5 จุดเด่นของโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน วิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์เมืองผู้ดี ที่ปั้นบุคลากรระดับโลก

ในโลกปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่าของคนส่วนหนึ่งถูกวัดด้วยระดับการศึกษา ชื่อเสียงมหาวิทยาลัยที่จบมา รวมถึงความสามารถพิเศษที่โดดเด่น ใครที่มีปัจจัยเหล่านี้พร้อมกว่า ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตมากกว่า ไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่จะเริ่มมองหาตัวเลือกที่มากกว่าแค่การเรียนในประเทศ อย่างการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศก็เป็นทางเลือกที่เด็กรุ่นใหม่เริ่มมองหา ซึ่งหากมีการเตรียมพร้อมที่เพียงพอ โอกาสในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้น ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม – SOAS โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน –

5 จุดเด่นของ โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน

เมื่อมีเป้าหมายที่แน่นอนแล้ว ว่าการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจะไม่หยุดอยู่แค่ในประเทศ การเตรียมความพร้อม โดยการศึกษาข้อมูลมหาวิทยาลัยที่สนใจไปเรียนต่อ ทั้งรายวิชา หลักสูตรที่เปิดสอน ค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าเล่าเรียน การใช้ชีวิต เพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ รวมถึงการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเฉพาะทางของสาขาวิชาที่เราต้องการศึกษา

ซึ่งในบทความนี้ขอเอาใจน้องๆ ม.6 ที่มีใจรักสายสังคมศาสตร์และอยากโกอินเตอร์ เพราะจะพาไปสำรวจวิทยาลัยสายสังคมศาสตร์โดยเฉพาะ อย่าง วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือที่นิยมเรียกว่า “โซแอส” (School of Oriental and African Studies, SOAS) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ ที่กำลังมาแรงอย่างยิ่งในปัจจุบัน ใน “มหาวิทยาลัยลอนดอน” (University of London) แห่งประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในด้านสังคมศาสตร์ โดย 5 จุดเด่นของโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน จะมีอะไรบ้าง มารู้จักกันเลย

1. ขึ้นทำเนียบนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกด้านสังคมศาสตร์

โซแอส เป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ มีประวัติการก่อตั้งที่ยาวนานกว่า 100 ปี และมีชื่อเสียงที่โดดเด่นในด้านสังคมศาสตร์ ที่นักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ทั่วโลกต่างใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ปัจจุบันโซแอส มีนักศึกษาหัวกะทิจากทั่วโลกกว่า 130 ประเทศ ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้รวมเอาความหลากหลายทางความคิดเข้าด้วยกัน อีกทั้งการจัดการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้นักศึกษาตั้งคำถามกับทุกสิ่งบนโลก และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ดังคำกล่าวที่ว่า “Meet the World at SOAS”

ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโซแอสก็จะมีโอกาสเข้าร่วมวงสังคมศิษย์เก่าโซแอส ซึ่งมีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่จบการศึกษาจากโซแอสจำนวนมาก เช่น นาย Achim Steiner ผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) นาง Zeinab Badawi นักข่าวชาวซูดานชื่อดังจากการอุทิศตนในการทำข่าวการเมืองระหว่างประเทศ ประจำสำนักข่าวบีบีซี นางอองซาน ซูจี บุคคลผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของพม่า และยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย

2. เรียนรู้โลกตะวันออกท่ามกลางบรรยากาศตะวันตก (East meet West)

โซแอส หรือ School of Oriental & African Studies มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนด้านเอเชียศึกษา แอฟริกาศึกษา ตะวันออกใกล้และตะวันออกกลางศึกษา ซึ่งความโดดเด่นของการเรียนที่โซแอส ก็คือการมุ่งสู่ความเชี่ยวชาญด้านตะวันออก โดยศึกษาท่ามกลางบรรยากาศการเรียนของโลกตะวันตก อีกทั้งนับเป็นสาขาวิชาที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปัจจุบัน นอกจากนี้ข้อมูลจาก The Complete University Guide ยังจัดอันดับให้สาขาวิชาหลักสูตรเอเชียศึกษาของโซแอส ติดอันดับหนึ่งใน 10 สาขาวิชาหลักสูตรเอเชียศึกษาที่ดีที่สุดในอังกฤษ ประจำปี 2562 อีกด้วย

3. ซึมซับบรรยากาศการเรียนรู้ในเมืองผู้ดีอังกฤษสุดคลาสสิค

โซแอส ตั้งอยู่ในเมืองบลูมส์บิวรี่ ใจกลางเมืองลอนดอน มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย ใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน Russell Square ในแง่ของการเสพศิลปะ จะมีทั้งแกลเลอรีศิลปะนานาชาติ โรงละคร หอดนตรี รวมถึงพิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) นอกจากนี้ที่ SOAS ยังมีห้องสมุด The West End ที่มีความพร้อมด้านเครือข่ายข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ และยังติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยของอังกฤษที่มีการลงทุนค่าใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์สืบค้นอันทันสมัยในห้องสมุดมากที่สุด เพื่อเป็นสวัสดิการพิเศษสำหรับนักศึกษา

4. โอกาสในการเข้าร่วมอีเว้นท์ด้านการศึกษาระดับโลก

คงจะดีไม่น้อยถ้าได้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านสังคมศาสตร์ แล้วยังมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวิชาการระดับโลกมากมายที่ SOAS ไม่ว่าจะเป็น การเสวนาวิชาการ ภาพยนตร์ หรือกระแสสังคมที่เกิดขึ้น รวมทั้งการจัดแสดงผลงานทางด้านวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการจากทุกมุมโลก หรือจากมหาวิทยาลัยชื่อดังต่างๆ ที่หมุนเวียนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กันตลอดทั้งปี ตัวอย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น การเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือทางการค้าโลก จากสถานการณ์ของเอเชียแปซิฟิก” โดย Michael G. Plummer อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา

5. โอกาสในการศึกษาต่อไม่ยากอย่างที่คิด

จุดเด่นของ SOAS ที่ได้กล่าวมา ทั้งชื่อเสียงอันยาวนานของมหาวิทยาลัย บรรยากาศอันน่าเรียน รวมทั้งโอกาสต่างๆ ที่จะได้รับจากการเรียนที่โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนี้ แต่หากศึกษารายละเอียดการรับสมัคร จะเห็นว่ามีช่องทางที่หลากหลาย รองรับนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ และประเภททุนหลายรูปแบบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.soas.ac.uk/registry/funding

สำหรับบทความนี้ นอกจากจะพาไปเปิด 5 จุดเด่นของ SOAS ให้น้องๆ ม.6 หัวใจสายสังคมที่อยากโกอินเตอร์ได้ตื่นเต้นแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

“วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) ได้พัฒนาหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ร่วมกับ SOAS สำหรับนักศึกษาหลักสูตรไทยศึกษา พีบีไอซี โดยนักศึกษาจะได้ศึกษาทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยลอนดอน แห่งละ 2 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบ จากทั้งสองมหาวิทยาลัยชื่อดังชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยหลักสูตรสองปริญญานี้มีความพร้อมที่จะให้นักศึกษาพีบีไอซีได้เข้าร่วมตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป”

ผศ. ดร. นิธินันท์ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงรายละเอียดหลักสูตรไทยศึกษา พีบีไอซี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์คนสนใจเรียนสายสังคมศาสตร์ เพราะจะได้เรียนรู้บริบทของความเป็นไทยอย่างรอบด้าน ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมโยงเข้ากับบริบทความเป็นสากลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลกปัจจุบัน ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์ทั้งการไปศึกษาแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อต่างประเทศ รวมทั้งการทำงานในอนาคตในสายงานที่ต้องการบุคลากรที่มีทั้งความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในบริบทสังคมไทย อีกทั้งมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษแบบเจ้าของภาษา

สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในพื้นที่เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ ไม่ว่าจะศึกษาในหลักสูตรไทยศึกษา จีนศึกษา หรืออินเดียศึกษา

ตัวอย่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญาอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (University of California) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน (Peking University) มหาวิทยาลัยจันดิการ์ ประเทศอินเดีย (Chandigarh University) เป็นต้น

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง