มีไทยด้วย!! 7 ประเทศมาแรงในระดับอุดมศึกษาของโลก

การที่เราสามารถสร้างระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีความแข็งแกร่งใหญ่โตและมีความน่าเชื่อถือได้นั้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถส่งเสริมความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากงานวิจัยของ London School of Economics ที่ได้ทำการสำรวจมหาวิทยาลัยกว่า 15,000 แห่งด้วยกัน ใน 78 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง….

7 ประเทศมาแรงในระดับอุดมศึกษา

โดยจากการสำรวจของ London School of Economics ก็พบว่า การเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยเป็นเท่าตัวในแต่ละภูมิภาคส่งผลทำให้ด้านเศรษฐกิจมีความเติบโตก้าวหน้าได้ราวๆ 4.7% ในพื้นที่ดังกล่าวภายในเวลา 5 ปี

สถาบันการจัดอันดับโลกอย่าง Times Higher Education (THE) จากประเทศอังกฤษ ได้ทำการร่วมมือกับ Center for Global Higher Education จาก UCL Institute of Education ทำการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ทางด้านวิชาการและเศรษฐกิจ เช่น อัตราการเผยแพร่ของงานวิจัย อัตราการศึกษาระดับอุดมศึกษาจีดีพีต่อหัว และพบว่ามีอยู่ 7 ประเทศที่มีปัจจัยที่แสดงถึงการขยายตัวทางด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง ซึ่งเราจะเรียกกลุ่มประเทศนี้ว่า “TACTICS” ซึ่งมาจากการผสมอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศทั้ง 7 ที่ประกอบไปด้วย ไทย, อาร์เจนตินา, ชิลี, ตุรกี, อิหร่าน, โคลอมเบีย และเซอร์เบีย

นอกจากนี้ THE ยังกล่าวต่ออีกว่า หากเราลองมองในแง่ของการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว 7 ประเทศที่ได้กล่าวมานั้นมีศักยภาพที่จะทำได้ดีในกลุ่ม “BRICS” ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ที่ถูกมองว่าเป็นดาวรุ่งมาก่อนหน้านี้เสียอีก

John Gill บก. ของ THE กล่าวว่า ทั้ง 7 ประเทศ มีปัจจัยที่พร้อมจะให้ผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างมาก ซึ่งแต่ละประเทศมีความหลากหลายทั้งในแง่มุมของจุดแข็งและจุดอ่อน เช่น ตุรกีและอิหร่าน นั้นก็เป็นประเทศที่มียอดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสูงมาก และมีการกระตุ้นเพื่อรักษาการเติบโตของจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาร่วมด้วย แต่ทั้ง 2 ประเทศก็ต้องเผชิญปัญหาทางด้านการเมือง และอิหร่านเองก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีการทุจริตในภาครัฐสูงมาก

ส่วนประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในปรรดา 7 ประเทศนี้ก็ตาม แต่ Simon Marginson ผอ.ของ Center for Global Higher Education อธิบายว่า การที่ไทยมียอดผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาราวๆ 52.5% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลยจีดีพี และในตอนนี้ไทยก็มีฐานะพอที่จะผ่านกระบวนการปรับค่าจ้างของแรงงาน เพื่อเป็นการช่วยชีวิตทำให้เราอยู่ได้ง่ายและสบายใจ และเน้นย้ำที่การศึกษาเพื่อเป็นการพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต

มาถึงในแง่ของการผลิตงานวิจัยของประเทศไทยนั้นก็มียอดที่สูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่ม TACTICS ที่มีการเติบโตกว่า 11% ในช่วงปี 2011-2015 แต่ถ้าลองเปรียบเทียบการผลิตงานวิจัยต่อหัวแล้ว ไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอยู่รั้งท้ายในอันดับ 3 จากท้ายตารางในกลุ่มประเทศ TACTICS และ BRICS

Marginson ยังกล่าวต่ออีกว่า ถึงแม้รัฐบาลของประเทศไทยนั้นจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับสถาบันการศึกษาของประเทศไทยให้ขึ้นสู่ระดับนานาชาติ หรือปรับปรุงสมรรถภาพ หรือพัฒนาสถาบันในการจัดอันดับโลกสักเท่าไหร่ แต่สถาบันต่างๆ ของไทยก็สามารถสร้างงานวิจัยได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และให้ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับนานาชาติที่มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกด้วย 

นับได้ว่าเป็นข่าวที่ดีในวงการศึกษาไทยเลยทีเดียว เพราะหลังๆ มา มักจะมีข่าวในแง่ลบมาโดยตลอด เช่น เด็กไทยทำคะแนนการสอบ PISA ได้ค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับข่าวนี้ก็ทำให้เราได้ชื่นใจกันมากขึ้น สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยที่ติดอยู่ระดับที่ค่อนข้างดี

——————————————

ที่มา
Facebook : The MATTER
timeshighereducation
weforum

ข่าวที่เกี่ยวข้อง