หากในระดับมัธยมศึกษามีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ นี่ก็คงเป็นรางวัลใหญ่จากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับอุดมศึกษา ที่นิสิตบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) BBA : Bachelor of Business Administration (International Program) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจถึง 2 รายการ Heavener International Case Competition 2018 (HICC) ณ มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และ John Molson Undergraduate Case Competition 2018 (JMUCC) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยเป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาครองทั้ง 2 รางวัล ชนะเหนือคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับท็อปของโลก อย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สเปน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฮ่องกง, สิงคโปร์ เป็นต้น โดยนิสิตเหล่านี้ได้เผยเบื้องหลังความสำเร็จในการคว้าชัยชนะในครั้งนี้
2 รางวัลใหญ่ทางวิชาการ ระดับนานาชาติ
จักรพจน์ จิตรวรรณภา และ วรรณวเรศ บุญคง นิสิตชั้นปีที่ 4 บริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนร่วมแชร์ประสบการณ์การแข่งขัน Heavener International Case Competition 2018 (HICC)
โดย จักรพจน์ เผยว่า
ความสำเร็จของชัยชนะ คือ ทีมเวิร์ค
“เบื้องหลังความสำเร็จของชัยชนะในครั้งนี้ คือการทำงานเป็นทีมเวิร์ค พวกเราเก็บตัวฝึกซ้อมโดยจำลองสถานการณ์เหมือนเป็นการแข่งขันจริงเป็นเวลา 2 เดือน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา อ.ดร.นัท กุลวานิช คอยดูแลให้ลองแก้ไขโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ ..ซึ่งพวกเราจะแบ่งหน้าที่กันตามที่แต่ละคนถนัด มีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล คือ ผม คิดกลยุทธ์โดย วรรณวเรศและพริมา ไชยวรุตม์ และฝ่ายการเงินเป็น บุญชนะ ศวัสตนานนท์ ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบ 5 ชั่วโมง นำเสนอ 5 นาที ถามตอบกับคณะกรรมการ 10 นาที และแบบ 30 ชั่วโมง นำเสนอ 10 นาที และถามตอบ 10 นาที โดยก่อนจะเดินทางประมาณ 1 เดือน ทางการแข่งขันจะประกาศชื่อบริษัทที่เราจะต้องแก้ไขปัญหาทางธุรกิจโดยที่ยังไม่รู้โจทย์ ซึ่งบริษัทแรกเป็นบริษัทติวเตอร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับออนไลน์ และบริษัทเคส 30 ชั่วโมง เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เราเตรียมความพร้อมได้ก่อนการเดินทาง คือการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ ให้มากที่สุด ศึกษาโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัท พร้อมทั้งศึกษารูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มีความใกล้เคียงกันเพื่อเป็นแนวทาง
อ่านโจทย์ ปรึกษา ให้เข้าใจตรงกัน
ด้าน วรรณวเรศ กล่าวต่อว่า “เมื่อได้รับโจทย์การแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการแข่งแบบ 5 ชั่วโมงหรือ 30 ชั่วโมง สิ่งแรกที่พวกเราจะทำ คือ การอ่านโจทย์และปรึกษาร่วมกันเพื่อให้ทุกคนนั้นเข้าใจตรงกัน จากนั้นจะระดมความคิดวิเคราะห์สถานการณ์ที่บริษัทนั้นๆ กำลังเผชิญเพื่อหากลยุทธ์ที่จะใช้อย่างเหมาะสม โดยในแบบ 5 ชั่วโมงนั้นจะต้องคิดให้เร็ว ทำสไลด์ผลงานให้ไว ในขณะที่แบบ 30 ชั่วโมง ขั้นตอนการทำงานจะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่จะสามารถลงรายละเอียดได้ลึกกว่า เช่นมีงานวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยสนับสนุนสิ่งที่พวกเราคิดวิเคราะห์ รวมถึงตัวเลขทางด้านการเงินมาเป็นตัวสนับสนุนว่า สิ่งที่พวกเราคิดทำนั้นสามารถทำได้จริง ทั้งด้านงบการลงทุน ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ และผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยจะมีตัวชี้วัดเป็นผลทางการเงิน”
ชัยชนะคือ การตอบโจทย์ที่ครอบคลุมกว่า ปฏิบัติได้จริง
ส่วน พริมา กล่าวเสริมว่า “ชัยชนะที่ได้รับในครั้งนี้เกิดจากการทุ่มเท การเตรียมตัวฟิตซ้อมที่หนัก จึงทำให้เมื่อเดินทางไปแข่งขัน ไม่ได้ไปเหมือนคนตาบอด ซึ่งทุกทีมที่แข่ง มีวิธีคิด การทำงาน การนำเสนอที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่คิดว่าเรานั้นแตกต่างจนทำให้เราได้รับชัยชนะ คือการตอบโจทย์ที่ครอบคลุมกว่า ปฏิบัติได้จริง โดยมีดัชนีชี้วัด ภายใต้การนำเสนอที่เข้าใจง่าย และยังได้คาดคะเนคำถามจากคณะกรรมการ โดยเตรียมสไลด์สนับสนุนไว้พร้อม ประสบการณ์จากการไปแข่งขันในครั้งนี้ทำให้พวกเราได้เปิดโลกเห็นมุมมองแนวทางธุรกิจของคนหลายๆ ชาติ ที่ผ่านมาเราเรียนทฤษฎีในห้องเรียน แต่การแข่งขันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเราเรียนมานั้นสามารถใช้ได้จริงๆ”
ด้าน รัชกาญจน์ สุธรรมจริยา นิสิตชั้นปีที่ 4 บริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมจากการแข่งขัน John Molson Undergraduate Case Competition 2018 (JMUCC) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เผยว่า “ก่อนการแข่งขันพวกเรามีเวลาเตรียมตัวฝึกแก้ไขปัญหาทางธุรกิจเพียงเดือนเศษๆ โดยฝึกการแก้ไขโจทย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่พวกเราไม่ถนัด เช่น อุตสาหกรรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็น 3 เคสสั้นที่ให้เวลาในการทำ 3 ชั่วโมง และ 1 เคสยาวกับระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งโจทย์จะได้รับในวันแข่งขัน เป็นการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ที่มีทั้งด้านการตลาด, เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล ซึ่งการทำเคสระยะสั้น 3 ชั่วโมง ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ทำให้พวกเราจะต้องช่วยกันวิเคราะห์เพื่อหากลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด ส่วนเคสยาวนั้นโจทย์ที่พวกเราได้รับเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นเคสที่พวกเราถนัดกว่า หาข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนสิ่งที่พวกเราวางแผนไว้ได้มากขึ้น รวมถึงมีเวลาในการลงรายละเอียดเรื่องของสตอรี่ไลน์ วิธีการนำเสนอผลงานอย่างไรให้คณะกรรมการเข้าใจได้ง่าย มีความน่าสนใจ พร้อมทั้งซ้อมการนำเสนอ ซึ่งการแข่งขันทั้ง 2 รูปแบบ ทีมของพวกเราจะช่วยกันคิดวิเคราะห์และหากลยุทธ์ รวมถึงดูงบการเงิน โดยมีผมซึ่งเป็นหัวหน้าทีมดูภาพรวมทั้งหมด
ความท้าทายของการแข่งขัน…
ความท้าทายของการแข่งขันนี้ คือความกดดันที่มีอยู่ในการแข่งขันแต่ละแบบ อย่างเคสสั้นความกดดันอยู่ที่ระยะเวลาที่สั้น ทำให้ต้องคิดหากลยุทธ์ให้เร็ว และต้องเป็นกลยุทธ์ที่สามารถปฏิบัติได้จริง ในขณะที่เคสยาวความกดดันจะอยู่ที่เนื้อหาที่ต้องลงรายละเอียดเชิงลึกที่ต้องทำได้จริง และต้องแตกต่างจากทีมอื่นๆ พร้อมทั้งต้องนำเสนอให้น่าสนใจอีกด้วย การแข่งขันในครั้งนี้ไม่เพียงสอนให้พวกเรารู้จักการทำงานร่วมกันท่ามกลางความกดดันที่รุมเร้า แต่ยังทำให้ได้รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองและเพื่อนๆ ในทีม ซึ่งในการแข่งขันทุกคนต้องเหมือนเป็นคนๆ เดียวกัน ต้องใช้ความถนัดที่เรามีมาช่วยกลบจุดอ่อนที่เพื่อนเรายังขาด นอกจากนี้ยังเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้พวกเราได้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านบริษัทธุรกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก และมีซีอีโอระดับโลกมาร่วมฟังการนำเสนอผลงานของพวกเรา ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากจริงๆ”
รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Heavener International Case Competition 2018 (HICC) ณ มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และ John Molson Undergraduate Case Competition 2018 (JMUCC) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ทั้ง 2 รายการนี้ ไม่เพียงจะเป็นเครื่องยืนยันที่สร้างความภูมิใจแก่ผู้เข้าแข่งขัน หรือสถาบันการศึกษา แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าเด็กไทยนั้นมีความรู้ ความสามารถ เก่งกาจไม่แพ้เด็กชาติใดในโลกเช่นกัน