ศูนย์พัฒนาเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สมศ

สมศ. ชูโมเดลความสำเร็จการประเมินฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทักษะ-สร้างไหวพริบเอาตัวรอด

Home / ข่าวการศึกษา / สมศ. ชูโมเดลความสำเร็จการประเมินฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทักษะ-สร้างไหวพริบเอาตัวรอด

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกศูนย์พัฒนาเด็กปี 2565 พบว่า ร้อยละ 93 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ชูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของสถานศึกษาที่ได้นำข้อเสนอแนะจาก สมศ. ไปปรับใช้ พัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ ผ่านโครงการสอนเด็กเล็กว่ายน้ำ ที่ช่วยฝึกทักษะและสร้างไหวพริบการเอาตัวรอดให้แก่เด็ก หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ พร้อมสอนเทคนิคการขอความช่วยเหลือกรณีติดอยู่ในรถเพียงลำพัง

สมศ. ชูโมเดลความสำเร็จ

การประเมินฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สมศ. ได้ทำการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ไปแล้วกว่า 7,000 แห่ง ทั่วประเทศ โดยพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กกว่าร้อยละ 93 มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด (ได้ระดับดีขึ้นไปทั้ง 3 มาตรฐาน) และมีศูนย์พัฒนาเด็กอีกร้อยละ 7 ที่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกควรได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

โดยศูนย์พัฒนาเด็กที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกไปแล้วนั้น ขอให้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. ในด้านต่างๆ ไปปรับใช้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็ก ตัวอย่างเช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการดำเนินการที่ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) มาปรับใช้ ด้วยการพัฒนากิจกรรมทั้ง 3 มาตรฐานให้ตอบโจทย์ตามบริบทของชุมชนในพื้นที่ จนนำไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ที่มีหน่วยงานต้นสังกัด คณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาเด็ก ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้างเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง

จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ของ สมศ. สถานศึกษาได้รับข้อเสนอแนะ โดยสถานศึกษาควรจัดให้มีแหล่งส่งเสริมความรู้และประสบการณ์พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม รวมถึง ควรมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและระบบเฝ้าระวังเพื่อสำรวจจุดเสี่ยงต่างๆ ด้วยนั้น

สุขอนามัยของเด็ก

ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง ได้กำหนดจุดเน้น คือการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็กอย่างเป็นระบบ โดยได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ในรูปแบบโครงการเรียนว่ายน้ำ ที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต้นสังกัดในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับสร้างสระว่ายน้ำในศูนย์พัฒนาเด็ก พร้อมกับสนับสนุนบุคลากรในเทศบาลตำบลท่ากว้างที่มีความรู้ความสามารถในการว่ายน้ำมาช่วยฝึกสอนร่วมกับครูหรือผู้ดูแลเด็ก

ซึ่งจากโครงการและกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้างได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ให้แข็งแรง ได้รับการฝึกทักษะในการทรงตัวในน้ำ และทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ ทำให้เด็กสามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ และทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

โดยโครงการดังกล่าว ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพอนามัยเด็ก อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง ได้รับผลการประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จากการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

ไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้สถานศึกษาและผู้สอน

“รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก เมื่อได้เห็นสถานศึกษานำข้อเสนอแนะจากทาง สมศ. ไปปรับใช้ต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน สังคม และชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ สมศ. ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอก โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติม ให้แก่สถานศึกษาและครูผู้สอน พร้อมทั้งเน้นการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ควบคู่ไปกับการผลักดันให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ผ่านโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา”

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา สมศ.ได้ดำเนินการร่วมกับทุกฝ่าย ระหว่าง สมศ. หน่วยงานต้นสังกัด สถาบันอุดมศึกษา 28 แห่งทั่วประเทศ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้คำปรึกษา โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” แนะแนวทางการดำเนินงาน ในการจัดทำแผนพัฒนาร่วมกับสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อแก้ไขตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ

จนสถานศึกษาเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการนำผลประเมินไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถต่อยอดข้อเสนอแนะที่ได้รับ ให้เกิดประโยชน์ต่อสถานศึกษาและผู้เรียนมากที่สุด” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย

นายประหยัด ราชโสม รองนายกเทศมนตรีตำบลท่ากว้าง กล่าวว่า เทศบาลตำบลท่ากว้าง มีนโยบายในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ผู้เรียนทุกคนมีความพร้อมในด้านร่างกาย สติปัญญา การเข้าสังคม และมีการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีและสื่อที่ทันสมัย รวมถึงครูและผู้ที่ดูแลต้องมีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกับ สมศ. และได้รับคำแนะนำกลับมา

สมศ. ชูโมเดลความสำเร็จ การประเมินฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ทางเทศบาลตำบลท่ากว้างจึงได้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. มาต่อยอดพัฒนา ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้างจัดสร้างสระว่ายน้ำโดยการสนับสนุนงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ในเทศบาลตำบลท่ากว้างที่มีความรู้ความสามารถในการว่ายน้ำมาช่วยฝึกสอนร่วมกับครูหรือผู้ดูแลเด็ก รวมถึงชุดและอุปกรณ์การว่ายน้ำเพื่อให้เด็กเล็ก ได้มีการพัฒนาทางด้านร่างกายสมวัย มีอารมณ์ จิตใจที่ดี ได้ปลดปล่อยความสนุกสนาน และได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม

และในอนาคต ยังคงจะสนับสนุนพัฒนาในด้านเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) พร้อมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม (Innovation) เพิ่มเติม

· ศูนย์พัฒนาเด็กฯ ท่ากว้าง สอนเด็กเล็กเอาตัวรอด “ตกน้ำ – ติดในรถ” พร้อมออกมาตรการเข้มป้องกันการสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้น

· สมศ.เปิดผลการประเมินกลุ่มปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กปี 2565 พบว่า ร้อยละ 93 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน

นายนพดล สร้อยนาค ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลตำบลท่ากว้าง

ด้าน นายนพดล สร้อยนาค ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลตำบลท่ากว้าง กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้างเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. จึงได้จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับนโยบายของต้นสังกัด ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของทาง สมศ. ที่ให้ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และสร้างประสบการณ์พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม

โดยหลักสูตรดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทางเทศบาลตำบลท่ากว้างเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของ โครงการเรียนว่ายน้ำ โดยเป็นการสอนการว่ายน้ำที่ถูกต้องจากครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถด้านพละศึกษา ส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกายกระตุ้นให้เกิดพัฒนาด้านร่างกายที่มีความเหมาะสมกับวัย อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้และไหวพริบการเอาตัวรอดให้เด็กเล็กกรณีเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนสถานที่ในการเรียนว่ายน้ำของนักเรียนและเปิดบริการให้กับประชาชนทั่วไปในชุมชนโดยรอบ

เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณชุมชนโดยรอบมีแหล่งน้ำหลายแห่ง การสอนให้เด็กทุกคนมีทักษะทางด้านการว่ายน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำ และให้ความสำคัญ กับความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ นอกเหนือจากทักษะดังกล่าวแล้ว ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้างยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอื่นๆ โดยมีการเสริมทักษะการเอาตัวรอดด้านต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการขอความช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาทิ การฝึกทักษะขอความช่วยเหลือหากเกิดกรณีติดอยู่ในรถเพียงลำพัง

อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ฯ ได้มีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้รถตู้รับส่งทุกคัน เมื่อมาถึงศูนย์พัฒนาเด็กต้องเปิดกระจกและประตูด้านหลังเสมอ” นายนพดล กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ได้ที่ www.onesqa.or.th หรือ Facebook : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

ดร.นันทา หงวนตัด

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

นายประหยัด ราชโสม รองนายกเทศมนตรีตำบลท่ากว้าง

ที่มา www.onesqa.or.th

บทความแนะนำ