“ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์” ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม – ไอเดียน่าชื่นชมของ ม.มหาสารคาม

สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีเวลานี้ยังถือว่าวิกฤต ทางคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงได้คิดวิธีที่จะช่วยผู้ประสบภัย โดยได้ผุดไอเดีย ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ ขึ้นมาได้ ข้อดีคือสามารถเก็บได้นาน 2 ปี ลงมือทำแล้วพร้อมส่งถึงมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 16 ก.ย.62 นี้

ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ เก็บได้นาน 2 ปี – ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไอเดียจาก มมส

อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปิ๊งไอเดีย ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ เก็บได้นาน 2 ปี เตรียม “กล่องข้าวน้อยให้แม่” 2,000 ห่อ พร้อมชุดเวชภัณฑ์จำเป็น “กล่องยาน้อยให้แม่” 1,000 ชุด ออกเดินทางส่งถือมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดอุบลราชธานี  16 กันยายน 2562

เมื่อวันที่ 15 กันยาน 2562 ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชิตา มุ่งงาม คณบดีคณะเทคโนโลยี นำคณะอาจารย์ นิสิตจิตอาสาจากคณะเทคโนโลยี ร่วมลงมือในกระบวนการผลิตข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์

ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่ นึ่งข้าวเหนียว ย่างหมู หั่นหมูเป็นชิ้นๆ ชั่ง ตวงปริมาณ บรรจุลงในถุงบรรจุภัณฑ์ ซีลปิดปากถุง เข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ และติดสติ๊กเตอร์เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะเตรียมส่งถึงมือผู้รับ

แรงบันดาลใจในการทำ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วม และนิทานกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่

อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” หรือข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่ค่อนข้างหนัก และยาวนาน จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีในเรื่องของการถนอมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และเกิดไอเดีย ทำข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ ที่เก็บไว้ได้นาน 2 ปีนี้ขึ้นมา และตั้งชื่อว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่”

โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง “กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จังหวัดยโสธร ที่ลูกหิวโมโหเพราะเห็นกล่องข้าวน้อยของแม่ เป็นแค่ก่องข้าวเล็กๆ คิดว่าตัวเองจะกินไม่อิ่มแน่ๆ แล้วลูกก็ฆ่าแม่ สุดท้ายแล้วก็กินไม่หมด

ขั้นตอนการผลิต

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เปิดรับเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น หมู ข้าวเหนียว เครื่องปรุงหมักหมู บรรจุภัณฑ์สำหรับห่อ จากนั้นเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยข้าวเหนียวหมูย่างห่อนี้ ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ซีลบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก จากนั้น นำไปเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 10,000 ชุด แต่เนื่องจากกำลังการผลิตทั้งแรงคน และ เครื่องมืออุปกรณ์ของเราไม่เพียงพอ สามารถผลิตได้เพียง 2,000 ชุด ซึ่งจะได้เดินทางนำส่งผู้ประสบภัยน้ำท่วมในวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2562 ที่จังหวัดอุบลราชธานี และเงินบริจาคที่เหลือ ได้จัดเป็นชุดยา“กล่องยาน้อยให้แม่” 1,000 ชุด ส่งไปพร้อมกับชุดข้าวเหนียวหมูย่างด้วย

ด้าน นายณภัทร หมดราคี นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า “วันนี้ได้มีส่วนร่วมในการมาบรรจุข้าวเหนียวหมูย่าง กับเพื่อนๆ และคณาจารย์ที่คณะ รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหาย และความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ และอยากส่งกำลังใจผ่านไปกับห่อข้าวน้อยๆ ที่เราบรรจงย่างด้วยมือ บรรจุด้วยใจ ให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นวิกฤตภัยธรรมชาตินี้ไปในเร็ววัน” นายณภัทร กล่าว

“กล่องข้าวน้อยให้แม่” ไม่เพียงแต่จะอิ่มท้อง อิ่มใจผู้ให้ สุขใจผู้รับแล้ว ความดีงามของข้าวเหนียวหมูย่างชุดนี้ ยังสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น ผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่ธรรมชาติข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ หากต้องการให้รสชาติ นุ่ม อร่อย ให้นำไปต้ม 3-5 นาที หรืออุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนได้

เก็บได้มากกว่า 2 ปี ปลอดภัยหรือไม่

ชี้แจงสำหรับผู้ที่สงสัยว่า กล่องข้าวน้อยให้แม่ ปลอดภัยจริงไหม เก็บได้มากกว่า 2 ปีนอกตู้เย็นจริงหรือเปล่า?

ทางมหาลัยได้โพสต์ข้อความชี้แจ้งผ่านเฟซบุ๊กเพจ Foodtech MSUว่าสามารถเก็บได้นาน 2 ปี จริง และทุกขั้นตอนทำด้วยความสะอาด โดยมีข้อความดังต่อไปนี้ค่ะ

เรียนชี้แจงสำหรับผู้ที่สงสัยว่า#กล่องข้าวน้อยให้แม่ ปลอดภัยจริงไหม เก็บได้ มากกว่า 2 ปีนอกตู้เย็น?

จริงค่ะ ภาพที่เห็นแรงงานจิตอาสา กำลังแพคของคนเต็มไปหมดเลย จะสะอาดไหมหนอ?

ภาพคือ ขั้นตอนก่อนการฆ่าเชื้อค่ะ #FTMSU

แต่สื่อจับภาพไม่ได้ ^^

– ผู้สัมผัสอาหารเป็นปี 3 ขึ้นไป ผ่านรายวิชา food micro/ food processing แล้ว

– น้องๆ ปี 1-2 ความรู้ด้านวิทย์เบื้องต้น เป็นฝ่ายสวัสดิการดูแลน้ำท่า อำนวยความสะดวกให้พี่ๆ #FPDMSU

หลังการบรรจุ ปิดผนึกให้ปิดสนิท มีการ QC รอยซีลโดยอาจารย์ทางด้าน food processing

สื่อจับภาพไม่ทันอีก^^ มีการทดลองมาก่อนที่จะลงแขกทำจริง

เมื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ retort หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า หม้อรีทอร์ท จะถูกควบคุมโดย อ.ดร.อัศวิน อมรสิน ที่มีใบอนุญาตผ่านการอบรม การเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อด้วยความร้อนระดับอุตสาหกรรม #processauthority

มีพี่ๆ ปี 4 #FTMSU คอยเฝ้าระวังอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด เราบรรจุในถุงทนความร้อนสูง ที่เรียกว่า #retortpouch หลังการฆ่าเชื้อ จะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่ หากถุงไม่รั่วซึม ก็ไม่เน่าเสีย เราไม่คาดหวังให้ท่านเก็บรอ 2 ปีเผื่อน้ำท่วมปีหน้าค่ะ รับไปรีบทานค่ะปีหน้าเราจะพัฒนายิ่งกว่านี้ ขอบพระคุณทุกแรงใจที่ช่วยสนับสนุน #foodtechmsu

#fpdmsu #ทีมมมส

//แอดมิน ผศ.ดร.มนัชญา ^^

ดูภาพทั้งหมด

ขอบคุณที่มาข่าวและภาพจาก: บุณฑริกา ภูผาหลวง, คณะเทคโนโลยี, Foodtech MSU, Mahasarakham University

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง