกอยู่หลังบ้านก็เห็นนางเอกลิเกรำสวยมากเลยอยากรำเป็นบ้าง ก็ขอแม่ไปเรียนรำ พ่อกับแม่ก็ไม่ขัดข้องค่ะตรงกันข้ามเขาอยากสนับสนุนให้หนูเรียนนาฎศิลป์ซึ่งหนูก็คิดว่าเรียนรำที่ มศว น่าจะดีที่สุดเพราะมีตัวอย่างอย่างพี่ลาล่า ลู่ลู่ ก็จบจากศิลปกรรม มศว และก็มีรุ่นพี่จากโรงเรียนที่กำลังเรียนที่สาขานี้ด้วยค่ะ อยากเข้า มศว มากๆ ค่ะ ตอนนี้ก็เก็บโพรไฟล์ฟ้อนรำมาแล้วหลายงานค่ะ โดยเฉพาะที่หนูเคยประกวดนางงามนพมาศ ได้รางวัลทูบีนัมจากการรำกินรี ที่หนูภูมิใจมากที่สุด ตอนนี้ก็อยู่ร่วมกิจกรรมของชมรมนาฎศิลป์ของโรงเรียนด้วย แกะท่ารำเอง สอนน้องๆ รำมาตรฐานแต่อยากรำโขนเป็นนางสุวรรณมัจฉาให้เป็นค่ะ ก็คิดว่าถ้าเรียนได้และเรียนจบก็อยากเป็นครูนาฎศิลป์เพื่อถ่ายทอดศิลปะการรำไทยที่เป็นวัฒนธรรมไทยให้กับคนรุ่นหลัง เป็นอาชีพที่มีคุณค่า สื่อความเป็นไทยได้อย่างภูมิใจมากค่ะพี่ๆ บอกว่าสาขาวิชานาฏศิลป์ (Dance) จะเรียนทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ โดยเน้นฝึกความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จบแล้วก็เป็นนักออกแบบท่าเต้น นักเต้น ครูนาฏศิลป์ ได้อย่างที่หนูใฝ่ฝันได้ด้วย มีรายวิชาเด่นในหลักสูตรคือวิชาหลักการสร้างงานนาฏศิลป์เบื้องต้น วิชานาฏศิลป์อาเซียน วิชานาฏศิลป์ไทย ยิ่งเพิ่มความอยากเรียนไปได้มากๆ เลยค่ะ”
นายพิสิษฐ์ พิสิษฐ์ ธนาธนะวรรธน์ หนึ่งในนักเรียนชั้น ม.6 ที่เข้าร่วมงาน กล่าวว่า “สนใจการแสดงกับการเต้นซึ่งก็เป็นสาขาการแสดงและกำกับการแสดง เพราะคิดว่าเหมาะกับบุคลิกมากๆ ที่ผ่านมาก็เคยมีเต้นเชียร์ลีดเดอร์ แข่งแอโรบิกสากล เต้นแข่งงานต่างๆ เต้นเปิดงาน events บ้าง ผลงานอะไรที่ภูมิใจที่สุดคือแข่งเชียร์ลีดเดอร์ชนะในระดับโรงเรียน ที่ได้ชนะมาคือความพร้อมเพรียงของทีม ความมั่นใจในตัวเราด้วยและการบล็อกหน้า ถ้าถามว่ามีแรงบันดาลใจอะไรถึงอยากเรียนด้านกำกับการแสดงของ มศว ก็ขอบอกเลยว่า มศว เป็นสถาบันในความฝัน เพราะเห็นดารานักแสดงแต่ละคนส่วนใหญ่จบจากเอกการแสดงของ มศว ยิ่งตอนนี้ก็มีพี่โม จิรัชยา ที่ได้ตำแหน่งทิฟฟานี่คนล่าสุดเป็นไอดอลด้วย ก็เลยอยากเข้าที่นี่ ที่นี่น่าจะเหมาะกับตัวหนูที่สุดล่ะ”
นางสาวบุษณี ศุทธรัตน์ไพบูลย์ หนึ่งในนักเรียนร่วมพันๆ คน กล่าวว่า “สาขาไหนที่สนใจเป็นพิเศษคือสาขาแฟชั่นดีไซน์ค่ะ ตอนเด็กๆ ก็ชอบเล่นตุ๊กตา อย่างบาร์บี้ก็ชอบนะคะ แต่ชอบการออกแบบและก็อยากเรียนที่นี่ เพราะว่าที่นี่ก็มีชื่อเสียงด้านสาขาแฟชั่นดีไซน์เพราะดูข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตค่ะ แล้วก็จากรุ่นพี่ที่มารีวิวในเว็บต่างๆ ว่าที่เป็นยังไงบ้าง ดีอย่างไร หนูคิดว่าหนูชอบที่จะออกแบบ ชอบคิดนอกกรอบ ตอนนี้ยังไม่มีผลงานอะไรเลยค่ะแค่รู้สึกว่าสนใจด้านนี้ค่ะ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเรียนพิเศษศิลปะพื้นฐาน เรียนดรอว์อิ้งค่ะ พอเรียนดรอว์อิ้งเสร็จก็จะเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์เลยค่ะ อยาก เป็นดีไซน์เนอร์และไม่มีใครเป็นไอดอล แค่หนูชอบศิลปะค่ะ ตอนแรกไม่ได้จะเข้าสาขานี้ค่ะ หนูไปดูสถาปัตยกรรมค่ะ แต่หนูคิดว่าหนูเหมาะกับสาขานี้มากกว่า”
นอกจากการเรียนแฟชั่นดีไซน์แล้ว ก็ยังมี Visual Design หรือการออกแบบทัศนศิลป์ที่รวมเอาการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่นและการออกแบบเครื่องประดับไว้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมีรายวิชาเด่นในหลักสูตร ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์และการใช้ทรัพยากรระดับท้องถิ่น / การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงอัตลักษณ์ / การวิจัยและพัฒนาทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ / ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการออกแบบแฟชั่น / การสร้างงานออกแบบแฟชั่นแนวทดลอง / การสร้างแบรนด์เพื่อการออกแบบแฟชั่นสื่อในงานออกแบบแฟชั่น / การออกแบบเครื่องประดับประกอบเครื่องใช้จากวัสดุพื้นบ้าน / นวัตกรรมการผลิตต้นแบบเครื่องประดับด้วยมือ / การวิเคราะห์งานออกแบบเครื่องประดับเพื่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรม
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นแหล่งผลิตศิลปิน ดารานักแสดงหน้าใหม่เข้าสู่เส้นทางสายบันเทิงไทยมากหน้าหลายตา ทั้งการเป็นนักแสดง นักดนตรี นักร้อง เรียกได้ว่าเป็นคณะในดวงใจของน้องๆ นักเรียนที่ใฝ่ฝันอยากจะโลดแล่นเด่นดังมีชื่อเสียงและมีรายได้จากการเป็นนักแสดงจำนวนไม่น้อย ทว่าสิ่งสำคัญที่มากกว่าการมีชื่อเสียงก็คือการสร้างคนดีและคนเก่งสู่การรับใช้สังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ยึดถือนับตั้งแต่เริ่มเปิดการเรียนวิชาเอกศิลปศึกษา เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
…………………………………………..