ถอดบทเรียนนักศึกษาสหกิจ ราชมงคลพระนคร ประสบการณ์ล้ำค่า พัฒนาบัณฑิตสู่ตลาดแรงงาน

ในสภาวการณ์ปัจจุบันตลาดแรงงานมีการแข่งขันอย่างสูงในทุกด้าน ลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่ตลาดแรงงานมีความต้องการจึงมีความหลากหลาย โดยความต้องการของสถานประกอบการที่ต้องการให้มีในตัวบัณฑิตปัจจุบัน ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยี การเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม การสื่อสารข้อมูล การเป็นผู้นำ การเป็นผู้มีระเบียบวินัย และมีจริยธรรม เป็นต้น

ถอดบทเรียนนักศึกษาสหกิจ ราชมงคลพระนคร

ดังนั้น การได้มีโอกาสคุ้นเคยกับโลกแห่งความจริงของการทำงานและการเรียนรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะของอาชีพ และทักษะด้านพัฒนาตนเอง นอกเหนือไปจากทักษะด้านวิชาการ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเรียนรู้และพัฒนาได้โดยเร็วเมื่อนักศึกษาซึ่งจะเป็นบัณฑิตในอนาคต ได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการต่าง ๆ ผ่านการสหกิจศึกษา

อีกหนึ่งประสบการณ์สหกิจศึกษาของ นายพิริยะพล โสภาคกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ได้เข้าร่วมการฝึกสหกิจกับสถานประกอบการ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ณ ศูนย์วิเคราะห์และทดสอบสิ่งทอ

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาได้ฝึกงาน ได้ดำเนินการทำโปรเจกต์ เรื่อง MOMIJI Kari (โมมิจิการิ) โดยการนำใบไม้มาพิมพ์บนผ้าไนลอนรีไซเคิล ผสมเส้นใยสแปนเด็กซ์ และได้นำเสนอผลงานนี้กับคณะกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งต่างก็ให้ความชื่นชมผลงานดังกล่าว จนนำผลงานโปรเจกต์ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก สำหรับจำหน่ายในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันครบรอบวาโก้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนสินค้ารักษ์โลก และสินค้า Limited edition

นายพิริยะพล โสภาคกุล กล่าวถึงผลงานว่า ได้แนวคิดมาจากปัจจุบันสภาวะโลกร้อนกำลังเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสรักษ์โลก Eco Trend ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการลดใช้พลังงาน น้ำ ไฟ เชื้อเพลิง ลดการใช้พลาสติกและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการแฟชั่นที่เลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติในการผลิตสินค้า Eco Print เป็นกระบวนการพิมพ์ที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ปลอดภัยจากสารเคมี ไม่มีโลหะหนักปนเปื้อน

ด้วยเหตุนี้จึงคิดนำใบไม้มาพิมพ์ลงบนผ้า Recycled Nylon ผสม Spandex ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชุดชั้นในสตรี โดยนำใบไม้มาวางลงบนผ้า จากนั้นนำไปผ่านการทำความร้อนซึ่งเป็นขั้นตอนการทำให้เกิดสี ซึ่งการพิมพ์ผ้าจากใบไม้จัดว่าเป็น Green Product สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Model : BIO ECONOMY (เศรษฐกิจชีวภาพ)/ CIRCULAR ECONOMY (เศรษฐกิจหมุนเวียน)/ GREEN ECONOMY (เศรษฐกิจสีเขียว) อีกด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าวผ่านตามข้อกำหนดเรื่องการทดสอบความคงทนของสีตามมาตรฐานของวาโก้ โดยใช้มาตรฐานการทดสอบของญี่ปุ่น (JIS Standard)

นายพิริยะพล กล่าวอีกว่า ตลอด 4 เดือนเต็มหรือ 1 ภาคการศึกษา สิ่งที่ได้จากการสหกิจศึกษาที่มากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน คือการเรียนรู้การทำโปรเจกต์กับบริษัท การทำงานอย่างเป็นระบบในสถานประกอบการขนาดใหญ่ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับมาตราฐานการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบในงาน ตรงต่อเวลาและซื่อสัตย์ต่อองค์กร

“ขอขอบคุณทุกส่วนงานของบริษัทไทยวาโก้ ที่ให้คำแนะนำแก่นักศึกษา ทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ใหม่ ตลอดจนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้นักศึกษาได้เติมเต็มความรู้ความสามารถโดยไม่ปิดกั้น ความคาดหวังคืออยากเห็นผลงานของตนเอง ถูกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะออกจำหน่ายได้ รวมถึงสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และสามารถนำออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างแท้จริง”

ด้าน ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การสหกิจศึกษา คือการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในหน่วยงาน สถานประกอบการหรือองค์กรผู้ใช้บัณฑิต อย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ ระหว่างการเรียนการสอนกับการทำงานอย่างเป็นระบบ (Work Integrated Learning )

โดยนักศึกษามีการปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งสหกิจศึกษาเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ อันจะเป็นการฝึกการประยุกต์ใช้ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี ให้สามารถนำไปใช้ในการทำงานจริง

เป็นการเติมเต็มการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาเพื่อการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ “ภูมิใจที่นักศึกษาสามารถนำวิชาความรู้ในห้องเรียนไปคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตนเองจนสำเร็จ และการสหกิจศึกษาทำให้นักศึกษาได้เติมเต็มความรู้ความสามารถก่อนออกไปสู่ตลาดแรงงานตรงตามเป้าหมายที่ตั้งใจของมหาวิทยาลัยฯ ในการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.รัตนพล กล่าว
พุทธชาติ/ข่าว

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง