สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ KMITL เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาของไทยที่มีชื่อเสียงอันเป็นเลิศด้านการเรียนการสอนในคณะ/สาขาวิชาต่างๆ ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมาให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา สจล. ก็ได้ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบการศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชีย จากการจัดอันดับโดย Times Higher Education (THE) อีกด้วย
ลาดกระบัง เปิดตัว 5 วิทยาลัยใหม่น่าเรียน
ดังนั้น สจล. จึงได้มีการวางรากฐานหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวเข้าสู่อันดับ 1 ของสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สจล. ได้ทำการเปิดตัว 5 วิทยาลัยใหม่เพื่อตอบโจทย์การเรียนการสอนในโลกยุคดิจิทัลให้มีความทันสมัย และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โดย 5 วิทยาลัยที่ได้ทำการเปิดตัวใหม่ มีดังต่อไปนี้
1. วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก
สำหรับการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering – SESE) ขึ้นมานั้น เพราะในปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และด้านพลังงาน ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญของไทยและทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในหลายๆ ศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งก็รวมไปถึงการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะต้องรู้วิธีในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่นักศึกษาที่เรียนจบทางด้านนี้ไปสามารถที่จะเข้าทำงานได้ทั้งบริษัทของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรบัณฑิตศึกษาประกาศนียบัตร จะเริ่มเปิดสอนในปี 2561
ทั้งนี้ สจล. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนด้วย เช่น MIT, USA, National Space Science Center ประเทศจีน และกรมฝนหลวง เป็นต้น
2. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ
วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry – IAAI) เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความทันสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้ตลาดแรงงานต้องการนักบินและบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศกรรมการบินเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นการเรียนการสอนของวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ จึงได้มีการเรียนการสอนทั้งระยะสั้นไปจนถึงหลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต นอกจากหลักสูตรนี้จะเป็นการส่งเสริมและผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทางด้านวิศกรรมการบินแล้วนั้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริมด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการผลิต ซ่อม และบำรุงอากาศยานในภูมิภาค โดย สจล. ได้มีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานด้วยกัน เช่น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ในการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลอากาศยาน, กองทัพอากาศ ร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ และสมาคมนักบินไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ในการพัฒนาศักยภาพของนักบิน เป็นต้น
3. วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ (International Medical College, KMITL) เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้ประยุกต์เอาความรู้ทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีมารวมเอาไว้ด้วยกัน โดยทาง สจล. มีเป้าหมายที่จะสร้าง “แพทย์นวัตกรรม” ที่เป็นมิติใหม่ในการศึกษาไทยขึ้นมา ซึ่งแพทย์นวัตกรรมเป็นหลักสูตรที่จะสอนให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิศกรรมและเทคโนโลยี ที่จะไม่ใช่แค่วินิจฉัยและรักษาคนได้เพียงเท่านั้น แต่นักศึกษาที่จบออกไปเป็นแพทย์จะต้องสามารถที่จะพัฒนาและผลิตเครื่องมือในการรักษาคนไข้ขึ้นมาใหม่ได้ด้วย
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจะทำการเปิดรับสมัครนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษาหน้า โดยในระยะแรกนักศึกษาแพทย์จะใช้โรงพยาบาลสิรินธร (ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย) ในการเรียนและการฝึกปฏิบัติก่อน ส่วนในอนาคตจะมีการสร้างโรงพยาบาลของสถาบันขึ้นมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและให้บริการกับประชาชนทั่วไป
4. สำนักวิศวกรรมสังคีต
สำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering – IMSE) ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2557 สจล. ได้ทำการเปิดตัวหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกและเป็นแห่งเดียวของไทย โดยในขณะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยได้มีการเติบโตและมีความบทบาทสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก จึงทำให้ สจล. ได้มีการพัฒนาและเปิดสอนในหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการผสมผสานศาสตร์ด้านวิศกรรมและด้านดนตรี ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาที่สนใจเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ สจล. จึงได้ทำการยกระดับสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ให้เป็นสำนักวิศกรรมสังคีต เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ทั้งในด้านการผลิตผลงานเพลง จัดคอนเสิร์ต และงานอื่นๆ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างที่ต้องนำความรู้ทางด้านเสียงเข้ามาร่วมออกแบบด้วย ฯลฯ
5. โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า
โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (King Mongkut’s International Demonstation School – KMIDS) เป็นโรงเรียนนานาชาติที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี และเน้นให้นักเรียนมีความเชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์ นอกจากนักเรียนจะได้เรียนรู้ทางด้านวิชาการแล้ว ที่โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้ายังได้มีการบูรณาการวิชาภาษาศาสตร์ มนุยศาสตร์ ศิลปะ และกีฬา อีกด้วย
ทั้งนี้ KMIDS ได้มีการเปิดรับนักศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา Grade 7 (ม.1) และ Grade 10 (ม.4) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปีการศึกษา 2560 นอกจากนี้ KMIDS ยังได้มีแผนที่จะเปิดรับระดับประถมศึกษาและปฐมวัยในอนาคตด้วย
น้องๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ www.kmitl.ac.th