ราชภัฏ 38 แห่ง – สวนดุสิต อนุญาตใส่ชุดครุยตามเพศสภาพ เข้ารับปริญญา

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Ince Jirapat” โพสต์ข้อความเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พิจารณาให้บัณฑิตแต่งชุดครุยตามเพศสภาพเข้ารับปริญญา

โดยเนื้อหาระบุว่า “ฝากแชร์ข่าวดีถึงน้อง ๆ ราชภัฏ 38 แห่ง และน้อง ๆ สวนดุสิต ของขวัญฉลองเดือน PRIDE จากอดีตนิสิตข้ามเพศจุฬาฯ ถึง บัณฑิตราชภัฏ ครั้งแรกและครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะ ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แบบไร้เงื่อนไข

อนุญาตใส่ชุดครุยตามเพศสภาพ เข้ารับปริญญา

ทั้งนี้บัณฑิตที่มีความประสงค์ ในการแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องทำการติดต่อ กองพัฒนานักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยตนเอง พร้อมยื่นเอกสารแสดงความจำนงขอแต่งกายตามเพศสภาพ และนำบัตรประชาชนไปด้วย เพื่อยืนยันตัวตนในการส่งเอกสาร

ซึ่งจะมีระยะเวลากำหนดในการยื่น ขอให้บัณฑิตทุกท่าน ติดต่อสอบถามกับทางมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัย อาจมีระยะเวลาและกำหนดการยื่นเอกสารที่แตกต่างกัน รวมถึงบัณฑิตที่เคยแจ้งความประสงค์ ในการไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากปัจจุบันบัณฑิตเปลี่ยนใจ ประสงค์เข้าร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตร ขอให้บัณฑิตติดต่อมหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามและดำเนินการต่อไป

และขอให้บัณฑิตทุกท่านถ่ายสำเนา หรือหลักฐานการยื่นเอกสารแสดงความประสงค์ในการแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจประจำงานพระราชทานปริญญาบัตรด้วย

ขอบพระคุณท่าน ดร.สว่าง ภู่พัฒน์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการช่วยประสานงานนำเรื่องเข้าหารือกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต รวม 39 แห่ง จนนำมาสู่การพิจารณาอนุญาต จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 39 แห่ง ในการเปิดโอกาสให้บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศไทย และบัณฑิตมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สามารถแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะ ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

รวมทั้ง ขอบพระคุณท่าน ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความต้องการ และความหลากหลายของบัณฑิต ในการเปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะ ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

ซึ่งถือเป็นปีแรก และเป็นประวัติศาสตร์สีรุ้งหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียม รวมถึงเป็นการคุ้มครอง และส่งเสริมให้บุคคล ชุมชนคนข้ามเพศ และสังคมไทยก้าวสู่ความเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยะประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยตระหนักถึงสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

ขอขอบพระคุณ ท่านดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่คอยช่วยสนับสนุน ผลักดัน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการพูดคุย ติดต่อ และประสานงานกับบุคคล และหน่วยงานต่าง ๆ จนเกิดสายรุ้งแห่งความเท่าเทียมนี้ ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศไทย

ขอขอบพระคุณท่าน ดร.ชูเกียรติ วิวัฒน์วงศ์เกษม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และท่านสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้คำชี้แนะ คำแนะนำ และคอยประสานงานติดตามความคืบหน้า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม

และขอบคุณตัวเอง จากอดีตนิสิตข้ามเพศจุฬาฯ ในวันนั้น มาสู่ชมพิงก์ที่เรียกร้องสิทธิให้น้อง ๆ ในวันนี้ ขอบคุณที่ตัวเราที่ไม่ได้หยุด และยืนหยัดเพียงเพื่อตัวเอง แต่ยืนหยัดเพื่อคนอื่นด้วย ขอบคุณตัวเองที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา และเลือกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา ไปพร้อมกับน้อง ในฐานะคนที่เคยเจอปัญหา เคยผ่านปัญหาได้ เพราะเราเชื่อว่าเราจะไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจในสิ่งที่น้องรู้สึก แต่เรารู้สึกในสิ่งที่น้องรู้สึก และเราจะเป็นคนที่สามารถจับมือน้องเดินไปพร้อมกับเรา

สุดท้ายนี้ หากมีใครมีข้อสงสัย มีข้อกังวลใดๆ หรือ ติดต่องาน รบกวนติดต่อผ่าน Inbox หรือ DM ผ่าน FaceBook : Ince Chompink Jirapat และ Instagram : Chompink_Jirapat ของชมพิ้งค์เท่านั้นนะคะ ซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อของชมพิ้งค์โดยตรง

เนื่องจากปัจจุบันการยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นในนามของ ชมพิ้งค์ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศจุฬาฯที่เรียกร้องสิทธิเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ ไม่ได้สังกัดภายใต้องค์กรใด และการยื่นเรื่องดังกล่าวไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสังกัดหรือองค์กรใด  รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากองค์กรใด นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้ไม่เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนของข้อมูล และขอฝาก #MyUniformMyRights เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ด้วยนะคะ

ที่มา Ince Chompink Jirapat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง