พาน้องๆ แคมปัสฯ ชาวสิงห์แดง ย้อนอดีตกลับไปชมภาพรุ่นพี่ๆ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 2502 เมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว น้องๆ นักศึกษาที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ หรือชาวสิงห์แดงทั้งหลายไปดูกันค่ะว่ารุ่นพี่ๆ ในอดีตนั้นเขาแต่งกายกันยังไง บรรยากาศการเรียนจะแตกต่างจากตอนนี้มากน้อยแค่ไหน พร้อมมี ประวัติของคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มาให้อ่านกันด้วยค่ะ
ลูกแม่โดม รุ่น 2502 นักศึกษารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว
ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม คณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 19 มิ.ย. 2492 – 19 ธ.ค. 2495
ประวัติคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ส่งผลให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวคือ หลังการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้จัดการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ในฐานะส่วนหนึ่งของหลักสูตร “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” (ธ.บ.) สำหรับระดับชั้นปริญญาตรี ขณะที่ระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาเอก มีการแยกหลักสูตรออกเป็น 3 ทาง ได้แก่ หลักสูตรรัฐศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตร์ และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์
สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความผันผวนทางการเมือง ตลอดจนสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรมหาวิทยาลัยใหม่ จึงได้มีการตรา “ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492” ซึ่งข้อบังคับนี้นำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยในการร่างหลักสูตร คณบดี และคณะกรรมการของคณะได้ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างหลักสูตรจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากมูลนิธิ Fulbright ซึ่งเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ณ สมัยนั้นด้วย
ต่อมาปี พ.ศ. 2498 ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสหรัฐฯ คณะรัฐศาสตร์ก็ตั้งแผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในระดับชั้นปริญญาโท โดยจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบภาษาอังกฤษ และภาษาไทย พอปี พ.ศ. 2502 แผนกการทูตในระดับชั้นปริญญาตรีจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก (หลังจากที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโทมาเป็นเวลาช้านาน) ติดตามมาด้วยแผนกบริหารรัฐกิจ และแผนกรัฐศาสตร์ศึกษา
ช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ถึงทศวรรษที่ 2520 มีการปรับโครงสร้างเกิดขึ้นเป็นระยะ เพื่อความเหมาะสมทางวิชาการ มีการยุบรวมแผนกปรัชญาการเมือง จนท้ายที่สุด คณะรัฐศาสตร์ก็เหลือแผนกอยู่ทั้งหมด 3 แผนก คือ แผนกการปกครอง แผนกบริหารรัฐกิจ และแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (แผนกการทูตเดิม) ซึ่งนี่เป็นโครงสร้างที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คณะรัฐศาสตร์ยังคงพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการใหม่ๆ ในทางวิชาการ
ช่วงทศวรรษที่ 2530 นอกเหนือจากการริเริ่มโครงการความร่วมมือมากมายกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งใน และนอกประเทศ คณะรัฐศาสตร์ยังเปิดหลักสูตรพิเศษในระดับปริญญาโทขึ้น 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาโท สำหรับผู้บริหารสาขาบริหารรัฐกิจ (EPA) หลักสูตรปริญญาโทสาขาการปกครอง สำหรับผู้บริหาร (MPE) และหลักสูตรปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (MIR) โดยหลักสูตรสุดท้ายจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 หลังเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลาหลายปี ทางคณะก็ตัดสินรักษาความเป็นผู้นำทางวิชาการด้วยการเป็นคณะรัฐศาสตร์แห่งแรกของประเทศที่เปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษสำหรับสาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ หลักสูตร BMIR การเปิดหลักสูตรนี้ทำให้คณะมีความเป็นนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในต่างประเทศมีมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับจำนวนนักศึกษา และคณาจารย์ชาวต่างชาติ
และภาพต่อไปนี้เป็น ภาพของ ชาวสิงห์แดง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รุ่น 2502 ลองไปชมภาพกันว่าในยุคนั้นบรรยากาศการเรียนจะเป็นอย่างไรบ้าง?
นักศึกษาหญิงรัฐศาสตร์ มธ. รุ่น 2502
ภาพถ่าย นศ.ชาย ลูกสิงห์แดง ในห้องสมุด น่าจะเป็นการถ่ายภาพโปสเตอร์ รณรงค์ให้นักศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากในห้องเรียน
การแต่งกายของนักศึกษาผู้หญิง คณะรัฐศาสตร์ เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว
การถ่ายภาพหมู่ของนักศึกษา หรืออาจจะเรียกว่าหนังสือรุ่น คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพใหญ่อ่านรายชื่อได้ว่ามีใครบ้าง
ภาพถ่ายนักศึกษารุ่น 2502 มธ.
ไม่รู้ว่าเขียนขึ้นเล่นๆ ในกลุ่มเพื่อน หรือเป็นคำที่ใช้ในวิชาเรียนไหน (ข้อนี้ใครทราบคอมเมนท์บอกกันได้นะคะ)
ภาพนี้อาจจะเป็นการแสดงละครเวทีของคณะรัฐศาสตร์ หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง
ขอบคุณที่มาจาก: http://www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/