ผลงาน นวัตกรรมลดเสียงดังจากการก่อสร้าง จากทีมนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เจ๋งโดนใจคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขัน โครงการ Startup Thailand Hackathon 2018
SA-NGAD นวัตกรรมลดเสียงจากการก่อสร้าง
ทีม Petch, Gap, Good and Friend คือกลุ่มนิสิตผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน โครงการ Startup Thailand Hackathon 2018 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นโครงการที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 100 ทีม
โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีเมนเทอร์และพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืน และแบ่งหมวดหมู่ในการแข่งขันเป็นทั้งหมด 5 หัวข้อ โดยกลุ่มนิสิตได้เข้าแข่งขันในหัวข้อ การก่อสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Construction Tech and Infrastructure) โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนในหัวข้อนี้
สมาชิกในทีม : นายกวิน เสริมศักดิ์สกุล, นายณัฐพล พุทธสันติธรรม, นายศุภกิตติ์ เกษตรตระการ และนายธนาพล วงศ์วณิชย์โชติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ สาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อผลงาน
SA-NGAD (สงัด) : นวัตกรรมลดเสียงดังจากการก่อสร้าง
แรงบันดาลใจ
เนื่องจากพวกเราอาศัยอยู่ในคอนโดใจกลางเมือง และสังเกตว่ามี Construction Site หรือไซต์ก่อสร้าง หลายที่ส่งเสียงดังรบกวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะเสียงที่เกิดจากการก่อสร้างนั้นมีความดังถึงขั้นที่จะสามารถทำลายประสาทหูได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีไอเดียที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวและนำความรู้ทางด้านฟิสิกส์ที่ได้เรียนมา มาประยุกต์ใช้ด้วยโดยการสร้าง Sound wave ที่ Phase ตรงกันข้ามมาหักล้างเสียงที่รบกวนให้มันหายไป
โดยผลงานการออกแบบนี้ใช้ชื่อว่า “SA-NGAD (สงัด)” ด้วยชื่อ “สงัด” ก็สื่อความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า เงียบสงัด นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดจากการก่อสร้าง ซึ่งปกติไซต์ก่อสร้างจะใช้วิธีก่อกำแพงป้องกันเสียง อย่างไรก็ตาม เสียงที่เกิดจากการก่อสร้างอยู่ในช่วงคลื่นความถี่ต่ำไม่อาจถูกกักให้อยู่ภายในไซต์ก่อสร้างด้วยกำแพงได้ และยังคงมีเสียงดังรบกวนชุมชนบริเวณใกล้เคียงอยู่
ดังนั้น SA-NGAD จึงเข้ามาช่วยจัดการเสียงในช่วงคลื่นความถี่ต่ำ โดยประยุกต์ระบบ Active Noise Cancelling (การขจัดเสียงรบกวนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า) ที่อยู่ในหูฟัง รับคลื่นเสียงจากการก่อสร้างเข้ามาทางไมโครโฟน ประมวลและแปลงคลื่นความถี่ผ่านชิพ และปล่อยคลื่นเสียงที่จะช่วยหักล้างเสียงดังจากการก่อสร้างออกมาผ่านทางลำโพง ทำให้เสียงรบกวนชุมชนและคนงานก่อสร้างหายไป
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการประกวด
การแข่งขันในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันในงาน Startup Thailand Hackathon 2018 ซึ่งจะให้โจทย์กับผู้เข้าแข่งขันในวันแข่งขันเลย พวกเราจึงมีเวลาในการทำทุกอย่างตั้งแต่คิดไอเดียถึงการทำ Prototype เพียงสองวันเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้พวกเราทุกคนต้องกระตุ้นตัวเอง เพื่อพยายามรวบรวม และค้นหาข้อมูลเพื่อหาไอเดียที่ดีที่สุด ภายในเวลาที่มีจำกัด นอกจากนี้พวกเรายังได้พูดคุยกับทีมผู้เข้าแข่งขันอื่นๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันทำให้ได้แลกเปลี่ยนไอเดีย รู้จุดอ่อนจุดแข็งของไอเดีย ได้รู้ไอเดียใหม่ๆ จากเพื่อนๆ ที่เข้าแข่งขันอีกด้วย
ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจเรียนด้านนี้
“สำหรับการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ หรือ Information and Communication Engineering (ICE) นั้น เป็นสาขาที่ศึกษาในเนื้อหาทางด้านวิศวกรรมที่ค่อนข้างกว้าง และครอบคลุมหลายอย่าง โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่าง วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้และมองเห็นภาพในการเรียนที่กว้างขึ้น โดยเราจะมีวิธีคิดที่จะมองทุกอย่างเป็นระบบใหญ่หรือเป็นภาพรวม
นอกจากนี้ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา และทุกอุตสาหกรรมเกิด Digital Transformation นั้น ทำให้คนที่มีความรู้ด้าน ICE ได้เปรียบและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และที่สำคัญ เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้การทำงานในยุคนี้แตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และการมีความรู้รอบด้านจะมีประโยชน์ในการทำงานในหลายๆ อาชีพและหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานทางด้านวิศวกรหรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายนี้ถ้าน้องๆ อยากที่จะทำ Startup การที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีรอบด้านจะมีประโยชน์ในการต่อยอดงานด้าน Startup อย่างแน่นอน”
.
ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.63
Facebook : www.facebook.com/CAMPUSSTAR