จุฬาฯ ทูลกล้าถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University : CU) ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2561 แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทรงพระปรีชาสามารถในการประยุกต์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์ และบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ ในลักษณะสหสาขาวิชา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ รับทูลเกล้าถวายปริญญาเอก จุฬาฯ

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและวงวิชาชีพตลอดจนประชาชนและประเทศชาติ อีกทั้งยังทรงสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปกรรมศาสตร์ในประเทศไทยตลอดมา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะรับทูลเกล้าถวายปริญญาในปี 2020 นี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่ได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ การกีฬา รวมไปถึงด้านดนตรี

พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นพระราชธิดาพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ประสูติแต่สุจาริณี วิวัชรวงศ์ อดีตนักแสดง เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 เมื่อแรกประสูติมีพระยศที่ “หม่อมเจ้า” พระนามว่า หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล

มีพระโสทรเชษฐาสี่องค์ ได้แก่ จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์, วัชรเรศร วิวัชรวงศ์, จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ และวัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาต่างพระมารดาสองพระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.93 และทรงได้รับรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา 2551

หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ วิทยาลัยสมาคมการออกแบบเสื้อผ้าปารีส (École de la chambre syndicale de la couture parisienne) ประเทศฝรั่งเศส

ความสนพระทัย

ด้านกีฬา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันซีเกมส์ 2005 ประเภททีมหญิง ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้รับรางวัลเหรียญทอง และอีกหลายรายการ

นอกจากกีฬาแบดมินตัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ยังสนพระทัยกีฬาขี่ม้าตั้งแต่พระชันษา 9 ปี ด้วยทรงขี่ม้าตามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ต่อมาพระองค์ได้กลับมาสนพระทัยจนเป็นนักกีฬาขี่ม้าดังกล่าว ซึ่งชนะเลิศในรายการไทยแลนด์แชมเปียนชิพคิงส์คัพ 2012 และทรงตั้งพระทัยที่จะคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในซีเกมส์ 2013 ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ทรงลงแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะบังคับม้าประเภททีม วันที่ 14 ธันวาคม พระองค์ลงแข่งรอบชิงชนะเลิศทรงทำคะแนนรวม 53.810 คะแนน จบอันดับที่ 10 ในการแข่งขัน

ทรงเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2014 โดยเข้าแข่งขันกีฬาศิลปะการบังคับม้าประเภททีม ลงแข่งขันเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557 ร่วมกับ เฉลิมฉาน ยศวิริยะพาณิชย์, รวิสรา เวชากร และภคินี พันธาภา ส่วนพระองค์ได้คะแนน ร้อยละ 58.079 รวมคะแนนเฉลี่ยทีมไทยอยู่อันดับที่ 7 ด้วยคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 62.711

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงบรรยายพิเศษ แก่คณาจารย์และนักศึกษา ม.ศิลปากร

ด้านศิลปกรรม (ออกแบบ)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้รับเชิญจากห้องเสื้อปีแยร์ บาลแม็ง ให้จัดแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าจำนวน 39 ชุด ในงานสัปดาห์แฟชั่นปารีส (Paris Fashion Week : Spring/Summer 2008) ที่โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย กรุงปารีส เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยเสื้อผ้าที่จัดแสดงทรงผสมผสานระหว่างเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตก กับรูปแบบผ้านุ่งไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตัดเย็บโดยช่างจากวิทยาลัยในวังหญิง

ทั้งนี้ทรงมียี่ห้อเสื้อผ้าส่วนพระองค์คือ สิริวัณณวรี (Sirivannavari) และมียี่ห้อของแต่งบ้านส่วนพระองค์ชื่อ สิริวัณณวรีเมซอง (Sirivannavari Maison) ทั้งนี้สินค้าบางส่วนของพระองค์ได้รับการจดลิขสิทธิ์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดหรือลอกเลียน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก FB : HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya, www.vogue.co.th

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง