คณะวิทย์ มธ. ชวนยลพาเหรดชุดผ้าไทยพื้นถิ่น กับ 3 งานศิลป์สุดตระการตา

คณะวิทย์ มธ. ชวนรู้จัก ‘ De (Sign) Scientist – นักวิทย์สิ่งทอยุคเป็ดพรีเมี่ยม ’ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ ที่จะเขย่าวงการแฟชั่นสิ่งทอสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอ สู่ห่วงโซ่แห่งความยั่งยืน หยุดวงจรแฟชั่นสร้างขยะให้โลก

3 งานศิลป์สุดตระการตา

ผลงาน ‘ De (Sign) Scientist

กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2566 – คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) หรือ คณะวิทย์ มธ. เผยความงดงามสุดวิจิตรของ ‘3 งานศิลป์ชุดผ้าพื้นถิ่น’ ผลงานการรังสรรค์โดย ‘ De (Sign) Scientist – นักวิทย์สิ่งทอยุคเป็ดพรีเมี่ยม ’ โดยนักศึกษา ‘สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ’ ที่ขมวดรวมความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งทอ และการออกแบบแฟชั่น มาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่การคิดค้นเนื้อผ้า การออกแบบที่อัดแน่นด้วยไอเดียการสวมใส่ ให้คงความเอกลักษณ์พื้นถิ่น แต่มีความร่วมสมัย

ซึ่งล่าสุดได้ออกคอลเลคชันใหม่ ที่ดึงเสน่ห์ผ้าไทยพื้นถิ่น สู่แฟชั่นไอคอนบนรันเวย์ ได้แก่ Iconic of Female Warrior ความลงตัวของการออกแบบ ยกระดับผ้าไทยพื้นถิ่นให้เรียบหรู-นุ่มนวลเมื่อสวมใส่ เพชรเมืองรอง ผลงานการเจียระนัยเพชรน้ำงาม ‘ไหมแพรวา’ เสน่ห์แห่งผ้าพื้นถิ่นกาฬสินธุ์สไตล์โมเดิร์น ที่คนรุ่นใหม่ใส่ได้ทุกวัน River of Glory ผลงานการขมวดรวมของวิทย์และศิลป์บนผ้าผืน ฉายภาพ ‘แม่น้ำแห่งความรุ่งโรจน์’ การผูกมิตรการค้าไทย-ยุโรป พร้อมกวาดหลายรางวัลจากเวทีแฟชั่นผ้าพื้นถิ่นระดับประเทศ

อาจารย์ ดร.ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) หรือ คณะวิทย์ฯ มธ. กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ‘สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ’ คณะวิทย์ มธ. เปิดตัวคอลเลคชันใหม่ ที่ใช้ผ้าไทยพื้นถิ่นเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้ค้นคว้าตามความสนใจ โดยใช้องค์ความรู้ที่ด้านด้วยวิทยาศาสตร์และแฟชั่นสิ่งทอ ที่มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เรียนสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทย์ฯ มธ. คือ ‘ De (Sign) Scientist – นักวิทย์สิ่งทอยุคเป็ดพรีเมี่ยม ’ ที่ผสานความรู้ที่หลากหลาย นำไปออกแบบผลงานและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งจากโจทย์ในห้องเรียนดังกล่าว ทำให้ได้ 3 ผลงานเด่น ดังนี้

· “เพชรเมืองรอง” ผลงานการเจียระนัยเพชรน้ำงาม ‘ผ้าทอลายแพรวา’ เสน่ห์แห่งผ้าพื้นถิ่นกาฬสินธุ์ สู่ผ้าไทยสไตล์โมเดิร์น หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง พร้อมเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ ใส่ได้ทุกวัน

นายพอร์ชพิพัชญ์ สอนชัยภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่าด้วยเล็งเห็นถึงเสน่ห์ของ ‘ผ้าทอลายแพรวา’ เพชรน้ำงามของผ้าผืนถิ่นในเมืองรองอย่าง ‘จ.กาฬสินธุ์’ ตนจึงตั้งใจหยิบยกผ้าดังกล่าว มาออกแบบในสไตล์โมเดิร์น ผ่านการนำผ้าทอพื้นมาออกแบบให้มีความเหลื่อมของลายผ้า เพื่อให้เกิดเส้นนำสายตาและเสริมบุคลิกแก่ผู้สวมใส่

โดยตั้งใจเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการเลือกสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเมืองรอง อย่างไรก็ดี สำหรับการเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ ถือเป็นความลงตัวของศาสตร์ด้าน ‘วิทย์-ศิลป์-ดีไซน์’ ทำให้ตนรู้ลึกเรื่องถิ่นที่มาของเส้นใย วัสดุสิ่งทอ เทคนิคการย้อม ความยั่งยืนและทางรอดของสิ่งทอ ตลอดจนได้รับกระบวนการคิดและวางแผนการทำงานที่เป็นระบบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

· “Iconic of Female Warrior” ความลงตัวของการออกแบบและถักทอสุดวิจิตร ยกระดับผ้าไทยพื้นถิ่นให้เรียบหรู-นุ่มนวลเมื่อสวมใส่

นางสาวอุษณียาภรณ์ ลุนกำพี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการแต่งกายของ ‘วีรสตรียุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น’ ที่สมัยนั้นผู้หญิงไทยเน้นสวมใส่ตะเบงมานเพื่อความคล่องตัวเสมือนนักรบ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังภาวะสงคราม

โดยได้เลือกใช้ ‘ผ้าลายประยุกต์’ อัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นในภาคอีสาน มาผ่านกระบวนการ ‘การหมักโคลน’ เพื่อลดทอนความกระด้างของผ้า พร้อมถักทอด้วยลวดลายวิจิตรตระการตาและอ่อนช้อย จากนั้นใช้การจับหน้านางด้วยผ้าผืนเดียวที่ให้ความรู้สึกเรียบหรูและไม่ระคายผิวเมื่อสวมใส่ โดยมีนายพอร์ชพิพัชญ์ สอนชัยภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นเพื่อนร่วมทีม

ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการ ‘รัตนาศรีแผ่นดินเทิดพระเกียรติ’ ในการสืบสาน รักษา อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การแข่งขัน 3 ศาสตร์ 2 ระดับ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ ‘การแข่งขันเครื่องนุ่งห่ม (ผ้าพื้นถิ่น)’ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

· “River of Glory” ผลงานการขมวดรวมของ วิทย์และศิลป์ บนผ้าผืน ฉายภาพ ‘แม่น้ำแห่งความรุ่งโรจน์’ สมัยการทำพันธมิตรทางการค้าไทย-ยุโรป สมัยรัชกาลที่ 5

ด้าน นางสาวแก้วทิพย์ เรืองฉาย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่าผลงาน ‘River of Glory’ หรือ ‘แม่น้ำแห่งความรุ่งโรจน์’ ผ่านการคิดค้นและออกแบบร่วมกับ นางสาวธนภรณ์ ฉิมนาม นักศึกษาชั้นปีที่ 3

ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจ จากการแต่งกายของชาวบ้านในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีการจับจีบผ้าส่วนหน้า ม้วนเข้ากับผ้าบริเวณอก พาดผ้าที่บ่าและทิ้งชายผ้าลงคล้ายกับสายน้ำที่ไหลแบบไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือน ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ นับเป็นการแต่งกายเชิงสัญลักษณ์ของการทำพันธมิตรทางการค้าร่วมกับยุโรป ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการค้าขายด้วยการเดินเรือมาทางน้ำ ทั้งนี้ สิ่งที่ได้รับจากการเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ ทำให้ได้ทักษะการเป็นคนช่างสังเกตุ มีเทคนิคการจับจีบผ้า มีพื้นฐานความรู้ในการเลือกเนื้อผ้าให้พริ้วไหวและตรงคอนเซ็ปต์มากขึ้น

อาจารย์ ดร.ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า ‘สิ่งทอไทย’ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทรงคุณค่า ยกระดับวัตถุดิบพื้นถิ่นไทย กระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งยังเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ต่อเนื่อง ด้วยความสมบูรณ์ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงแรงงานฝีมือศักยภาพสูง จึงเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยได้รับการยอมรับมาตรฐานระดับนานาชาติ

โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของไทย จัดอยู่ในอันดับทอปของโลก ซึ่งประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมียอดส่งออกในตลาดสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น และมีมูลค่าการส่งออกรายไตรมาสไม่น้อยกว่า 1 พันเหรียญสหรัฐ (อ้างอิง : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ , กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)

ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คณะวิทย์ มธ. พัฒนา ‘หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ’ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่ปูพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ การออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และการจัดการธุรกิจ สู่การเป็น ‘นักวิทย์สิ่งทอ’ หรือ ‘De – (sign) Scientist’ ที่สามารถขมวดรวมความรู้สู่การพัฒนาแบรนด์เสื้อผ้า ตลอดจนก้าวสู่สายอาชีพนักวิจัย นักวิเคราะห์สิ่งทอในภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ได้ในอนาคต อีกทั้ง นักวิทย์สิ่งทอ’ หรือ ‘De – (sign) Scientist’ ของคณะวิทย์ มธ. จะเป็นผู้นำในการต่อลมหายใจให้กับวงการแฟชั่นสิ่งทอ ให้เป็นห่วงโซ่แห่งความยั่งยืนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่สร้างขยะให้โลก

สำหรับสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทย์ มธ. มุ่งเน้นการปฏิบัติจริงและเปรียบผู้สอนเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ที่พร้อมให้คำปรึกษาและเติมเต็มทักษะต่างๆ โดยที่ใน ‘ช่วงชั้นปีที่ 1-2’ จะปูพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และเทคโนโลยีสิ่งทอ ‘ชั้นปีที่ 3’ จะเพิ่มความเข้มข้นใน 2 สาขาวิชาโทที่นักศึกษาสนใจ คือ สาขาเคมีสิ่งทอ เน้นการเรียนรู้เชิงลึกของเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยสังเคราะห์ เทคโนโลยีการย้อมสี ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพสิ่งทอจากการขัดถู-การซัก ฯลฯ

ขณะที่ สาขาออกแบบสิ่งทอ เน้นเรียนรู้เทคนิคการตัดเย็บเสื้อผ้า การวัดตัว การใช้จักรเย็บผ้า กระบวนการผลิตการ์เม้นท์ (Garment) พื้นฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางสิ่งทอ และในชั้นปีสุดท้าย ‘ชั้นปีที่ 4’ จะเป็นการเรียนรู้ด้านการจัดการของเสีย นวัตกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการทำโปรเจกต์พิเศษ

“นอกจากนี้ นักศึกษาของเรายังได้รับการเติมเต็มทักษะการประกอบการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัสดุสิ่งทอ ทักษะผู้นำและการทำงานเป็นทีม ทักษะการนำเสนอจากการลงสนามจริง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการอัพเกรด ‘นักวิทย์สิ่งทอ’ ในยุคเป็ดพรีเมียมให้ก้าวสู่การเป็น ‘ศิลปินวิทยาศาสตร์’ ที่มีทักษะความรู้ที่รอบด้านและหลากหลาย ทั้งยังมีหลักคิดในการประกอบธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ‘SCI + BUSINESS’ ของคณะฯ ในการเป็น ‘แหล่งปั้นนักวิทย์-พัฒนาธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในปีการศึกษา 2567 คณะฯ มีแผนปรับโครงสร้างหลักสูตรเพื่อให้สอดรับกับความสนใจและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดกว้างและสร้างสมดุลทางจิตใจในการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด“ อาจารย์ธนิกา กล่าว

ผู้สนใจศึกษาต่อใน “หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ” สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th, https://www.facebook.com/SciTU/ หรือติดต่อ 02-5644490 ต่อ 2094 และเตรียมพบกับโฉมใหม่ของการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ คณะวิทย์ มธ. พร้อมจับมือคนรุ่นใหม่ก้าวสู่ปรากฎการณ์การเรียนวิทย์ยุคใหม่ เร็ว ๆ นี้

นายพอร์ชพิพัชญ์ สอนชัยภูมิ

นางสาวอุษณียาภรณ์ ลุนกำพี้

นางสาวแก้วทิพย์ เรืองฉาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง