รวม สุดยอดเทคนิค พิชิตการสอบสัมภาษณ์ Admission

เตรียมตัว เตรียมเอกสาร การสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายกันพร้อมยัง? สำหรับน้องๆ ที่มีผลคะแนนสอบผ่านแอมิชชัน โดยในปีการศึกษา 2560 นี้ สถาบันอุดมศึกษต่างๆ จะทำการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2560 และจะทำการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ ในวันที่ 10 กรกฎาคม ผ่านทางเว็บไซต์ของ ทปอ. : http://a.cupt.net

สำหรับน้องๆ คนไหนที่กังวล ไม่สบายใจกลัวสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่านอยู่นั้น ก็ไม่ต้องคิดมากเกินไป เพราะส่วนมากแล้วเกือบ 100% สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยก็จะรับผู้ที่มีผลคะแนนผ่านการแอดมิชชันเอาไว้ทั้งหมด มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีไม่เกณฑ์ จะมีเรื่องอะไรบ้าง? ที่จะทำให้เราไม่ผ่านหรือโดนคัดออก มาดูกันเลย…

เทคนิค สอบสัมภาษณ์ Admission

1. คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์

สำหรับประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พบมากที่สุดของการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย เช่น คณะพยาบาลบางแห่ง ผู้ที่เข้าศึกษาต้องมีส่วนสูง 150 เซนติเมตรขึ้นไป หรือบางคณะอาจจะกำหนดว่า ตาต้องไม่บอดสี เป็นต้น ดังนั้นสิ่งแรกสุดที่น้องๆ ต้องรู้ก่อนเป็นอันแรกก็คือ คุณสมบัติของผู้สมัครของแต่ละคณะ/สาขา ว่าเป็นอย่างไร น้องๆ ควรต้องดูก่อนสมัครแอดมิชชันอยู่แล้ว เพราะถ้าสมัครเข้าไปแล้ว สุดท้ายก็โดนคัดออกอยู่ดี มีคุณสมบัติไม่ผ่าน (ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้น่าเสียดายมาเลยนะ ฉะนั้นก่อนสมัครแอดฯ ก็ต้องตรวจสอบคุณสมับติผู้สมัครให้ดี ให้เรียบร้อยเสียก่อน)

2. มีความผิดปกติหรือวิกลจริต

ซึ่งถ้าน้องๆ มีคุณสมบัติผ่านทุกอย่างแล้ว โอกาสที่จะติดก็มีมากๆ เลยทีเดียว เพราะตอนสอบสัมภาษณ์ อาจารย์เขามักจะดูว่า น้องๆ ไม่มีความผิดปกติ ไม่วิกลจริต เพราะฉะนั้นตอนสอบสัมภาษณ์ ก็ขอให้ตอบอย่างมีสติ ไม่ตื่นเต้น เช่น ถ้าสมมติอาจารย์เขาถามชื่อ จบจากโรงเรียนอะไร บ้านอยู่แถมไหน ก็ไม่ต้องนั่งนึกกันนานเกินไปนะ เพราะส่วนใหญ่เขาต้องการคนที่สุขภาพจิตสมบูรณ์ ดังนั้นแนวคำถามเป็นคำถามง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ คิดมาก ตอบไปแบบธรรมชาติได้เลย ส่วนคำถามที่ให้น้องๆ ลองแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ต้องกังวลไป ไม่ต้องแกล้งตอบให้ดูดีเว่อร์มากไป  ให้น้องๆ ออกความคิดเห็นออกมาได้เลยตามที่คิดเอาไว้ แค่นี้ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับอาจารย์ผู้สัมภาษณ์ได้แล้ว

3. พูดจาไม่สุภาพ

สำหรับถ้อยคำในการพูด ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน นอกจากที่น้องๆ ต้องตอบคำถามแบบชัดเจนแล้ว ถ้อยคำที่น้องๆ ใช้พูดก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เมื่อพูดจบประโยคน้องๆ ก็ควรที่จะพูดคำว่า “ค่ะ/ครับ” ลงท้ายประโยคด้วยทุกครั้ง ไม่ใช่พูดห้วนๆ เช่น เมื่ออาจารย์ถามชื่อ มาจากโรงเรียนอะไร น้องๆ ก็ควรที่จะพูดชื่อตนเองแล้วตามาด้วย “ค่ะ/ครับ” ตอนบอกชื่อโรงเรียนก็เช่นกันให้ลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “ค่ะ/ครับ” เป็นต้น

4. แต่งกายไม่เรียบร้อย 

ในวันไปสอบสัมภาษณ์ การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษา ถือได้ว่าเป็นชุดที่สุภาพเรียบร้อยที่สุดแล้ว เสื้อผ้าอาจจะไม่ต้องซื้อใหม่ก็ได้ แต่ต้องสะอาด ไม่ยับยู่ยี่ สำหรับผู้ชายวันที่ไปสอบสัมภาษณ์ขอแนะนำให้ตัดผมสั้นหน่อย โกนหนวด จะดีมากๆ และสำหรับผู้หญิงก็ควรที่รวบผมให้เรียบร้อย ไม่บังหน้าบังตา และไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะน้องๆ แต่ละคนจะใช้เวลาในการสัมภาษณ์ไม่เท่ากันอยู่แล้ว บางคนอาจจะโดนคำถามสั้นหรือบางคนอาจจะคุยกันยาวหน่อย แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ รับรองเลยว่าผ่านทุกคนแน่นอน

คำถามที่เจอบ่อย ในการสอบสัมภาษณ์

1. เล่าประวัติย่อๆ ให้ฟังหน่อย/แนะนำตัวให้กรรมการรู้จักหน่อย 

น้องๆ อาจจะมองว่าคำถามนี้เป็นคำถามง่ายๆ จะถามทำไม ก็สามารถดูประวัติได้จากใบสมัคร ซึ่งจริงๆ แล้วที่กรรมการเขาถามแบบนี้ เพื่อต้องการจะดูภาพรวมตัวตนของน้องๆ นั่นเอง ถึงจะเป็นคำถามง่ายๆ ตอบได้ไม่ยากเลย แต่เวลาตอบคำถามออกไปนั้น น้องๆ ก็ควรที่จะเรียงลำดับคำตอบให้ดีๆ อย่าพูดวกไปวนมาหรือยาวจนเกินไป ให้พูดประมาณว่า ตนเองชื่ออะไร ชื่อเล่น มาจากโรงเรียนอะไร จบสายไหนมา มีความสามารถพิเศษอะไร หรือเลือกในสิ่งที่เป็นข้อดี/จุดเด่นของตนเองมาพูด ดังนั้นควรฝึกพูดมาให้ดีตั้งแต่อยู่ที่บ้านเลย พอถึงเวลาจริงๆ จะได้ไม่ต้องตื่นเต้นกัน

2. ทำไมถึงได้เลือกเข้าเรียนที่นี่ 

ซึ่งน้องๆ แต่ละคนอาจจะมีลักษณะการตอบคำถามที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นแนวทางของคำตอบควรตอบแบบกลางๆ คือ ไม่ต้องพูดให้ฟังดูดีมากเกินไป หรือห้วนจนเกินไป และไม่ดูเป็นสคริปต์มากจนเว่อร์ไป น้องๆ ควรตอบทุกคำถามด้วยคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำและสุภาพ เพื่อเป็นการแสดงความมั่นใจในตัวเองออกมาให้กรรมการได้เห็น

3. วิชาที่ชอบและไม่ชอบ 

สำหรับข้อนี้ ก็เป็นคำถามง่ายๆ ไม่ยากเลย แต่น้องๆ ก็ควรเลือกที่จะตอบแบบเป็นกลางที่สุด และอย่าลืมว่าควรเลือกวิชาที่ชอบให้เกี่ยวกับคณะ/สาขาที่เลือกเรียนที่เรียนด้วย ส่วนวิชาที่ไม่ชอบก็ให้น้องๆ ตอบไปตามความเป็นจริงเลยว่าทำไมถึงไม่ชอบวิชานั้น และให้อธิบายว่าน้องๆ มีวิธีในการแก้ไขปัญหายังไงเมื่อต้องเรียนในวิชาที่ไม่ชอบ

4. เรียนหนักมากนะคณะนี้ จะเรียนไหวไหม? 

ให้น้องๆ ตอบกับกรรมการไปเลยว่า “จะพยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าได้มีโอกาสเข้าเรียนต่อในคณะนี้”

5. อาชีพในฝัน  

น้องๆ ทุกคนต้องรู้ตัวอยู่แล้วว่า ตนเองอาจจะทำอาชีพอะไรในอนาคต จึงได้เลือกเรียนต่อในคณะ/สาขานี้ ดังนั้นก็ตอบออกไปอย่างมั่นใจ ชัดเจนได้เลย

6. เรามีข้อเสียอะไรบ้าง?

สำหรับข้อนี้ ก็ให้น้องๆ ตอบไปตามความจริงเลยว่า “เรามีข้อเสียหรือมีวีรกรรมอะไรมาบ้าง” เพราะถ้าเกิดน้องๆ ตอบโกหกกรรมการออกไป แล้วเกิดกรรมการจับได้ว่าน้องๆ โกหก อาจจะทำให้โดนคัดออก ไม่มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อได้เลย

เอกสารที่น้องๆ ต้องเตรียมไปให้พร้อม

  1. ใบสมัครคัดเลือกแอดมิชชัน ประจำปีการศึกษา 2560
  2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (พร้อมสำเนา และเซ็นสำเนาถูกต้อง)
  3. ใบระเบียนแสดงผลการเรียนฉบับจริง (พร้อมสำเนา)
  4. สำเนาทะเบียนบ้าน (ถ้ามีทะเบียนบ้านเล่มจริงอยู่ด้วย ก็เอาติดไปด้วยก็ดีนะ)
  5. หลักฐานอื่นๆ (สามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ http://a.cupt.net)

** สุดท้ายแล้ว การตอบคำถามไปตามความจริงทุกอย่างถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถ้าเกิดกรรมการเขาจับได้ว่าน้องๆ โกหก สุดท้ายแล้วอาจจะโดนคัดออกเลยก็ได้ และนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีที่น้องๆ จะได้ทำความรู้จักกับกรรมการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งจะมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของน้องๆ ในอนาคตอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง