แพคเกิจจิ้ง เรียนแล้วอิน ต่อ-ธนภพ ดาราหนุ่มหน้าใส นิสิต ม.เกษตร

หนุ่มฮอต หน้าใส ขวัญใจชาวฮอร์โมน ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร หรือที่ทุกคนรู้จักจากบทบาทการแสดงเป็น ‘ไผ่’ หนุ่มมัธยมเลือดร้อน จากซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น เคยเห็นเขาแต่ในพาทการแสดง วันนี้แคมปัสสตาร์จะพาทุกคนไปสัมผัสอีกมุมของ ‘ต่อ ธนภพ’ ในพาทชีวิตนักศึกษากันดูบ้าง ซึ่งในตอนนี้หนุ่มต่อก็เรียนอยู่ ปี 4 อยู่ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ตัวเขาเองบอกว่ายิ่งเรียน ยิ่งรู้สึกชอบ ยิ่งได้ความรู้ดีๆ

ลองไปอ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ของเขากันค่ะ แล้วจะเห็นว่า หนุ่มคนนี้ไม่ได้มีเพียงความหล่อเท่านั้น แต่ยังมีมุมมอง ความคิดที่น่าสนใจมากๆ อีกด้วย

ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร

คณะที่ต่อ ฮอร์โมนเลือกเรียน?

ตอนนี้เรียนปี 4 ใกล้จะจบแล้ว ผมเลือกเรียนทางด้านแพกเกจจิ้ง (คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ม.เกษตรศาสตร์) อาจจะฟังดูแปลกๆ นะ คือตอนแรกเลือกแอดมิชชั่นเข้านิเทศฯ กับ สถาปัตย์ฯ แต่ก็ไม่ติด แล้วก็ไม่ชอบการเริ่มต้นใหม่หรือการซิ่วนะ เพราะผมรู้สึกว่ามันเสียเวลากับชีวิต ก็เลยอยากลองหาคณะที่คิดว่าจะตรงกับเรามากที่สุด เลยเลือกที่นี่ แล้วแอดมิชชั่นรอบสอง ตอนแรกที่ยังไม่เข้าเรียนก็กังวลว่าตัวเองจะโอเคกับสิ่งที่เลือกใหม่มั้ย แต่พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ ก็รู้สึกอินนะ ผมว่าเป็นคณะที่ได้เปรียบคนอื่น เพราะแพกเกจเป็นสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เราได้ใช้มันจริงๆ ทุกวันนี้ได้รู้หมดว่าแพกเกจไหนปลอดภัย ไม่ปลอดภัย เป็นการเตือนตัวเองและเตือนคนรอบข้างได้ด้วย ถือว่าเป็นความรู้ติดตัวที่ดีมากๆ เป็นความรู้นอกวงการอีกอย่างหนึ่งที่เรามีเลย

นิยามความเป็นนักศึกษาในแบบต่อ ฮอร์โมนเป็นยังไง?

ถ้าตลอด 4 ปี ก็ไปเรื่อยๆ นะ ช่วงนี้ใกล้จบอาจจะเร่งทำธีสิสบ้าง ผมคิดว่าคณะผมไม่ใช่คณะที่ง่ายเลย เข้าไม่ยากนะ แต่จบออกมายาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ทำตามเพื่อนๆ คือการอัดวิชาลงเยอะๆ ผมคิดว่าเราลงเรียนเอาเท่าที่เราไหวจะดีกว่า

มหาวิทยาลัยในความคิดของต่อล่ะ?

ผมมองสังคมในมหา’ลัยว่าเป็นสังคมที่ไม่ได้ใหญ่ แต่ก็เป็นสังคมที่อยู่คนเดียวโดยไม่มีเพื่อนไม่ได้ สังคมมันสอนให้เราต้องรู้จักสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย อย่างในกลุ่มในมอที่สนิทจริงๆ มีเป็นแก๊งค์ผู้ชายล้วนสิบกว่าคน ก็รู้สึกถ้าเป็นผู้ชายมันจะไม่ค่อยเขินกันมากกว่า แล้วในกลุ่มก็จะมีความหลากหลายมากๆ แต่ละคนในกลุ่มไม่เหมือนกันสักคน บางคนเป็นนักแข่งรถ บางคนทำธุรกิจอาหารเหนือ ทุกคนมีจุดสนใจต่างกัน แล้วก็สามารถพาทั้งกลุ่มไปคุยในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันได้ตลอดเวลา

วิชาที่ชาตินี้ต่อจะไม่มีวันลงเรียนคือวิชาอะไร?

แคลคูลัส มันยากมากๆ ผมเป็นคนติดวิชาพวกคำนวณ ชอบวิชาท่องจำมากกว่า แต่ว่าก็ต้องลงเรียนนะ 55 คณะผมเขาบังคับเรียนแคลคูลัสหนึ่งกับสอง แต่ก็ผ่านไปแล้วล่ะ

“เกรียนครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่อยากทำที่สุดในมหาวิทยาลัย?

ผมอยากเดินรอบมหา’ลัยให้ครบ เพราะรู้สึกว่ามหา’ลัยตัวเองใหญ่มาก ทุกวันนี้สี่ปีแล้ว แต่มีบางถนน ผมยังถามเพื่อนอยู่เลยว่าที่นี่ที่ไหน นี่น่าจะเป็นความเกรียนของตัวเองอย่างหนึ่งที่คิดว่า นี่เราเรียนอยู่ที่นี่จริงหรือเปล่าเนี่ย 55

สิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงมากที่สุดคือ?

การแบ่งชนชั้นภาคปกติกับภาคพิเศษ ทุกวันนี้มันยังมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่นะ คือชนชั้นปกติจะรู้สึกว่าเขาเก่งกว่า แต่ชนชั้นภาคพิเศษจะรู้สึกว่าเขาจ่ายตังค์เยอะกว่า แต่สำหรับผม ผมว่ามันไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเราก็เรียนคณะเดียวกัน ภาคเดียวกัน แล้วหลายคนก็ซีเรียสมากๆ เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่เท่าเทียมกัน

เพลงที่เวลาสอบ ต่อต้องนึกถึงเสมอ คือ เพลงอะไร?

เวลาผมสอบทีไร จะหายจากทุกอย่างเลยนะ แบบต้องอ่านอย่างเดียวเลย ไม่อ่านนี่สอบไม่ได้ โดยเฉพาะวิชาที่จริงจังมากๆ ผมนึกถึงเพลงประกอบหนังญี่ปุ่นเรื่อง Crows Zero เลย ซาวน์ดนตรีมันจะเป็นฟิวทุบหม้อข้าว เข้ากับหนังที่มีนักเรียนสองแก๊งค์ใหญ่สู้กัน อารมณ์เหมือนประมาณอ่านมาเต็มแล้ว ตอนนี้ถึงนัดชี้ชะตา เป็นเวลาเตรียมที่จะลุยแล้วล่ะ

นึกภาพออกมั้ย ถ้าต่อกลายมาเป็นอาจารย์สอนประจำมหาวิทยาลัยสักที่หนึ่ง?

คงเป็นอาจารย์สอนวิชาพละที่ดูเซ็กซี่หน่อยๆ 55 ผมว่าวิชาพละเป็นวิชาที่เด็กมหา’ลัยหลายคนมองข้ามนะ คือเขาเห็นแค่เพื่อนลง ก็ลงตาม ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปตามเพื่อน เพราะจริงๆ แล้วการเลือกด้วยตัวเองเจ๋งกว่าเยอะเลย แล้ววิชานี้ก็มีกีฬาแปลกๆ เช่น ยิงปืน อะไรแบบนี้ที่เราอาจไม่เคยลงเรียนมาก่อน เลยคิดว่าถ้าไปเป็นอาจารย์สอนจริงๆ จะได้ไปทำให้ใครหลายคนเห็นว่าวิชานี้มันน่าสนใจยังไงบ้าง

สำหรับแฟนๆ ที่ติดตามผลงาน เร็วๆ นี้ต่อ จะมีผลงานละครเรื่อง ‘เล่ห์ลับสลับร่าง’ ออกอากาศทางช่อง 3 และโปรเจก I SEE U พยาบาลพิเศษ..เคสพิสวง ของค่าย GDH 559 ออกมาให้ได้ชมกันแน่นอน

รวมภาพ ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร

เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/TorStory.FC/timeline


NO.33 FEBRUARY 2016

ข่าวที่เกี่ยวข้อง