ไม่น่าเชื่อ!! ในอีก 10 ปีข้างหน้า “มหาวิทยาลัยไทย จำนวน 3 ใน 4 จะไปไม่รอดแน่นอน” ถ้าหากมหาวิทยาลัยต่างชาติ ยังคงเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และได้กลายเป็นประเด็กร้อนในวงการระบบการศึกษาไทยไปในทันที
อีก 10 ปี มหา’ลัยไทย 3 ใน 4 ไปไม่รอดแน่
โดยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบในคำสั่งของ คสช. ในการใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งให้ต่างชาติสามารถเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เน้นการผลิตบัณฑิตเฉพาะสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนนั้น
ทางด้าน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์* ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาว่า มหาวิทยาลัยไทย 3 ใน 4 ต้องไปไม่รอดแน่นอน ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติต้องลงมาบี้มหาวิทยาลัยไทยจนไม่มีที่ยืนอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปิดตัวลงไปในไม่ช้า เนื่องด้วยตลาดอุดมศึกษาไทยปัจจุบันนั้นมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และจำนวนเด็กที่เกิดก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อ 30 ปีที่มีเด็กเกิดใหม่ 1,000,000 คน แต่ในปัจจุบันมีเด็กเกิดประมาณปีละ 600,000-700,000 คนเท่านั้น
การแข่งขันในมหาวิทยาลัยลดลง
นอกจากนี้ ดร.อานนท์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยไทย มีที่ว่างรับนิสิต นักศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีได้ถึงปีละ 150,000 คน แต่กลับมีเด็กที่เข้าเรียนเพียง 80,000 คนเท่านั้น ซึ่งการแข่งขันในการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยไทยก็เริ่มลดต่ำลงอีกด้วย และถ้าหากมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาเปิดในเมืองไทย จะเกิดการแย่งเด็กกับมหาวิทยาลัยไทยหรือไม่ และจะสามารถไปแข่งกับประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียนได้หรือไม่ คำถามคือ “ประเทศไทยจะได้อะไร” หากอนาคต 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยเอกชนและกลุ่มมหาวิทบาลัยราชภัฏไม่สามารถอยู่รอดได้ และต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
แต่ ดร.อานนท์ ก็ยังคงเห็นด้วยในบางส่วนที่ คสช. จะทำอย่างนี้ ที่เน้นให้มหาวิทยาลัยต่างชาติมาเปิดสอนได้เฉพาะบางสาขาวิชา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อหวังกดดันและกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในไทยมีการปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมีคู่แข่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น และ ดร.อานนท์ ยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องเตรียมตัวในการปรับระบบการศึกษาให้ดีขึ้นแน่นอน เหมือนกับประเทศสิงคโปร์และนิวซีแลนด์ เพราะไม่ว่ายังไงมหาวิทยาลัยก็เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นมืออาชีพและต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่จะมีการปรับเปลี่ยนในระบบการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยไทยก็ทำได้ยาก เพราะเนื่องจากระบบการเรียนการสอนที่ยังมีความล้าสมัยอยู่ และยังมีระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยท่วุ่นวายเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องคิดหนักกันอย่างแน่นอนว่าต้องทำอย่างไรในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
* ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ หัวหน้าฝ่ายสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence อาจารย์ประจำสาขาวิชา Actuarial Sciences and Risk Management Director-Ph.D. Program in Applied Statistics คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ที่มา : www.nationtv.tv