สจล. เปิดหลักสูตร ป.ตรี ควบสองปริญญา “เกษตรนวัตกร” พลิกโฉมวงการเกษตร

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะเทคโนโลยีเกษตร จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คลอดหลักสูตรใหม่ควบ 2 ปริญญา “เกษตรนวัตกร” (AGINOVATOR) ที่มุ่งปั้นบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและวิศวกรรม มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร

หลักสูตร เกษตรนวัตกร หลักสูตร ป.ตรี ควบสองปริญญา

เพื่อพลิกโฉมวงการเกษตรไทย สู่เกษตรยุคใหม่ ตอบโจทย์โลกอนาคต ตลอดจนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตร ท่ามกลางกระแสดิสรัปชันเทคโนโลยี ภายใต้การขมวดรวมของ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการสมาร์ตฟาร์ม จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร เน้นเสริมสร้างทักษะการวางแผน การจัดการฟาร์มแบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และหลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เน้นเติมเต็มทักษะการประดิษฐ์นวัตกรรมทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับธุรกิจเกษตร นอกจากนี้ ยังได้รับการฝึกประสบการณ์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำจำนวนมาก อาทิ เบทาโกร พีทีทีอีพี อะกรินโน่

ปริญญาตรี 2 ปริญญา

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์ จากนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมฐานราก ที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

จึงเปิด หลักสูตร “เกษตรนวัตกร” (AGINOVATOR) ครั้งแรกของหลักสูตรควบระดับปริญญาตรี 2 ปริญญา ที่มุ่งปั้นบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและวิศวกรรม มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร (Agriculture Innovations) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในวงการการเกษตร สู่เกษตรยุคใหม่ (Smart Farming) ตอบโจทย์โลกอนาคต อย่างแท้จริง ตลอดจนเป็น “ข้อต่อที่หายไป” ของวงการเกษตรไทย ท่ามกลางกระแสดิสรัปชันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต ภายใต้การขมวดรวมของ 2 หลักสูตร ดังต่อไปนี้

· หลักสูตรการจัดการสมาร์ตฟาร์ม คณะเทคโนโลยีการเกษตร

เน้นการเรียนรู้ การจัดการเกษตรแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการทำฟาร์มได้อย่างเหมาะสมและหลุดจากกรอบเดิม ๆ ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ การออกแบบและการจัดการฟาร์มอย่างชาญฉลาด เทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อการทำฟาร์มสมัยใหม่ โดรนเพื่อการเกษตร ฯลฯ นอกจากนี้ยังขาดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่จะสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกและทุ่นแรงกำลังคน และสร้างมาตรฐานให้ผลผลิต ที่เป็น“ข้อต่อที่หายไป” ของวงการเกษตรไทย

· หลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์

จึงเป็นการเน้นเติมเต็มทักษะการประดิษฐ์นวัตกรรม ทางการเกษตร และวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้น ให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับธุรกิจเกษตร หรือตอบโจทย์การเป็นเกษตรนวัตกร เพื่อพลิกบทบาทจากการเป็นผู้รับนวัตกรรมเกษตรจากต่างประเทศ เป็นผู้ผลิตและส่งออกนวัตกรรมเกษตรในอนาคต ผ่านรายวิชาต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กลศาสตร์และการออกแบบเครื่องจักรกลทางการเกษตร สมบัติทางวิศวกรรมของวัสดุทางการเกษตร การวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น

ประสบการณ์การเรียนรู้กับบริษัทใหญ่

นอกจากนี้ หลักสูตรดังกล่าว ยังสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน กับวิทยากรพิเศษ รวมถึงประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านการฝึกประสบการณ์จริงที่ภาคธุรกิจชั้นนำ ภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองคณะ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายภายในด้านสายงานทางเกษตรและวิศวกรรม ให้แก่นักศึกษาตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ บริษัท เบทาโกร จำกัด (BETAGRO) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัทอะกรินโน่ เทค แอนด์เซอร์วิสเซส จำกัด (Agrinno) บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด (S.A.T.I.)

ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับ 2 ปริญญาจากทั้งสองคณะ คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาการจัดการฟาร์มอย่างชาญฉลาด คณะเทคโนโลยีการเกษตร และ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ หรือสมัครออนไลน์ TCAS รอบโควตา (Quota) ผ่านเว็บไซต์ www1.reg.kmitl.ac.th/TCAS ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2564 ในหลักสูตร “การจัดการสมาร์ตฟาร์ม” ที่เปิดรับครอบคลุม 4 โควตา ได้แก่ ประเภทโควตาเรียนดี ประเภทโควตาโรงเรียน ประเภทโควตาทายาทเกษตรกร และประเภทโควตานักเรียนบุตรบุคลากร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีเกษตร สจล. โทร. 02 329 8000 ต่อ 7172 หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial

ข่าวที่เกี่ยวข้อง