ผู้เชี่ยวชาญชี้ ChatGPT สุดยอด AI อัจฉริยะ อาจกระทบงาน-เด็กวัยเรียนรู้

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวถึง “ChatGPT” สุดยอดปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาคำตอบ ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ว่าเป็นแชทบอทที่เก่งมาก เหมือนจาร์วิสในหนังไอรอนแมน ที่คอยเป็นผู้ช่วยและเป็นเลขาที่มีความฉลาดเหลือล้น

ChatGPT สุดยอด AI อัจฉริยะ

โดย ChatGPT เป็นแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ของกลุ่มนักพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า OpenAI ซึ่งไมโครซอฟท์สนับสนุน หลังเกิดขึ้นมาแล้วผู้คนทั่วโลกได้ลองใช้ เกิดกระแสชื่นชม ชื่นชอบ เพราะ ChatGPT ไม่ได้แค่ช่วยหาข้อมูลคำตอบได้เพียงไม่กี่วินาที แต่ยังรู้จักการเรียบเรียงคำตอบ ด้วยภาษาวิชาการที่สละสลวยถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ลำดับเรื่องราว ลำดับประเด็นอย่างมีเหตุและผล รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะให้เสร็จสรรพ

“ที่สำคัญคืองานที่คิดออกมาจะไม่มีซ้ำหรือเหมือนใคร มีนักวิชาการหลายท่านตรวจสอบการลอกเลียนแบบผลงาน หรือ Plagiarism ก็พบแค่ 5% ซึ่งถือว่ายอมรับได้ ทำให้ ChatGPT แตกต่างจาก Search Engine อย่างกูเกิล และต่างจากเว็บไซต์ข่าวสารให้บริการข้อมูลทั่วไป ที่ทำได้แค่สืบค้นข้อมูลทั่วไปซึ่งเราจะต้องนำข้อมูลในแต่ละแหล่งมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ผสมร้อยเรียงเองอีกต่อหนึ่ง” ดร.ชัยพร กล่าว

คณบดี CITE กล่าวด้วยว่า ด้วยระบบปฏิบัติการสุดล้ำของ ChatGPT ทำให้หลังการเปิดตัวเพียง 5 วัน ก็มีผู้ใช้งานครบ 1 ล้านคนแรก ถือว่ารวดเร็วกว่าโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่าง Facebook, Instagram และ Twitter ที่สถิติเดิมต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะได้ผู้ใช้ถึงตัวเลขนี้ โดยปัจจุบันระบบของ ChatGPT พัฒนามาถึงในเวอร์ชั่น 3.5 เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา มีชุดความรู้สูงถึง 175 พันล้านชุดข้อมูลในฐานองค์ความรู้ อีกทั้งยังมีความถูกต้องและมีจริยธรรมในคำตอบพอสมควร หากถามในแนวทางที่ผิดศีลธรรม เช่น ถามวิธีแฮกข้อมูลเว็บไซต์หรือทำอะไรไม่ดี ก็จะไม่มีคำตอบ

คณบดี CITE แนะว่า ChatGPT ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เช่น ช่วยเขียนบทความ วางแผนทำเนื้อหานำเสนอ ช่วยในการวิจัย หาข้อมูล ช่วยทำให้งานที่เกี่ยวกับการทำ SEO ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นตัวช่วย SMEs ในการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง และยิ่งผู้ใช้มีความรู้ในเรื่องที่จะถามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งค้นหาได้ง่าย หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

หากเราอยากได้โปรแกรมหน้าตาแบบนี้ ทำงานแบบนี้ ด้วยภาษา Python หรือ Java แชทบอทก็จะไล่เขียนโปรแกรมให้ จากนั้นเราก็ปรับปรุงและก็อปปี้ไปใช้ได้เลย เพราะตัวโครงหลักเขียนค่อนข้างถูกต้องและรวดเร็วเทียบเท่าคนเขียนโปรแกรมคล่องๆ คนหนึ่ง คือ เป็นตัวช่วยเขียนเสริม 70% แล้วอีก 30% เราไปประกอบต่อเติมให้ครบตามที่เราต้องการ

อย่างไรก็ตาม ดร.ชัยพร กล่าวถึงความน่ากังวลต่อ ChatGPT ว่า สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในงานบางอย่าง เช่น Call center หรืองานธุรการ เป็นต้น ซึ่งต้องดูกันต่อไปในระยะยาว แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คือ การเรียนของนักเรียน นักศึกษา อย่างในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ทางหน่วยงานด้านการศึกษาถึงกับมีการแบนการใช้งาน ChatGPT เพราะมีความกังวลว่าอาจกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากไม่เหมือนกูเกิล ที่เมื่อหาข้อมูลได้แล้วต้องนำไปกรองอีกขั้น ก่อนจะหยิบจับมาผสมร้อยเรียง แต่ ChatGPT สรุปมาเลยมี 1-2-3-4-5 และเรียบเรียงมาให้ด้วย ทำให้นักเรียนและนักศึกษาอาจขาดการศึกษาเรียนรู้ ขาดการลองผิดลองถูก

“ล่าสุดไมโครซอฟท์เพิ่งจะเพิ่มทุน 10 เท่า จากเดิม 1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนกว่าล้านบาท ก็คาดการณ์ได้เลยว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกูเกิล อย่างไรก็ตาม อยากให้คนไทยลองใช้ก่อน แน่นอนว่าเราคงไปแข่งสร้าง ChatGPT อีกอันกับเขาไม่ได้ แต่เราอาจจะใช้เพื่อต่อยอดได้ นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น วิศวะฯ ก็สามารถนำมาต่อยอดงานของตัวเอง เราอาจจะใช้ ChatGPT เป็นฐานองค์ความรู้ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของพี่น้องประชาชนคนไทย ให้มีศักยภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ อยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเรื่อง AI ตอนนี้เราควรศึกษาและพัฒนา AI ของเราเองที่เหมาะกับประเทศไทย เช่น AI เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร หรืออุตสาหกรรมการประมงที่ใช้ AI คัดคุณภาพปลา วิเคราะห์พันธุ์ปลา ก็เป็นเรื่องเฉพาะที่ต่อยอดได้ง่ายไม่แพ้แชทบอท ChatGPT นี้” ดร.ชัยพร กล่าวในตอนท้าย

ด้วยความเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงและความต้องการบุคลากรที่มีทักษะที่สำคัญแห่งอนาคต เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกยุคสมัย ที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงจัดหลักสูตรต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก เช่น หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล หลักสูตรวิศวกรรมโลจิสติกส์ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://cite.dpu.ac.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง