หุ่นยนต์ช่วยสอนภาษาอังกฤษ Ajarn Robot นวัตกรรมเพื่อการศึกษา โดย มทร.พระนคร

ปัจจุบันการศึกษาได้มีการปรับปรุงพัฒนาการตามยุคสมัย รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำระบบ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน เช่น คอมพิวเตอร์มัลติมิเดีย คอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนแบบโปรแกรมชุดการสอน เป็นต้น และอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือการนำหุ่นยนต์เอไอเข้ามาช่วยในการสอนเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ ของนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากภาษาอังกฤษ นับเป็นทักษะสำคัญในการสื่อสารกับนานาชาติ ในยุค Thailand 4.0

หุ่นยนต์ช่วยสอนภาษาอังกฤษ นวัตกรรมเพื่อการศึกษา

ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในสถาบันการศึกษา จึงควรต้องปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัย และเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกสนทนาภาษาอังกฤษ กับเจ้าของภาษาในสถานการณ์จริง

ดร.ขวัญฤทัย บุญยะเสนา อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย ‘การพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผ่านการเรียนการสอนแบบบูรณาการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการฝึกปฏิบัติจริง กล่าวถึงการวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่ชื่อว่า อาจารย์หุ่นยนต์ ‘Ajarn Robot’ สำหรับช่วยสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนและนักศึกษา

โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมนำเสนอในงาน ‘SPECIAL EDITION 2022 – INVENTION GENEVA EVALUATION DAYS’ ณ สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอภายในงาน

ดร.ขวัญฤทัย กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน นอกเหนือจากหุ่นยนต์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่ได้ถูกพัฒนาและนำเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ สำหรับการพัฒนาระบบ ที่มีความฉลาดคล้ายคลึงกับมนุษย์ เช่น การเข้าใจ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ การแก้ปัญหาและวางแผน การเรียนรู้และการปรับตัว และการทำงานกับสภาพแวดล้อม

หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์

จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดพัฒนาอาจารย์หุ่นยนต์ ‘Ajarn Robot’ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสื่อ ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ โดยพัฒนารูปร่างต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ดินสอ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (humanoid robot) โดยความร่วมมือจาก บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด เพื่อเป็นนวัตกรรมในการเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างมีความสุขสำหรับนักเรียนและนักศึกษา โดยทีมวิจัย ประกอบด้วย นายเกียรติศักดิ์ ลาภพาณิชยกุล ดร.ศรัณย์ ฉัตรธัญญกิจ ดร.ธนภณ รัชตกุลพัฒน์ ผศ.ดร.จันทรวรรณ สำราญสำรวจกิจ ดร.มงคล มีลุน นายพีรวิชญ์ จัดละ นายเฉลิมพล ปุณโณทก นายยืนยง เหินฟ้าปัญญา และ Prof. Dr. Milla Kinnunen จาก University of Jyväskylä ประเทศฟินแลนด์

ดร.ขวัญฤทัย กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาเป็นสื่ออย่างหนึ่งของการเรียนการสอน เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถพัฒนาให้สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนในแบบ Active to Active และก่อให้เกิดการดึงดูดความสนใจ ของผู้เรียนต่อการเรียนรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

“อาจารย์หุ่นยนต์ เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอน แบบบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและการฝึกปฏิบัติจริง ระหว่าง นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และหุ่นยนต์ สำหรับช่วยนักเรียน นักศึกษาในการฝึกฝน และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ โดยหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถช่วยฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ในขณะเล่นเกม รวมถึงการร้องเพลง และเต้นรำ ที่ก่อให้เกิดการเรียนอย่างสนุก และในอนาคต เทคโนโลยีหุ่นยนต์ สามารถที่จะเขียนโปรแกรมทำให้เกิดการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เพื่อต่อยอดในรูปแบบของหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่สามารถบริหารจัดการบทเรียนให้สอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคนได้ด้วยตัวของเทคโนโลยีหุ่นยนต์เอง

“ในปัจจุบัน มทร.พระนคร ได้นำอาจารย์หุ่นยนต์ ไปใช้ช่วยสอนนักศึกษาในสาขาวิทยาการ ที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ในด้านวิศวกรรมศาสตร์ : คอมพิวเตอร์ อุตสาหการ ไฟฟ้ากำลัง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ด้านบริหารธุรกิจ : การเงิน ระบบสารสนเทศ ภาษาอังกฤษธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) และในด้านภาษาศาสตร์ : ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ในอนาคตคณะวิจัยยังวางแผนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์อาจารย์สำหรับวิชาอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ coding เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้ผู้เรียนยิ่งขึ้นไป” ดร.ขวัญฤทัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง