การโอนย้ายหน่วยกิต นักศึกษา มหาวิทยาลัย

ข้อควรปฏิบัติ การโอนย้ายหน่วยกิต ทั้งในมหาวิทยาลัย และต่างสถาบัน

Home / ข่าวการศึกษา / ข้อควรปฏิบัติ การโอนย้ายหน่วยกิต ทั้งในมหาวิทยาลัย และต่างสถาบัน

สำหรับ เรื่องของการโอนย้ายหน่วยกิตในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ที่หลายๆ คนอาจจะกำลังสงสัยกันอยู่ว่า การโอนย้ายหน่วยกิจไปอีกคณะ/สาขาวิชา หรือการโอนย้ายหน่วยกิจต่างมหาวิทยาลัยสามารถทำได้หรือไม่? แล้วถ้าทำได้ จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันได้เลย

การโอนย้ายหน่วยกิต มหาวิทยาลัย

การโอนย้ายหน่วยกิต ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น จะมีการกำหนดกฏเกณฑ์การโอนหรือเทียบหน่วยกิตที่แตกต่างกันออกไป โดยที่จะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดขึ้นมาใช้ในการโอนย้ายนั่นเอง

แต่โดยรวมแล้วการโอนย้ายหน่วยกิตหรือการเปลี่ยนแปลงคณะ/สาขาวิชา นักศึกษาจะต้องดำเนินการขอโอนย้ายจากมหาวิทยาลัยเก่าหรือที่คณะให้เสร็จเสียก่อน หลังจากนั้นก็ดำเนินเรื่องต่อไปยังมหาวิทยาลัยหรือคณะที่นักศึกษาต้องการเข้าศึกษาต่อได้เลย ซึ่งทั้งนี้จะต้องมีหน่วยกิตในการเรียนตามข้อกำหนดในแต่ละมหาวิทยาลัยอีกด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเปลี่ยนแปลงโปรแกรม (การย้ายคณะและการเปลี่ยนสาขาวิชาเอก) 

1. ระเบียบเกี่ยวกับการย้ายคณะ

  • ผู้ที่พ้นสภาพนิสิต ไม่มีสิทธิย้ายคณะ
  • การย้ายคณะจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ปกครอง อาจารย์ที่ปรึกษา คณบดีเจ้าสังกัดเดิม และคณะกรรมการประจำคณะที่นิสิตขอย้ายเข้า
  • นิสิตจะขอย้ายคณะได้ ต่อเมื่อได้เรียนตามหลักสูตรในคณะเดิมมาแล้ว ไม่ต่ำกว่าสองภาคการศึกษาปกติ
  • นิสิตที่ย้ายคณะจะต้องมีเวลาศึกษาอยู่ในคณะที่ตนย้ายเข้าอย่างน้อย 4 ภาคการศึกษาปกติก่อนจบการศึกษา จึงจะมีสิทธิขอรับปริญญาหรืออนุปริญญา ทั้งนี้ยกเว้นนิสิตที่ย้ายหลักสูตรภายในคณะเดิม โดยไม่เปลี่ยนสาขาวิชาเอก และนิสิตที่กลับเข้าศึกษาในคณะเดิมแล้วย้ายไปศึกษาในคณะอื่น และย้ายกลับไปศึกษาในคณะเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนสาขาวิชาเอกที่เคยเรียนอยู่แต่เดิมในคณะเดิมนั้น
  • นิสิตจะขอย้ายเรียนจากหลักสูตรเดิม ไปเรียนหลักสูตรใหม่ในคณะเดียวกันได้ โดยความเห็นชอบของหัวหน้าภาควิชาเจ้าสังกัด และได้รับอนุมัติโดยคณบดีเจ้าสังกัด

2. ระเบียบเกี่ยวกับการย้ายสาขาวิชาเอกในคณะเดิม

  • การย้ายสาขาวิชาเอกจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากหัวหน้าภาควิชา เจ้าสังกัดสาขาวิชาเอกเดิม หัวหน้าภาควิชาเจ้าสังกัดสาขาวิชาเอกใหม่ และคณะกรรมการประจำคณะ
  • นิสิตที่ย้ายสาขาวิชาเอก จะต้องมีเวลาศึกษาอยู่ในภาควิชาที่นิสิตย้ายเข้าไม่ต่ำกว่าสองภาคการศึกษาปกติก่อนจบการศึกษา จึงจะมีสิทธิรับปริญญาหรืออนุปริญญา

การโอนย้ายหน่วยกิต/การรับโอน มหาวิทยาลัยจะพิจารณารับโอนเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. มีคุณสมบัติครบถ้วนตาม คุณสมบัติของผู้สมัคร
  2. เป็นนิสิตนักศึกษาจากสถานศึกษาที่มหาวิทยาลัยรับรอง
  3. สอบได้ครบถ้วนทุกรายวิชาตามหลักสูตรชั้นปีที่หนึ่ง ของสถานศึกษาเดิมเป็นอย่างต่ำ
  4. มีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมนับถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนการขอโอนไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือเทียบเท่า
  5. การพิจารณารับโอนให้อยู่ในดุลพินิจของคณบดีคณะที่จะรับโอน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ
  6. นิสิตรับโอน จะต้องมีเวลาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสี่ภาคการศึกษาปกติ แต่ไม่เกินสองเท่าของจำนวนภาคการศึกษาปกติที่จำเป็นต้องศึกษา เพื่อให้ได้หน่วยกิตที่คงเหลือจนครบถ้วน มิฉะนั้นจะหมดสภาพการเป็นนิสิต ในการนี้ให้ถือว่า 18 หน่วยกิตเทียบเท่ากับหนึ่งภาคการศึกษาปกติ และเศษที่เกิน 9 หน่วยกิตเทียบเป็นหนึ่งภาคการศึกษาปกติ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับนิสิตที่ต้องการไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศ/ต่างประเทศ และโอนหน่วยกิตรายวิชา โดยนิสิตจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนถึงภาคการศึกษาที่จะไปศึกษาต่างสถาบันและปฏิบัติดังนี้

ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ

  1. ดำเนินเรื่องขอไปศึกษาต่างประเทศ และการโอนหน่วยกิตที่คณะที่นิสิตสังกัด
  2. ชำระค่าเล่าเรียน ที่ สทป. ก่อนเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ
  3. กลับมาศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างน้อย 1 ภาคการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษา

ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศ

1. กรณีเรียนบางรายวิชาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ควบคู่กับการลงทะเบียนเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ดำเนินเรื่องขอไปศึกษาบางรายวิชาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น
  • ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รับทราบผลการศึกษาที่คณะที่นิสิตสังกัด

2. กรณีเรียนรายวิชาเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาอื่นตลอดภาคการศึกษา ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับนิสิต “ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ”

สำหรับการโอนย้ายหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศ นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียน ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยมหิดล 

มหาวิทยาลัยมหิดล

การรับโอนนักศึกษาจากสถาบันอื่น เป็นการรับโอนนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่มีระดับการศึกษาระดับเดียวกัน มีขั้นตอนดังนี้

1. ให้นักศึกษาที่ประสงค์จะขอโอนเข้าศึกษาในหลักสูตรบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทำหนังสือถึงคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ระบุสาขาวิชา คณะ/สถาบัน/วิทยาลัย ที่ประสงค์จะโอนเข้าศึกษาพร้อมเหตุผลที่ขอโอนเข้าศึกษาในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และต้องแนบหลักฐานประวัติส่วนตัว และหลักฐานการศึกษาซึ่งประกอบด้วยใบรายงานผลการศึกษา และรายละเอียดทั้งหมดของหลักสูตรอาทิรายวิชาที่ศึกษา คำอธิบายรายวิชาและอื่นๆ เป็นต้น

2. บัณฑิตวิทยาลัย เสนอประวัตินักศึกษาและประวัติการเรียนพร้อมรายละเอียดต่างๆ ของหลักสูตร สาขาวิชาที่ศึกษา ณ สถาบันเดิมของนักศึกษา ไปยังคณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่ นักศึกษาระบุขอโอนเข้าศึกษา เพื่อพิจารณาการรับโอนนักศึกษาเข้าศึกษา และแจ้งผลการพิจารณารับโอนเข้าศึกษาต่อคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

3. ผลการศึกษานอกระบบ และ/หรือ การศึกษาตามอัธยาศัยไม่สามารถเทียบโอนเป็นวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ได้

4. การรับและเทียบโอนหน่วยกิตจะพิจารณารับและเทียบโอนหน่วยกิตเฉพาะรายวิชาที่เรียนในระดับบัณฑิตศึกษาโดยการพิจารณาเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้

  • เป็นรายวิชาที่มีในหลักสูตรที่รับเข้าศึกษา และมีเนื้อหาเทียบเคียงกันได้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของรายวิชาที่ขอเทียบโอน
  • เป็นรายวิชาที่เรียนมาแล้วไม่เกิน 5 ปีการศึกษา นับจากปีการศึกษาที่ ลงทะเบียนรายวิชานั้น
  • เป็นรายวิชาที่ได้รับการประเมินผลได้สัญลักษณ์ไม่ต่ำกว่า B (3.00) หรือเทียบเท่าหรือไม่ต่ำกว่าคะแนนตัวอักษร S (Satisfactory)
  • จำนวนหน่วยกิตที่สามารถรับและเทียบโอนสำหรับรายวิชาที่เปิดสอนในต่างสถาบันให้กระทำได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของหน่วยกิตรายวิชาในหลักสูตร
  • รายวิชาที่เทียบและโอนหน่วยกิตจะรายงานในใบแสดงผลการศึกษาเฉพาะจำนวนหน่วยกิตและชื่อสถานศึกษาที่หลักสูตรรับโอนโดยไม่นำมาคิดแต้มเฉลี่ยสะสม

มหาวิทยาลัยรังสิต 

มหาวิทยาลัยรังสิต

เทียบโอนต่างสถาบัน

เอกสารที่ใช้ในการเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตมาจากต่างสถาบัน

  1. แบบใบคำร้อง มรส.41 (รับได้ที่สำนักงานทะเบียน)
  2. ใบรายงานผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาเดิมฉบับจริง (Transcript) จำนวน 1 ฉบับ
  3. คำอธิบายรายวิชาที่ได้ศึกษามาจากสถาบันเดิมที่มีตราสถาบันเดิมประทับรับรอง 1 ชุด

ขั้นตอนการเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตจากต่างสถาบัน

  1. กรอกแบบใบคำร้อง มรส.41 ให้ครบถ้วน
  2. นักศึกษาส่งต้นฉบับใบคำร้องพร้อมใบรายงานผลการเรียนและคำอธิบายรายวิชาที่คณะที่ขอเข้าศึกษา ภายใน 30 วัน หลังจากเปิดภาคการศึกษาที่เข้าศึกษา
  3. คณะจะเป็นผู้ดำเนินการส่งต้นฉบับที่อนุมัติเทียบวิชา และโอนหน่วยกิตต่อสำนักงานทะเบียน
  4. การชำระค่าธรรมเนียมเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 200 บาท โดยให้ชำระที่แผนกการเงินหลังจากสิ้นสุดภาคการศึกษาที่ยื่นเรื่องขอเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตและนำสำเนาใบเสร็จส่งสำนักงานทะเบีย

เกณฑ์การขอย้ายคณะหรือสาขาวิชา

1. ต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะที่เกี่ยวข้องโดยนักศึกษาที่ขอย้ายคณะหรือสาขาวิชาต้องได้ศึกษาอยู่ในคณะหรือในหลักสูตรสาขาวิชาเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษาทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ลาพักหรือถูกให้พัก

2. การย้ายคณะหรือสาขาวิชา ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดกำหนดการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่จะเริ่มเรียนในหลักสูตรสาขาวิชาใหม่

3. นักศึกษาที่ได้รับการอนุมัติให้ย้ายคณะหรือสาขาวิชา

  • จะมีสถานภาพนักศึกษาคงเดิม คณะหรือภาควิชาใหม่ของนักศึกษาจะโอนผลการศึกษาเดิมมาทั้งหมดโดยไม่เปลี่ยนแปลงและการคำนวณแต้มระดับขั้นเฉลี่ยสะสม ให้นำผลการศึกษาเดิมทุกรายวิชามาใช้ในการคำนวณด้วย แต่การคิดหน่วยกิตสะสมตามหลักสูตรให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตรสาขาวิชาใหม่เท่านั้น หรือ
  • เทียบโอนรายวิชาตามประกาศมหาวิทยาลัยรังสิตเรื่องการเทียบโอนผลการเรียนระดับปริญญา พ.ศ.2546 เป็นรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป วิชาเฉพาะด้าน วิชาเอก วิชาแกน หรือวิชาชีพ และหมวดวิชาเลือกเสรีที่ได้ระดับคะแนนตัวอักษรไม่ต่ำกว่า C หรือค่าระดับคะแนน 2.00 หรือเทียบเท่า

เกณฑ์การขอเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตจากต่างสถาบัน

ระดับปริญญาตรี

  1. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาในหลักสูตรระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าที่ทบวงมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง
  2. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่ขอเทียบ
  3. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับคะแนนตัวอักษร C หรือแต้มระดับคะแนน 2.00 หรือเทียบเท่า
  4. นักศึกษาจะได้รับการเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตได้ไม่เกินสามในสี่ของจำนวนหน่วยกิตรวม ที่ต้องศึกษาในแต่ละหลักสูตร / สาขาวิชา
  5. รายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่เทียบโอนจากต่างสถาบันอุดมศึกษาจะไม่นำมาคำนวณแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
  6. นักศึกษาจะต้องใช้เวลาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 1 ปีการศึกษา จึงจะมีสิทธิ์สำเร็จการศึกษา
  7. ในกรณีที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรใหม่จะเทียบโอนนักศึกษาเข้าศึกษาได้ไม่เกินกว่าชั้นปีและภาคการศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้มีนักศึกษาเรียนอยู่ตามหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว

** หมายเหตุ : วิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ให้ใช้หลักเกณฑ์ตาม ประกาศเพิ่มเติมของคณะ

ระดับบัณฑิตศึกษา

  1. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หรือเทียบเท่าที่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง
  2. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่ขอเทียบ
  3. เป็นรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับคะแนนตัวอักษร B หรือแต้มระดับคะแนน 3.00 หรือเทียบเท่า หรือระดับคะแนนตัวอักษร S
  4. นักศึกษาจะได้รับการเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตได้ไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วย
    กิตรวมที่ต้องศึกษาในแต่ละหลักสูตร / สาขาวิชา
  5. รายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่เทียบโอนจากต่างสถาบันอุดมศึกษาจะไม่นำมาคำนวณแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม
  6. นักศึกษาจะต้องใช้เวลาศึกษาในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1ปีการศึกษา และลงทะเบียนเรียนรายวิชาหรือวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรที่เข้าศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
  7. ในกรณีที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรใหม่ จะเทียบโอนนักศึกษาเข้าศึกษาได้ไม่เกินชั้นปีและภาคการศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้มีนักศึกษาเรียนอยู่ตามหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

หลักเกณฑ์การเทียบวิชาและโอนหน่วยกิต ในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอเทียบโอนผลการเรียน

  1. เป็นหรือเคยเป็นนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าทั้งในและต่างประเทศ ในหลักสูตรที่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง
  2. ไม่เป็นผู้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ในคณะและสาขาวิชาของสถาบันการศึกษาเดิม เนื่องจากผลการการศึกษาเฉลี่ยตลอดการศึกษาต่ำกว่า 2.00

หลักเกณฑ์การเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิต

ระดับปริญญาตรี

  1. เป็นรายวิชาในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง
  2. เป็นรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาที่ขอเทียบ
  3. เป็นรายวิชาที่สอบไล่ได้ระดับคะแนนตัวอักษรไม่ต่ำกว่า “C” หรือแต้มระดับคะแนน 2.00 หรือเทียบเท่า
  4. สามารถเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตได้ไม่เกิน ½ ของจำนวนหน่วยกิตรวมของ หลักสูตรที่รับโอน หรือไม่เกิน 72 หน่วยกิต
  5. รายวิชาที่เทียบโอนจากต่างสถาบันอุดมศึกษา หรือรายวิชาที่เทียบโอนจากโครงการ นักศึกษาแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ให้แสดงผลการศึกษาของรายวิชาที่เทียบโอนได้เป็นระดับคะแนนตัวอักษร “TR” โดยแยกรายวิชารับโอนไว้ส่วนหนึ่งต่างหาก และไม่นำมาคำนวณแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

ระดับบัณฑิตศึกษา

  1. เป็นรายวิชาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หรือเทียบเท่าที่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง
  2. เป็นรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาที่ขอเทียบ
  3. เป็นรายวิชาที่สอบไล่ได้ระดับคะแนนตัวอักษรไม่ต่ำกว่า “B” หรือแต้มระดับคะแนน 3.00 หรือเทียบเท่า
  4. สามารถเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตได้ไม่เกิน 1/3 ของจำนวนหน่วยกิตรวมของ หลักสูตรที่รับโอน
  5. รายวิชาที่เทียบโอนจากต่างสถาบันอุดมศึกษา หรือรายวิชาที่เทียบโอนจากโครงการ นักศึกษาแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ให้แสดงผลการศึกษาของรายวิชาที่เทียบโอนได้เป็นระดับคะแนนตัวอักษร “TR” โดยแยกรายวิชารับโอนไว้ส่วนหนึ่งต่างหาก และไม่นำมาคำนวณแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม

——————————

อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า “การโอนย้ายหน่วยกิตในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น มีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับข้อควรปฏิบัติ ข้อกำหนด” ดังนั้น น้องๆ นักศึกษา คนไหนที่ต้องการโอนย้ายคณะ/สาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัย ก็ต้องทำการตรวจสอบข้อกำหนดให้ดีเสียก่อนว่า ในคณะที่เราต้องการย้ายมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง? แล้วมีการเทียบโอนหน่วยกิตในแต่ละวิชาอย่างไร? นอกจากนี้แล้วเรายังต้องลงเรียนวิชาอะไรบ้าง ถ้าหน่วยกิตไม่ตรงกัน

ข้อมูลจาก : www.reg.chula.ac.thwww.ku.ac.thwww.grad.mahidol.ac.thregistrar.rsu.ac.th, www.admission.au.edu

บทความที่เกี่ยวข้อง