พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับใหม่ เปิดให้คนทั่วไปเสนอความเห็น เกี่ยวกับร่างกฎหมายได้

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่สนใจในสังคม เพราะ พ.ร.บ. ไซเบอร์ เป็นกฎหมายที่คุกคาม สิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพของทุกคนมากเกินไปจริงๆ แต่วันนี้เรื่องที่เราจะนำมาฝากทุกคนก็สำคัญไม่แพ้กับ พ.ร.บ. ไซเบอร์ นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของสังคม

พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับใหม่ เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็น

ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เป็นร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่ได้ถูกนำเสนอ และผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ร่างกฎหมายนี้ก็ยังคงมีข้อที่ต้องแก้ไข ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ทำการแก้ไขรอบที่ 2 ซึ่งตอนนี้ก็แก้ไขเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการก็ได้นำเอาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่นี้เข้าไปไว้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเปิดโอกาสให้กับประชาชนได้เข้าไปเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.-12 มี.ค 62 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ พ.ร.บ. การศึกษาฯ

ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ มีอะไรใหม่

จากการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปอ่าน พ.ร.บ. การศึกษาฯ ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว แสดงว่าจะต้องมีเรื่องที่ปรับแก้จากครั้งแรกที่เคยเสนอ แล้วผ่านมติ ครม. และเรื่องที่ปรับแก้ก็ค่อนข้างสำคัญ และมีผลกระทบกับบุคคลหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น การให้โรงเรียนเป็นเป้าหมายของการปฎิรูปการศึกษา, การปรับเปลี่ยนเรื่องของผู้บริหารสถานศึกษา ที่เมื่อก่อนจะมีผู้อำนวยการโรงเรียน(ผอ.) เป็นผู้บริหาร แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จะเปลี่ยนจาก ผอ. เป็นคุณครูใหญ่ และครูใหญ่ก็เป็นแค่บุคคลหนึ่งในกลุ่มของผู้บริหารโรงเรียน และเรื่องที่สำคัญอย่างใบประกอบวิชาชีพครูที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

ใจความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ

ประเด็นสำคัญที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่เปิดให้แสดงความเห็น มีสาระสำคัญหลักๆ อยู่ 3 ประเด็นคือ การปรับให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารการศึกษา, การปฏิรูปครู และการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

1. ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารการศึกษา

– กำหนดให้ สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหาร และการจัดการศึกษา ทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป ส่วนสถานศึกษาของเอกชนก็สามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำข้อกำหนดคุณภาพการศึกษาขึ้นมา เพื่อให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้ในการประเมิน อีกทั้งยังต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานภายนอก

– ทุกโรงเรียนจะต้องใช้ หลักสูตรแกนกลางที่ภาครัฐกำหนด ผสมกับหลักสูตรที่โรงเรียนทำขึ้นมาเอง โดยหลักสูตรที่โรงเรียนจัดทำขึ้นมาจะต้องสอดคล้องกับศักยภาพ และความถนัดของผู้เรียน อีกทั้งต้องสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง หลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคมได้

2. ปฏิรูปครู

– กำหนดให้ ภาครัฐมีโครงการผลิต และพัฒนาครูในระยะยาว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะมาเป็นครู โครงการนี้จะสนับสนุนให้ทุนการศึกษา และคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครู ก่อนจะส่งผู้ที่ได้รับทุนไปเรียน

– กำหนดให้ ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะ และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล

3. ตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

– กำหนดให้ มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่พิจารณา จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ การจัดอัตรากำลังคน

– กำหนดให้ มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยการแผนการศึกษาจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนานาประเทศ ผลการสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ และถ้าหากเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้ไม่สามารถดำเนินตามแผนเดิม คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติสามารถแก้ไข เพิ่มเติมแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

ที่มา : dailynews , กระทรวงศึกษาธิการ 

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง