สำรวจห้องทดลอง นักค้นคว้ารุ่นใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

เทรนด์แห่งนักค้นคว้าทางสายวิทยาศาสตร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง วันนี้เลยอยากขอตามไปเกาะติดไลฟ์สไตล์สองหนุ่มสาวคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ต่อ-ต่อลาภ อินสนธิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และเฟรม-นันท์นิชา ธานินทร์สุรวุฒิ สาขาวิชาเคมี กับเทคนิคการเรียนแบบเข้มข้นในสไตล์สาขาที่หลากหลาย

คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

เหตุผลที่เลือกเข้าคณะนี้

ต่อ : ตั้งแต่มัธยม ผมมีไอดอลเป็นครูที่สอนเกี่ยวกับพวกดาราศาสตร์ ก็เลยสนใจในพาร์ทของหิน อยากเรียนด้านธรณีวิทยา ซึ่งผมก็ไปค้นดู จนมาเจอที่นี่ที่มีเรียนหลากหลาย ไม่ได้มีเรียนธรณีอย่างเดียว แต่มีทั้งดิน น้ำ อากาศ เรียนรู้ทุกอย่างในโลก ซึ่งถ้าเราไม่ชอบสายนี้ก็ไปต่อยอดสายอื่นได้ อย่างตอนนี้ผมก็แปรผันไปด้านสิ่งแวดล้อมแล้วครับ

เฟรม  : เป็นคนสนใจด้านเครื่องสำอาง แล้วก็ชอบวิชาเคมี คิดว่าเรียนเคมีน่าจะนำไปต่อยอดได้ เพราะมันเป็นพื้นฐานของหลายๆ วิชาค่ะ

จุดเด่นการเรียนในแต่ละสาขา

ต่อ :  สาขาผมคือได้เรียนหลายศาสตร์ และแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งปัญหาภัยแล้ง เรื่องการหาน้ำบาดาล ปัญหามลพิษ PM 2.5 เราก็ได้เรียนและรู้แนวทางในการแก้ปัญหา การเรียนก็จะเน้นความเข้าใจ ไม่ได้เน้นท่องจำ แต่เน้นให้นิสิตแก้ปัญหา วิเคราะห์ตลอดเวลา ซึ่งผมเลือกด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีใช้วิชาเคมีเป็นพื้นฐานด้วย ก็ได้มีโอกาสเรียนร่วมกับสาขาวิชาเคมีอยู่ปีหนึ่ง

เฟรม  : คำว่าเคมีก็ค่อนข้างเรียนหนักอยู่แล้ว อย่างปีสองที่เราเข้าภาค เขาก็จะมีสี่สายให้เราเลือก หนูเลือกทางด้านออร์แกนิคค่ะ เพราะโดยส่วนตัวเราไม่ค่อยถนัดฟิสิกส์เท่าไหร่ ออร์แกนิคในพาร์ทเลกเชอร์เนื้อหาก็จะเข้มข้น เน้นการท่องจำ ส่วนแล็ปก็จะได้เริ่มได้ใช้เครื่องมือด้วยตัวเอง ได้ทดลองอุปกรณ์ที่เราไม่รู้จัก ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

ชาวแก๊งค์เด็กวิทย์ฯ

ต่อ : สาขาผมจะออกแนวลุยๆ ไม่ห่วงสวยหล่อ แล้วจะมีผู้หญิงเยอะกว่า เอกลักษณ์ของเราก็คือใช้แรงงานผู้หญิง (หัวเราะ) คืออย่างปี 4 ก็จะมีออกภาคสนามฟิวใหญ่ ทุกคนก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่ากัน 7-8 วัน เพราะฉะนั้น ผู้หญิงก็จะต้องคลุกคลีกับผู้ชายได้ ก็จะออกแนวแมนๆ ในภาคทุกคนจะสนิทกันหมด รักกันมาก เพราะต้องมีทำกิจกรรมด้วยกันตลอด

เฟรม  : เด็กเคมีค่อนข้างอดทน มีความตั้งใจ มุ่งมั่น อย่างแล็ปที่เราจะต้องทำในแต่ละพาร์ท เราก็อยากให้เกิดสารที่เราหวังไว้ เราก็ต้องตั้งใจทำมัน ก็คือแล็ปตัวหนึ่งกว่าจะสังเคราะห์สารแต่ละตัวได้ต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ ทำมันไป ที่สำคัญคือใจเย็นค่ะ ถ้าใจร้อนทำไม่ถูกวิธีสารก็แตกได้ (หัวเราะ)

แนะนำน้องๆ รุ่นถัดไป

ต่อ : สำหรับคนที่ชอบด้านธรณี อย่างแรกต้องมีความอดทนและตั้งใจ เพราะการเรียนยากแล้ว ตอนออกภาคสนามมันก็เหนื่อย ถ้าเราไม่มีใจรัก ก็น่าจะไม่มีความสุข แต่ถ้ามีใจรัก เราทำอะไรก็มีความสุขไปกับมันได้

เฟรม  :  น้องๆ ที่อยากทำการทดลอง ทำอะไรใหม่ๆ หรือทำแล็ปที่ยังไม่เคยได้ลองทำ อยากให้มาลองเรียนดู เพราะเครื่องมือที่นี่มีพร้อม เราจะได้รู้จักเครื่องมือใหม่ๆ พอได้ใช้เราอาจจะสนุกและชอบมันก็ได้ ส่วนถ้าใครสนใจสาขาอื่นๆ ของคณะ ก็อยากเชิญชวนน้องๆ ให้มาเรียนที่คณะนี้ อย่างแรกคือร่มรื่น อาจารย์ในคณะก็ดีกรีต่างประเทศเกือบทุกคน การสอนก็จะเข้มข้น แต่เรียนแล้วไม่เข้าใจก็สอบถามอาจารย์ได้เลย อาจารย์ที่นี่ใจดีมาก และมีแลปเครื่องมือให้เราพร้อมเรียนรู้ และนำไปแก้ปัญหาในการทำงานจริงได้

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.73

www.facebook.com/campusstar

ข่าวที่เกี่ยวข้อง