เทรนด์การเรียนแฟชั่นสุดจี๊ด ของนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มทร.กรุงเทพ

ร้อนนี้ เรามาอัพเดทสีสันเทรนด์การเรียนแฟชั่นสุดจี๊ด ที่เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ต้นทางยันออกมาเป็นรูปสำเร็จ จากสองหนุ่มสาว ตีตี้-วรัญตรี ฉลาดสุนทรวาที และเอ็ม-พงศกร กุมภวา นักศึกษาปี 4 สาขาวิชาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มทร.กรุงเทพ

การเรียนในหลักสูตรออกแบบแฟชั่น

ตีตี้ : เริ่มแรกปีหนึ่งเรียนพื้นฐาน Drawing ทั่วไปก่อน พอปีสองจะเริ่มเรียนพวกโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก แล้วก็แยกเป็นสองเอก ซึ่งหนูเลือกเอกสิ่งทอ คือสิ่งทอจะไม่ได้ทำชุด ตัดเย็บจริงๆ แต่จะเป็นการออกแบบ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับผ้า เรียนรู้เรื่องผ้า ซึ่งก็ยากตรงการเขียนโปรแกรม Rhino เพราะไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน ไม่เหมือน Photoshop หรือ Illustration ที่เรายังพอมีพื้นฐานมาบ้าง แต่เราก็ต้องเริ่มฝึก เพราะที่นี่จะเน้นการปฎิบัติเพื่อจบไปสามารถทำงานได้จริงๆ ทำจริง ทำเป็น

เอ็ม : อย่างของผมจะเลือกเป็นเอกแฟชั่น ต้องมาเริ่มทำแพทเทิร์นในกระดาษก่อน จนไปถึงกระบวนการตัดเย็บทั้งหมด ผมเป็นผู้ชายมันก็ยากในการทำแพทเทิร์น ออกแบบ แต่พอเรียนไปมันก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปว่าเราก็ทำได้ ผู้ชายก็เรียนแฟชั่นได้ คนเรามันเรียนรู้กันได้ทุกอย่าง แล้วคือมันไม่ได้มีแค่วิชาตัดเย็บ แต่ยังมีวิชาอื่นๆ ที่เราชอบอย่างการถ่ายภาพแฟชั่น หรือวิชาการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

เทคนิคการเรียนและหาแรงบันดาลใจในชิ้นงาน

เอ็ม : สำหรับการเรียน อย่างแรกคือเราต้องอดทนกับมัน ถ้าใจเราอดทนอยู่กับมันได้ มันก็ทำได้ เพราะมันค่อนข้างเหนื่อย มีงานทำตลอด ยิ่งปี 4 ก็จะหนักเป็นพิเศษกับโปรเจคจบ ส่วนสไตล์ของผม เป็นคนไม่ได้แฟชั่นจ๋ามากนัก เน้นสไตล์เป็นตัวของตัวเอง อย่างผมชอบพวกแมลง เลี้ยงแมลง เลี้ยงสัตว์ แล้วก็ชอบสไตล์ฮิปฮอป ก็จะเอาทั้งสองอย่างมาเป็นแรงบันดาลใจผสมผสานกันได้

ตีตี้ : วิธีหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ก็มีไปดูงานนอกสถานที่ หาข้อมูลในเน็ตบ้าง เวลาเราปฏิบัติเราจะได้รู้ว่าเราถนัดแบบไหน อย่างหนูมีเรียนผ้าถักด้วย ผ้าถักจะสอนเหมือนกันหมด แต่พอทำไปทำมา เราก็จะเริ่มรู้ว่าเราต้องหลบตรงไหน พันตรงไหน เราจะทำคล่องขึ้น พอทำสอบที่เป็นทฤษฎี เราก็จะนำสิ่งที่ปฏิบัติมาตอบได้ อย่างโปรเจคจบของหนูก็จะทำเกี่ยวกับธรรมชาติค่ะ การนำใบกล้วย ใบตองมาทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกระเป๋าหรือหมวกได้ จบไปแล้วก็อยากจะเอาโปรเจคนี้ไปทำแบรนด์ต่อด้วย

ชาวแก๊งค์หนุ่มสาวสายแฟตัวจี๊ด

ตีตี้ : สิ่งทอไม่ค่อยแต่งตัว เน้นสไตล์เรียบง่ายมินิมอล ส่วนคำฮิตติดปากของพวกเราชาวคณะเลยก็คือคำว่า “ปั้ว” กับ “ปัง” นี่แหละ เพราะวิชาออกแบบจะเป็นวิชาที่เราชอบมาเม้าท์มอย ดูงานคนนั้นคนนี้กันว่าสวยอะไรแบบนี้

เอ็ม : สาขาผมไม่ค่อยมีผู้ชาย ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ปกติก่อนเรียนไม่ค่อยแต่งตัว แต่พอมาเรียนเราก็มีความมั่นใจมากขึ้น จับโน่นจับนี่มาใส่เป็นสไตล์ของเรา แต่ชาวแก๊งค์ส่วนใหญ่ก็จะมีหลายแนว บางคนก็แต่งตัวจ๋า เป็นกลิตเตอร์สีชมพูมาก็มี พวกเราชาวคณะจะรู้ไม่มีใครมานั่งล้อกันว่าแต่งตัวอะไรมา เพราะพวกเราเปิดกว้าง และคิดว่ามันเป็นความมั่นใจ และเป็นสไตล์ของเขา

คนที่อยากเดินตามรอยรุ่นพี่สายแฟ

เอ็ม : สำหรับน้องๆ ที่สนใจในด้านออกแบบแฟชั่น ก็อยากให้น้องๆ มีพื้นฐานในเรื่องการวาดรูป หาว่าตัวเองมีความชอบอะไร อาจจะไปหาเรียนติว หรือจะนั่งฝึกวาดรูปอยู่ที่บ้านก็ได้ และพวกโปรแกรมกราฟิกต่างๆ เพราะพอเข้ามหา’ลัยมันต้องใช้โปรแกรมพวกนี้เยอะ ไม่ใช่วาดมืออย่างเดียว เราต้องสามารถวาดลงในคอมฯได้ด้วย

ตีตี้ : สำหรับภาพรวมของคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นี่มีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ คือจะมีทั้งด้านเทคโนโลยีสิ่งทอ นวัตกรรมสิ่งทอ และออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น ซึ่งเทคโนโลยีสิ่งทอจะเป็นต้นน้ำ นำเส้นด้ายมาทอ/ถัก เป็นผืนผ้า โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น นวัตกรรมสิ่งทอก็เพื่อทดสอบสิ่งทอด้านต่าง ๆ  ทดสอบเสร็จก็ส่งให้ทางออกแบบแฟชั่น ออกแบบยังไง ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ ซึ่งน้องจะได้ลงมือปฏิบัติในทุกขั้นตอน จบไปสามารถทำงานได้จริงในหลากหลายสายงานค่ะ

ดูคอลัมน์อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.71

www.facebook.com/campusstar

ข่าวที่เกี่ยวข้อง