เรื่องเล่าประทับใจ : สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งเป็นนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชสมภพในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระเทพฯ นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ และดนตรีไทย วันนี้แคมปัส-สตาร์ จะพาไปชมภาพเก่าหาดูยาก เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา พร้อมประวัติทางการศึกษาคร่าวๆ มาให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งเป็นนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

สมเด็จเจ้าฟ้าองค์แรก ที่ทรงศึกษามหาวิทยาลัยในไทย

ประวัติการศึกษา

เมื่อปี พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ

หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงเล่าถึงเมื่อครั้งที่พระองค์เลือกที่จะสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๖ โดยข้อความนี้เผยแพร่ออกมาผ่านเฟซบุ๊กชื่อ หอประวัติจุฬาฯ อันเป็นพระราชนิพนธ์ ของพระองค์  ในบทความที่ชื่อว่า “รำลึกถึงเทวาลัยถิ่นอักษร” ที่ลงพิมพ์วารสารจามจุรี มีนาคม ๒๕๔๐

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ข้าพเจ้าสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เหตุผลใหญ่ที่สอบเข้าคณะนี้ก็คงเหมือนคนอื่นๆ คือเป็นคณะที่คะแนนสูงสุด อีกประการหนึ่งในช่วงที่สอบเข้าข้าพเจ้าไม่ค่อยสบายจึงเลือกคณะที่ไม่ต้องสอบหลายวิชา และไม่ต้องสอบวิชาพิเศษ ถ้าสบายดีคงต้องเลือกคณะที่มีวิชาพิเศษ เช่น โบราณคดี หรือ ครุ-พละเอาไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคงต้องติดอักษรฯ เพราะคะแนนออกมาไม่เลวนัก จำได้ว่า เมื่อประกาศผลการสอบ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “ที่หนึ่งตกอันดับ” เนื่องจากข้าพเจ้าสอบชั้น ม.ศ. ๕ ได้ที่ ๑ แต่มาเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้เป็นที่ ๔”

ห้องเรียนสำหรับนิสิตใหม่ คือห้อง ๒๘ บนชั้นสองของตึกอักษรศาสตร์ ๑ นิสิตทุกคนนั่งเรียงตามลำดับตัวอักษร ทูลกระหม่อมประทับนั่งกลางห้อง ร่วมกับ “ส.เสือ” อื่นๆ

เมื่อเรียนปี 1

“การเรียนปีที่ ๑ เป็นปีที่ข้าพเจ้าคิดว่าเรียนลำบาก แต่ก็ตื่นเต้น ท้าทาย และสนุกสนาน เพราะว่าจะต้องทำความรู้จักอาจารย์และเพื่อนใหม่ๆ มากมาย ทั้งเพื่อนในคณะและต่างคณะ ทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน บางทีจำไม่ได้ แต่ก่อนเคยอยู่โรงเรียนจิตรลดาซึ่งมีนักเรียนน้อย รู้จักกันหมดทุกคน นับว่าต้องปรับตัวอยู่มาก มานึกย้อนหลังแล้วรู้สึกว่า ครูบาอาจารย์เพื่อนฝูง เขาก็อดทนกับข้าพเจ้าพอใช้ ข้าพเจ้ามักพูดช้าตะกุกตะกัก เขาก็ยอมฟังดี นานๆ ก็ว่าเอาบ้างว่าพูดแบบนี้น่ารำคาญ ต่อมาข้าพเจ้าพูดดีขึ้นก็ชมเชย

ครั้นพูดได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าเลยไม่ยอมหยุดพูด กลายเป็นคนพูดมาก ทุกชั่วโมงต้องหาเรื่องพูดในห้อง ซักถามอาจารย์บ้าง ตอบคำถามบ้าง การพยายามจดจำชื่ออาจารย์และเพื่อนๆ ให้ได้ บางทีก็ยากสำหรับผู้มาใหม่ อาจารย์บางท่านมีหลายชื่อ ทั้งชื่อจริงและชื่อที่นิสิตตั้ง ก็ต้องจำให้ได้ทั้งสองชื่อหรือหลายชื่อ เมื่อพี่ใช้ให้ไปส่งหนังสือตามโต๊ะจะได้ส่งถูก สำหรับเพื่อน ในวันแรกๆ ก็จำไม่ได้ เช่น ฝาแฝด ป้อม-อ้วน มาคนละทีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นป้อมใครเป็นอ้วน…”

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98

ระดับปริญญาโท

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

บัตรประจำตัวนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ”
รหัสประจำพระองค์ 004/2520 สาขาจารึก (จารึกภาษาตะวันออก)

ตัดสินพระทัย

พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย”

เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น

พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

รวมภาพ พระเทพฯ เมื่อครั้งทรงศีกษาในมหาลัยไทย

ขอบคุณรูปภาพจาก : Pichet Peak. , เฟซบุ๊ก Chut Damrong , พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพรัตนฯ ภาค 1 , -เฟซบุ๊กเพจ เรารัก “สมเด็จพระเทพฯ” : Our BeLoved Princess Maha Chakri Sirindhorn, -สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับ ๓๐ ปีจุฬาฯ เทวาลัย
– pantip.com/topic/31002007 , www.sirindhorn.net

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง