การประเมิน สมศ โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

ต้นแบบ โรงเรียนพระปริยัติธรรมตัวอย่าง ผลการประเมินดีเยี่ยมทั้ง 3 มาตรฐาน – สมศ.

Home / ข่าวการศึกษา / ต้นแบบ โรงเรียนพระปริยัติธรรมตัวอย่าง ผลการประเมินดีเยี่ยมทั้ง 3 มาตรฐาน – สมศ.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ประเภทโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 465 แห่ง โดยผลการประเมินคุณภาพภายนอก พบว่า ส่วนใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด พร้อมโชว์ผลสำเร็จตัวอย่าง โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาที่มีผลการประเมินดีเยี่ยมทั้ง 3 มาตรฐาน

ต้นแบบ โรงเรียนพระปริยัติธรรมตัวอย่าง

โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เป็นหนึ่งในประเภทสถานศึกษาที่ สมศ. ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพของการศึกษา โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 มีสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ประเภทโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจำนวน 465 แห่ง

โดยมีเกณฑ์การประเมิน 3 มาตรฐาน ได้แก่ 1) คุณภาพของผู้เรียน 2) กระบวนการบริหารและจัดการ 3) กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ซึ่งผลการประเมิน พบว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ได้ระดับดีทั้ง 3 มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 77.68 พร้อมเผยตัวอย่าง โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่มีผลการประเมินดีเยี่ยมทั้ง 3 มาตรฐาน ได้แก่

มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน พบว่ามีหลักฐานแสดงผลการพัฒนาที่สูงขึ้นในช่วง 3 ปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระบุเป้าหมายคุณภาพของผู้เรียน วิธีพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ มีการนำผลประเมินคุณภาพของผู้เรียนมาพัฒนาด้านผลสัมฤทธิ์ให้สูงขึ้น และมีสื่ออุปกรณ์สนับสนุนผู้เรียนอย่างต่อเนื่องชัดเจนในทุกปี อาทิ ชุดฝึกเทศน์สำหรับศาสนทายาท พระไตรปิฎก หลักสูตรบาลี พระธรรมเทศนา ธรรมกถา อัฐบริขาร 8

พร้อมกับมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า สถานศึกษามีแบบอย่างที่ดี (Best Practice) คือ โครงการสามเณรต้นแบบนักเทศน์ กิจกรรมพัฒนาศาสนทายาทตามโครงการพระราชดำริ เป็นต้น

มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ พบว่า สถานศึกษาได้กำหนดแนวทางการรักษาผลและการพัฒนาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีร่องรอยครบถ้วนตามตัวชี้วัด มีจุดเน้นบริหารจัดการคุณภาพสถานศึกษาเชิงระบบ PDCA มุ่งพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน มีการดำเนินการตามจุดเน้นซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานศึกษามีกระบวนการบริหารและการจัดการอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบ และผู้เรียนมีคุณภาพทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน โดยสถานศึกษามีแบบอย่างที่ดี (Best Practice) คือ โครงการนิเทศภายในโรงเรียน โดยใช้รูปแบบ APICE Model

มาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่าสถานศึกษามีจุดเน้นคือการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง พร้อมกับส่งเสริมให้ครูผู้สอนจัดทำแผนการเรียนรู้ผ่านการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และการจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) และแผนการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยี ครบทุกรายวิชาและทุกชั้นปี

โดยมีแบบอย่างที่ดี (Best Practice) คือโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริงของผู้เรียน และครูผู้สอนได้ดำเนินการขยายผลวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จนได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดวิชาการต่างๆ เป็นจำนวนมาก

สมศ. มีแนวทางในการส่งเสริม และกระตุ้นให้สถานศึกษา นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ โดยการให้ข้อเสนอแนะที่มีความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้ง ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษา มีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้อีกด้วย

ภายหลังจากที่โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามแล้ว ทางสถานศึกษาได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะ มาปรับใช้ในการพัฒนาครอบคลุมในทุกด้าน จนผลการประเมินคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ได้ระดับดีเยี่ยมในทุกมาตรฐาน

ทั้งด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น ด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาครู ที่มีข้อเสนอแนะให้สถานศึกษาควรพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร พัฒนาเครื่องมือการประเมิน และนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาครู เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางสถานศึกษาได้นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขโดยจัดโครงการนิเทศภายในโรงเรียน ในรูปแบบ APICE Model

รูปแบบ APICE Model

โดยมีการศึกษาสภาพและความต้องการ (Assessing needs : A) การวางแผนการนิเทศ (Planning : P) การให้ความรู้ก่อนการนิเทศ (Informing : I) การนิเทศแบบโค้ช (Coaching : C) และการประเมินผลการนิเทศ (Evaluating : E) อันส่งผลให้ครูมีการพัฒนาและนำไปสู่การจัดการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

เกิดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ที่ส่งผลให้สถานศึกษามีแบบอย่างที่ดี ในเรื่องโครงการสามเณรต้นแบบนักเทศน์ โดยมีสถานศึกษาต่างๆ และสถานศึกษาในเครือข่ายไปศึกษาดูงาน ต่อยอดและขยายผล

นอกจากนี้ยังทำให้ผลการทดสอบ O-NET ของผู้เรียนมีคะแนนสูงกว่าระดับมาตรฐานของระดับประเทศ ในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย สังคม และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

“สมศ.ได้เข้าประเมินสถานศึกษาทุกประเภท เพื่อช่วยส่งเสริมและแนะนำสถานศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ในการสร้างคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมีความเป็นสากล” ดร.นันทา กล่าว

พระครูสิริรัตนโสภิต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

พระครูสิริรัตนโสภิต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม กล่าวว่า นโยบายบริหารจัดการของทางโรงเรียน ประเภทพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีแนวการทำงานสอดคล้องการประเมินคุณภาพภายนอกของทาง สมศ. ครบทั้ง 3 มาตรฐาน คือ

1) คุณภาพของผู้เรียน 2) กระบวนการบริหารและการจัดการ 3) กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การประเมินคุณภาพภายนอก 3 มาตรฐาน

โดยเฉพาะในมาตรฐานของผู้เรียน ที่มุ่งเน้นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและเป็นศาสนทายาทที่ดี โดยการให้ศาสนทายาทของทางโรงเรียนได้รับความรู้ทั้งในด้านทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป การบริหารหลักสูตรการเรียนของทางโรงเรียนจึงแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.แผนกสามัญศึกษา มีการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ศึกษากับพระอาจารย์ที่ได้รับการอบรมมาในด้านการสอนและการใช้เทคโนโลยีต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศึกษาผ่านทางระบบออนไลน์ DLTV ซึ่งผลการทดสอบในระดับ O-NET ที่ผ่านมา พบว่าศาสนทายาทมีคะแนนสูงกว่าระดับมาตรฐานของระดับประเทศ ในวิชาภาษาไทย สังคม และวิทยาศาสตร์

2.แผนกพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของนักธรรม ธรรมวินัย และศาสนปฏิบัติ ในแผนกนี้เป็นวิชาบังคับ ที่เหล่าศาสนทายาทต้องมีการทดสอบและจบนักธรรมศึกษาชั้นเอก ถึงจะสำเร็จการศึกษา ซึ่งผลการทดสอบในระดับ B-NET ที่ผ่านมาศาสนทายาทของทางโรงเรียนได้อันดับ 1 ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

3.แผนกด้านพระบาลี ศึกษาภาษาบาลี และศึกษาด้านการเทศน์ บรรยายธรรม ที่เป็นวิชาที่นอกเหนือจากการเรียนในแต่ละวัน เปิดให้เรียนเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีความสนใจเท่านั้น

ซึ่งผลการทดสอบในระดับที่ผ่านมา ศาสนทายาทได้เป็นอันดับหนึ่งในระดับจังหวัด พร้อมกันนั้นทางโรงเรียนยังได้รับคัดเลือก จากสํานักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดทำโครงการสามเณรต้นแบบนักเทศน์ เพื่อเกิดแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ให้แก่เหล่าศาสนทายาททั้งในและนอกโรงเรียน

พระมหาปิยพงษ์ สิริวิริยวํโส รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

ด้าน พระมหาปิยพงษ์ สิริวิริยวํโส รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม กล่าวว่า ทางโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้า นอกจากจะสอนในด้านของวิชาการ ด้านศาสนา ให้แก่พระสงฆ์และสามเณรแล้ว ยังมีชั่วโมงการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการลงมือทำ พร้อมเรียนรู้ทักษะการสร้างอาชีพด้านการเกษตร ให้กับเหล่าพระสงฆ์และสามเณร ในเรื่องการปลูกผัก ดำนา เลี้ยงไก่ – ปลา ในบริเวณ “สวนของเฮา” เพื่อเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ ให้เป็นความรู้ติดตัวหลังจากต้องลาสิกขา

นอกจากนั้นในพื้นที่ดังกล่าว ทางวัดยังได้ร่วมกับชุมชน จัดทำการท่องเที่ยวด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Facebook ของทางโรงเรียน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานของรัฐ นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

Website : watphrakaeodontaosuchadaram

Facebook : โรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา