เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากการหารือร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น เกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สรุปออกมาได้ดังนี้
เปลี่ยน! สสวท. ออกข้อสอบโอเน็ตแทน สทศ.
โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เคยผ่านมา ซึ่งต่อไปให้ สสวท. เป็นผู้กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดในการออกข้อสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สพฐ. และ สสวท. จะเป็นผู้ออกข้อสอบต่อจากนี้
หลังจากนั้นให้ สพฐ. และ สสวท. ไปวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่มีอยู่ว่าตัวชี้วัดใดเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีและตัวชี้วัดใดเหมาะกับเด็กที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากที่สุด
นายสัมพันธ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ยังกล่าวต่ออีกว่า สสวท. จะต้องไปกำหนดว่าออกอะไร สัดส่วนเท่าไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในเมษายนนี้ เพื่อ สทศ. จะได้นำขึ้นเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ให้โรงเรียนและนักเรียนได้ทราบเพื่อเตรียมตัว โดยจะนำไปใช้ในการสอบโอเน็ตของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 ในปีการศึกษา 2561 ต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องคะแนน O-NET ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย เนื่องจากผลคะแนนที่ประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มี 2 วิชาที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มากนัก คือ วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาอังกฤษ
พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเสริมอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างหนัก โดยที่ตอนนี้เรามีข้อมูลจาก สทศ. ครบหมดแล้วว่า โรงเรียนใดเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องรับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งวิธีแก้ไขจะไม่ใช่วิธีแบบปูพรม แต่จะต้องมีการลงไปวิเคราะห์หาถึงสาเหตุของโรงเรียนที่มีคะแนนต่ำ ในปีนี้ต้องเอาข้อมูลที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ
——————————-
ที่มา : matichon