วิศวฯ จุฬาฯ ปลดล็อกการศึกษาไทย มุ่งผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูง

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเป้าหมายความร่วมมือการร่วมผลิตกำลังคน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อให้การผลิตกำลังคน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ภายใต้ข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox)

วิศวฯ จุฬาฯ ปลดล็อกการศึกษาไทย

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยาน ในการร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือ และมอบนโยบายเกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนและการสร้างความเป็นเลิศที่จำเป็นต้องสร้างกำลังคนที่มีสมรรถะสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทันกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้มองเห็นโอกาสของความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ปัจจุบันถือว่าขาดแคลนอย่างมากในตลาดแรงงาน

จึงได้จัดการศึกษาใน สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ที่แตกต่างไปจากกการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของวงการศึกษาไทย ภายใต้ Sandbox ที่คณะมองตัวเองว่า เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Platform) ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ ในหลักสูตรภายใต้ข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีทักษะที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง รวมจำนวนตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน

หลักสูตรปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง

หลักสูตรวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Computer Engineering & Digital Technology เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง ที่มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ทั้ง hard skills และ soft skills ในตัวบัณฑิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าไว้ว่าหลักสูตรนี้จะเปิดรับนิสิต 300 ที่นั่งต่อปี เริ่มรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2566 นี้ ผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย TCAS รอบที่ 1-3

ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนภาคเอกชน กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและความสามารถในการแข่งขัน การลงนามปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในวันนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนไทย ได้ร่วมกันสร้างแรงงานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัล เพื่อสนองตอบและที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง และยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่ตรงตามความต้องการของประเทศ

ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้

สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ ระบบเชิงเลข และการประมวลผลสารสนเทศ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หลักสูตรนี้ยังสามารถทำให้นิสิตมีทักษะในทุกช่วงชั้นปี ตั้งแต่ปีที่ 1 สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานกับองค์กรภาคเอกชนที่มีความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบการฝึกงานและสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคู่สัญญา และเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นิสิตจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงและสถานการณ์จริงด้วย

ความแตกต่างหลักสูตร

หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ต่างจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ปกติ ที่จะเน้นที่การฝึกงานและทำงานจริง โดยจะมีการฝึกงานทุกภาคฤดูร้อนและ ปี 4 เทอม 1 มีการปรับปรุงวิชาพื้นฐานให้เน้นเฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น และเพิ่มวิชาทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรม เช่น Data Science, AI, Cloud, IoT, Agile Software Development

และวิชาเลือกที่สอนโดยบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ คาดว่าจะเปิดรับสมัครนิสิตใหม่ในปีการศึกษา 2566 ผ่านระบบ TCAS ได้ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยและค่าใช้จ่ายเหมือนหลักสูตรภาษาไทยภาคปกติ และดำเนินการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาที่มีการผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์และออนไซต์เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ สำหรับปีการศึกษา 2566 นี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดรับสมัครนิสิตระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของเดิม และหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลนี้พร้อมกัน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ขาดแคลนอย่างมาก

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://www.cp.eng.chula.ac.th/cedt หรือที่ facebook: facebook.com/cedtengchula

ข่าวที่เกี่ยวข้อง