จุดเริ่มต้นความฝันการเป็นไกด์ – นักศึกษาสาขาฝรั่งเศสฯ ม.รังสิต

หากเราอยากจะประกอบอาชีพไกด์ เราต้องเรียนจบด้านเฉพาะทางเพียงอย่างเดียวเท่านั้นใช่หรือไม่ วันนี้เราจะมาพูดคุยกับสองนักศึกษาสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับตัวจุดประกายความฝันนี้กัน พวกเขาไม่เพียงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อที่จะสามารถใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กว่าจะเข้าสู่เส้นทางของอาชีพที่เรียกว่า มัคคุเทศก์ ได้นั้น มันจะต้องมีจุดเริ่มต้นที่มากกว่าเก่งภาษา เพราะจะต้องมีขั้นตอนในเรื่องของการสอบบัตรประจำตัว และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งนักศึกษาทั้งสองคนนี้ พวกเขาเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านไกด์ โดยการสมัครและเริ่มต้นการทำงานเกี่ยวกับ Transfer Man อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญและเป็นด่านต้นๆ ที่ได้พบปะหน้าและให้บริการนักท่องเที่ยว

จุดเริ่มต้นความฝันการเป็นไกด์ – นักศึกษาสาขาฝรั่งเศสฯ ม.รังสิต

นายกฤดิไกร รอดคง (เกรป)

นายกฤดิไกร รอดคง (เกรป) ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังว่า ตนเลือกเรียนด้านภาษาเพราะคาดหวังว่าจะสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้ แต่อยากจะประกอบอาชีพอะไรนั้น ช่วงแรกยังไม่ได้ตัดสินใจ

“ที่สาขาวิชาฝรั่งเศส นอกจากเราเรียนเรื่องหลักไวยากรณ์ภาษา เกร็ดความรู้ขนบธรรมเนียบประเพณี ความรู้รอบตัวด้านอื่นๆ แล้วนั้น นักศึกษายังสามารถเลือกเรียนวิชาเลือก หรือวิชาโทในด้านอื่นๆ ที่ตนสนใจควบคู่ไปกับภาษาหลักได้ สำหรับเกรป เลือกวิชา Transfer Man ครับ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะยากหรือไม่ จะได้นำไปใช้จริงหรือเปล่า แต่ก็เลือกลงเพราะรายละเอียดวิชาน่าสนใจครับ เพราะเป็นวิชาเลือกที่จะสอนเราเกี่ยวกับการบริการ การท่องเที่ยว และวิชาการโรงแรม แน่นอนว่าเราสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ทำงานได้จริงในอนาคต เกรป จึงคิดว่าเลือกอันนี้ล่ะ เรียนควบคู่ไปกับวิชา French for Tourism และวิชา French for Hotel Business จบไปจะได้ทำงานด้านที่เกี่ยวข้องนี้ได้

สำหรับคนที่อยากทำอาชีพมัคคุเทศก์ หรือไกด์นั้น การเป็น Transfer Man นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพนี้ โดยปกติแล้วชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยผ่านการซื้อแพ็คเกจทัวร์มานั้น มักจะมีบริการรถรับ-ส่ง เป็น Option การบริการด้วย ซึ่งหน้าที่ของ Transfer Man คือการไปรับและไปส่งนักท่องเที่ยวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น จากโรงแรมไปยังสนามบิน หรือจากสนามบินไปยังโรงแรม โดยทางบริษัทต้นสังกัดจะมีตารางงานแจ้งให้ Transfer Man ทราบว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนกี่คน โดยสารเที่ยวบินไหน และจะต้องไปส่งที่สถานที่ใดบ้าง

จากที่เรียนมาเมื่อได้นำมาใช้ทำงานแล้วนั้น วิชานี้มีประโยชน์มากๆ เช่น หากเรารู้วิธีพูดเพื่อติดต่อกับทางโรงแรม วิธีต่อรอง หรือขั้นตอน รายละเอียดของโรงแรมนั้น เราก็จะสามารถแนะนำนักท่องเที่ยวได้ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวมีคำถาม หรือหากเขาต้องการคำแนะนำ แล้วเราสามารถตอบโจทย์เขาได้ ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจที่ดีในวงกว้างให้แก่ประเทศของเราอีกหนึ่งทางครับ”

นางสาวรัตนาภรณ์ แซ่หลี (ปุ้ม)

นางสาวรัตนาภรณ์ แซ่หลี (ปุ้ม) ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปุ้มและเกรป ทำงานอยู่ที่บริษัทเกี่ยวกับทัวร์ซึ่งลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสทั้งหมด คนฝรั่งเศสส่วนมากจะไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องรู้และเข้าใจลูกค้าเพื่อจะได้บริการได้ตามที่เขาต้องการ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือภาษาค่ะ ซึ่งปุ้มก็เลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเอกอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องคอยเตรียมความพร้อมและศึกษาคำศัพท์ มารยาท ขนมธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอยู่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่ต้องจำไว้อย่างลืมไม่ได้ จะเป็นคำศัพท์เกี่ยวกับการบรรยายสถานที่ คำศัพท์เฉพาะด้าน และรายละเอียดที่นักท่องเที่ยวได้ระบุมาก่อนหน้า แม้ตอนที่เริ่มทำงานปุ้มและเกรปจะยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น แต่เมื่อออกไปทำงานจริง วุฒิภาวะ และความพร้อมของพวกเราต้องมีเต็มร้อยเหมือนเป็นพนักงานจริง เป็นมืออาชีพ ที่พวกเราได้ร่ำเรียนมาทั้งหมดนั้น ด้านการสื่อสาร วัฒนธรรม ความรู้ด้านการท่องเที่ยว ทุกวิชาที่เรียนมามีประโยชน์ในการทำงานทั้งหมด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็น Transfer Man ก็สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ ที่สำคัญคือการได้หาประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้ เมื่อเราทำงานกับบริษัท ทางบริษัทเขาจะมีจดหมายรับรองการเป็นพนักงาน และทำบัตรประจำตัว Transfer Man ให้ค่ะ ซึ่งคนที่จะทำอาชีพนี้ได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยเท่านั้น จากนั้นก็สามารถไปทำเรื่องขอบัตรประจำตัวที่สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เพราะหากไม่มีบัตรจากส่วนกลางตรงนี้ ก็จะไม่สามารถเข้าไปรับ-ส่งนักท่องเที่ยวได้”

สุดท้ายนี้ ทั้งเกรปและปุ้มได้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจเกี่ยวกับวิชาภาษาฝรั่งเศสนั้น สามารถเริ่มต้นได้เพียงแค่เราต้องการศึกษามันจริงๆ ภาษาจะเป็นพื้นฐานที่เราสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้

ไม่ว่าจะภาษาไหนก็ตาม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีวิชาความรู้ พร้อมด้วยประสบการณ์มอบให้แก่ทุกๆ คน ทั้งความรู้ด้านวิชาการ และความสนุกสนานด้านกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นค่ายสำหรับผู้พูดภาษาฝรั่งเศส ที่จะจัดขึ้นทุกปี เป็นค่ายที่รวมคนรักภาษาฝรั่งเศสไว้ด้วยกัน ทั้งคนไทย ลาว เวียดนาม เกาหลี มองโกเลีย เป็นต้น อาจารย์จะจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมกับชาวต่างชาติ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยในทักษะด้านการสื่อสาร แม้ว่าน้องๆ จะไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาฝรั่งเศสมาก่อนก็ตาม ก็สามารถมาเริ่มต้นได้ เพราะการศึกษายุคนี้ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำ แต่หากเราสามารถนำตัวเองไปอยู่ในวงจรความรู้ เราก็จะสามารถพัฒนาไปได้ทุกเมื่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง