สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กางแผนงานประเมินปี 2565 เดินหน้าประเมินภายนอกสถานศึกษาตามเป้าหมาย 18,000 แห่ง ในรูปแบบออนไลน์ เตรียมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับสถานศึกษาก่อนเข้ารับการประเมิน พร้อมดึงระบบ QC100 เปิดให้สถานศึกษาได้ประเมินผู้ประเมินกลับมาให้ทาง สมศ. โดยการประเมินในปี 2565 นี้เป็นปีแรกที่ให้สถานศึกษาสามารถดาวน์โหลดหนังสือรับรองการประกันคุณภาพภายนอก (E – Certificate) ผ่านระบบ AQA นอกจากนี้ สมศ. ยังได้จัดกิจกรรมอบรมคัดเลือกผู้ประเมินภายนอกเพื่อให้เพียงพอกับเป้าหมายการประเมิน
สมศ. กางแผนประเมินสถานศึกษา ปี 65
จำนวน 18,000 แห่ง พร้อมเปิดให้สถานศึกษาดาวน์โหลด E – Certificate เป็นครั้งแรก ผ่านระบบ AQA
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการ สมศ. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมศ.ยังคงรูปแบบการประเมินผ่านระบบออนไลน์ 100% โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้ตั้งเป้าหมายจำนวนสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกไว้จำนวน 18,000 แห่ง แบ่งออกเป็น การศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 6,376 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 10,468 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทวัตถุประสงค์พิเศษ 326 แห่ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 360 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 440 แห่ง และระดับอุดมศึกษา 30 แห่ง ซึ่งการเข้ารับการประเมินยังคงยึดหลักการเป็นกัลยาณมิตรและไม่เป็นภาระแก่สถานศึกษา
แบ่งการประเมิน 2 ระยะ
โดยการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา สมศ. ได้แบ่งการประเมินเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 คือ การประเมินผลและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ที่ส่งผ่านหน่วยงานต้นสังกัดตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการประเมินโดยพิจารณาจาก SAR โดยไม่ร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากสถานศึกษา เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของสถานศึกษา ซึ่งเกณฑ์การประเมินจะพิจารณาแยกเป็นรายมาตรฐานตามการประกันคุณภาพภายใน (IQA) และสรุปผลการประกันคุณภาพภายนอกเป็น ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
ระยะที่ 2 คือ การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เมื่อสถานศึกษาเข้ารับการประเมินในระยะที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีความประสงค์ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา โดยส่งคำร้องผ่านคณะผู้ประเมินภายนอกมายัง สมศ. เพื่อให้มีการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะพิจารณาแยกเป็นรายมาตรฐานตามการประกันคุณภาพภายใน (IQA) และสรุปผลการประกันคุณภาพภายนอกเป็น ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการประเมินน้อยที่สุด เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า สมศ. ยังคงเดินหน้าประเมินภายนอก เพื่อเป็นกระจกสะท้อนคุณภาพผลการจัดการศึกษา ของสถานศึกษาทุกประเภท นำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
ประเมินออนไลน์ Facebook Live
กำหนดช่วงเวลาที่จะเข้าประเมินภายนอกสถานศึกษาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เดือนตุลาคม 2564 – มิถุนายน 2565 เป้าหมาย 12,047 แห่ง และช่วงที่ 2 เดือนมิถุนายน 2565 – กันยายน 2565 เป้าหมาย 5,953 แห่ง โดยก่อนการประเมินทาง สมศ. ได้มีโครงการส่งเสริมสถานศึกษาและประสานความร่วมมือกับต้นสังกัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ให้กับสถานศึกษาประเภทต่างๆ ที่จะเข้าประเมินในรูปแบบออนไลน์ FACEBOOK LIVE ซึ่งในปีนี้ได้จัดส่งเสริมสถานศึกษาไปแล้ว 25,450 แห่ง โดย สมศ. ยังคงดำเนินโครงการส่งเสริมฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาให้ได้ตามกลุ่มเป้าหมาย
พร้อมกันนี้ สมศ. ขอเชิญชวนสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) และ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมโครงการส่งเสริมฯ ที่จะจัดขึ้นครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 – 5 เมษายน 2565 ผ่านทาง Facebook page : สมศ.
นอกจากนี้ สมศ. ยังได้จัดอบรมคัดเลือกและพัฒนาผู้ประเมินภายนอกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการสร้างผู้ประเมินให้เพียงพอกับเป้าหมายการประเมิน ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ประเมินภายนอกให้มีความรู้ความสามารถ ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ SAR ได้อย่างถูกต้อง เข้าใจแนวทางและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก การให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษา ตลอดจนการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
“ล่าสุด สมศ.พัฒนาระบบ AQA ให้สถานศึกษาสามารถดาวน์โหลดหนังสือรับรองการประกันคุณภาพภายนอก (E – Certificate) ได้ด้วยตนเอง ภายหลังจากที่สถานศึกษาทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก ผ่านระบบ QC100 เพื่อนำผลมาปรับปรุงพัฒนาผู้ประเมินภายนอกให้มีคุณภาพต่อไป นอกจากนี้ ขอฝากถึงสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกไปแล้วนั้น ขอให้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. ในด้านต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และสำหรับสถานศึกษาที่ยังไม่ได้รับการประเมินหรืออยู่ในกระบวนการประเมินนั้น สมศ. ขอย้ำว่าไม่ต้องกังวลว่าการประเมินคุณภาพภายนอกจะสร้างภาระเพิ่ม เพราะ การประเมินของสมศ. จะมุ่งเน้นตามบริบทของสถานศึกษาและสอดคล้องตามเกณฑ์การประกันคุณภาพภายใน” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย