ทั้งหล่อ ทั้งสวย แถมใจดี! “ภู-ออมมี่” ดาวเดือนสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์

ดาวเดือนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอยากช่วยเหลือสังคม หนุ่มหล่อหน้าตาดี สาวสวยน่ารักสดใส ภู-ภูมิ์นริศ เหมือนโพธิ์ ออมมี่-นัทธมน พิมสอน กับการเรียนที่จริงจังในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภู-ภูมิ์นริศ , ออมมี่-นัทธมน ดาวเดือนสังคมสงเคราะห์ TU

เหตุผลที่เลือกมาเรียนในคณะนี้

ออมมี่ : ตอนนั้นก็อยู่ม.6 คิดอยู่ว่าอยากเรียนคณะอะไร ก็ไปหาหนังสือคณะต่างๆมาอ่านแล้วไปเจอเนื้อหาของคณะสังคมสงเคราะห์ดูน่าสนใจ ก็เลยลองสอบดูก็สอบติด พอเข้ามาเรียนก็โอเคค่ะ ชอบที่เค้าสอนว่าให้เรามองคนยังไง มีกระบวนการทางความคิดยังไง จริงๆ ก็อยากรับราชการแต่ว่ามันก็มีหลายสายที่สามารถทำได้

ภู :  ผมเลือกแอดมิชชั่นครับ แล้วอยากทำงานเกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับคน ก็เลยเลือกคณะนี้ไว้เป็นอันดับแรกๆ เลย

ด่านสัมภาษณ์แรก

ออมมี่ : ก็ยากนะคะ ถ้าสอบเดือนหน้าต้องอ่านหนังสือก่อนเป็นเดือนเลย เพราะว่าเนื้อหาแต่ละวิชาเยอะมาก รับตรงของออมตอนที่สอบเข้ามาจำได้ว่ามี 3 หัวข้อก็คือ พาร์ทเรียงความ ข้อเขียนแล้วก็การคิดวิเคราะห์ใช้เหตุผลค่ะ    พาร์ทเรียงความจะยากสุด เพราะเป็นเชิงสังคมสงเคราะห์โดยตรงเลย ส่วนสอบสัมภาษณ์ก็แอบกดดันอยู่นิดหนึ่ง แต่พอเข้าไปอาจารย์ก็เป็นกันเอง หัวเราะยิ้มแย้ม อาจารย์ก็จะถามว่าไหวมั้ย เหนื่อยนะ เราก็ต้องเตรียมตัวเรื่องสัมภาษณ์แนะนำตัวเอง เตรียมเนื้อหาเกี่ยวกับคณะ เพื่อพูดให้อาจารย์เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องการที่จะเข้าคณะนี้

กิจกรรมรับน้องอบอุ่น

ภู : ตอนแรกก็คิดว่าสายสังคมคงเป็นแบบทำวิจัยอย่างเดียว ดูเครียดๆ พอมาเจอจริงๆ บรรยากาศในคณะจะเฮฮา รุ่นพี่ก็ไม่โหดไม่มีการกดดัน ไม่มีการบังคับอะไรเลย และยังมีการลงพื้นที่ได้พบปะผู้อื่น ได้เจอกับคนอื่นมากขึ้น ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ขึ้น

ออมมี่ : ตอนแรกก็กลัวเหมือนกัน เพราะไม่เคยเข้ามหา’ลัย ไม่รู้ว่าเป็นยังไง แต่พอเข้ามาก็เจออาจารย์ใจดี พี่ๆ ก็น่ารัก อาจารย์จะชอบเอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง นั่งฟังก็คิดตามสนุกดี ได้เจอกับประสบการณ์ใหม่ๆได้ข้อคิดเยอะเลย

เข้ามาเจอการเรียนประสบการณ์ใหม่ๆ

ออมมี่ : ปี 1 เทอม 1 จะมีวิชาคณะที่เรียนตัวเดียว คือ SW111 เป็นวิชาแรกที่เด็กปี 1 สังคมสงเคราะห์ทุกคนต้องเรียน มันเป็นพื้นฐานสังคมสงเคราะห์ ก็สนุกดีค่ะ เรียนไปก็ฟังอาจารย์เล่าเคสไปว่าเคยเจออะไรมาบ้างค่ะ ก็คิดไม่ผิดที่เข้ามาเรียนคณะนี้ จริงๆ แล้วสังคมสงเคราะห์เป็นคณะที่เราอยู่กันเหมือนครอบครัว เหมือนพี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลกัน รู้จักกันหมด ไม่ค่อยแบ่งแยก มีกิจกรรมอะไรทุกคนก็จะมาร่วมกันทำ ส่วนประสบการณ์การลงพื้นที่จะเริ่มปี 2 แต่ว่าออมได้ไปลงเรียนในวิชาเสรีเพิ่มเติม ก็ได้ไปกับรุ่นพี่ ได้คำแนะนำจากรุ่นพี่มาว่าเราจะมีวิธีการรับเคสยังไง แค่ไหนถึงจะไม่ละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริการ เทคนิคก็คือเราต้องแยกแยะให้ได้ แรกๆ หนูก็เอาเคสกลับมาเครียดมากว่าทำไมเป็นอย่างนี้ แต่พอหลังๆ ปุ๊บ ก็แยกแยะได้ว่าแทนที่เราจะเครียด เอาเวลามาคิดวิธีแก้ไขปัญหาดีกว่า ทำยังไงถึงจะไม่เกิดการผลิตซ้ำอีก

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากเข้ามาเรียน

ภู-ออมมี่ : คณะนี้สอนให้เรารู้จักมองคนอื่น เข้าใจในตัวตนของเขา ไม่อยากให้มองโลกหรือสังคมในมิติเดียวกับที่คนอื่นมอง แต่เราต้องมองให้ลึกกว่านั้นว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ ก็ทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปจริงๆ มองว่าเขาคงไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนี้ มันต้องมีเหตุผลที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ แล้วเราจะทำยังไง เราถึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

เทรนด์สไตล์หนุ่มสาวคณะสังคมฯ

ภู-ออมมี่ : เด็กคณะนี้ถ้าให้นิยามคงเป็นความเข้าถึงง่าย กันเอง ตรงๆ เฮฮา ช่วยเหลือกันตลอด ถ้าว่างๆ ก็จะไปออกค่ายอาสาของคณะกัน แล้วในคณะจะมีชมรมเด่นอย่างชมรมงิ้ว ที่ถือเป็นชมรมเฉพาะของเด็กคณะเราเลย พอเลิกเรียนบางทีก็ไปดูรุ่นพี่ซ้อมงิ้วบ้าง แล้วพอถึงงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็จะมีกิจกรรมงิ้วล้อการเมือง ที่ทุกชั้นปีก็จะมาช่วยกันทำ คำพูดติดปากของคณะเราคงเป็นคำว่า “ผู้ใช้บริการ” อีกอย่างก็คือว่า “EMPOWER” เป็นการให้กำลังใจคนอื่น

ฝากถึงน้องๆ

ภู : การสอบเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ มันจะมี 2 ทางที่เข้ามา คือ รับตรง และก็แอดมิชชั่น รับตรงจะมีพาร์ทสอบเรียงความตอบคำถามทางสังคมสงเคราะห์โดยเฉพาะ น้องๆ ก็ต้องเตรียมเนื้อหาส่วนนี้มาใช้ ส่วนของแอดมิชชั่น จะเป็นคะแนน 100% ซึ่ง 50% เป็นคะแนน GAT  50% เป็นคะแนนสัมภาษณ์ ตรงนี้ก็อยากให้น้องๆ เน้นทำความเข้าใจภาพรวมของคณะมาด้วย แล้วมาเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสังคมสงเคราะห์กันนะครับ

ติดตามคอลัมน์ About campus ได้ในนิตยสาร Campusstar No. 48

www.facebook.com/Campusstars

ข่าวที่เกี่ยวข้อง