ม.มหาสารคาม ยกระดับ การย้อมเส้นด้ายจากผงสีธรรมชาติ

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการยกระดับการย้อมเส้นด้ายจากผงสีธรรมชาติ ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ จังหวัดมหาสารคาม สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ยกระดับ การย้อมเส้นด้ายจากผงสีธรรมชาติ

โดยมี รองศาสตราจารย์ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นางสาวน้ำฝน ไล่สัตรูไกล นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม และนายพงษ์ศักดิ์ คณะมะ พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม ร่วมลงนามความร่วมมือ มี นางสาวศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเรือนหลังใหญ่ พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ทั้งนี้เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ในการใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างองค์กรทั้ง 6 ฝ่าย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ จังหวัดมหาสารคาม สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการยกระดับการย้อมเส้นด้ายและผ้าจากผงสีธรรมชาติ ที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่

พร้อมร่วมมือในการพัฒนากระบวนการย้อมเส้นด้ายและผ้าด้วยผงสีธรรมชาติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และสร้างรายได้ของชุมชน อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์การย้อมเส้นด้ายและผ้าด้วยผงสีธรรมชาติ ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทำให้เกิดคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผสมผสาน ระหว่างนวัตกรรมกับอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตอัตลักษณ์

รองศาสตราจารย์ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของ “ผ้าทอ” อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่แสดงถึงภูมิปัญญาอันโดดเด่นของชาวอีสาน โดยได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการอนุรักษ์และค้นหานวัตกรรมเพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่ผ้าทออีสาน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง