นิสิตวิศวะฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ จากพ่อหลวงฯ

อีกหนึ่งเรื่องราวความประทับใจที่ พ่อหลวง ของพสกนิกรชาวไทย หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะทำให้พวกเราได้ซาบซึ้ง และเห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีความยุติธรรม และมีพระมหากรุณาธิคุณต่อนิสิตนักศึกษามากเพียงใด โดยเรื่องราวต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

นิสิตวิศวะฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ

ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.2506 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สั่งลงโทษนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ก่อเรื่องวิวาทร้ายแรงกับนิสิตคณะอื่น ด้วยมาตรการรุนแรงถึงขั้นไล่ออก ก่อให้เกิดความบาดหมางน้ำใจระหว่างนิสิตกับมหาวิทยาลัย ประกอบกับเวลานั้นมีรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจดำรงตำแหน่งอธิการบดี ทำให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยมีความตึงเครียดเป็นอย่างมาก และส่อเค้าที่จะลุกลามเป็นความบาดหมางระหว่างนิสิตกับรัฐบาลต่อไปได้

นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 9 คน..

ได้ไปรอเฝ้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ขณะที่รถยนต์พระที่นั่งกำลังเคลื่อนออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเสด็จฯ ไปทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณรับฎีกาไว้ และพระราชทานพระบรมราโชวาทว่า

“..ในขณะที่จะถวายฎีกานั้น จะต้องมีความสำนึกผิดจริงๆ ทางใจด้วย ต้องยอมรับว่าที่ได้กระทำไปแล้ว เป็นความผิดจริง จึงจะอภัยกันได้ ไม่ใช่เป็นการถวายฎีกาแต่เพียงลายลักษณ์อักษร…”

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงมหาวิทยาลัย ได้ทรงเล่าเรื่องนี้ให้กับที่ประชุมมหาวิทยาลัยให้รับทราบ

และมีพระราชดำรัสว่า

“ฎีกานี้ นิสิตทั้งหลายที่ถูกทำโทษ เขียนมายอมรับว่า ทำผิดจริง การที่เขียนมายอมรับว่า ทำผิดนี้ แสดงว่าเขารู้ตัวว่าผิด คนเราทำผิดครั้งเดียวนับว่าเก่ง นิสิตพวกนี้ไม่เคยบอกว่าทำผิดมาก่อน การที่พวกเขาทำผิดและฎีกาบอกมาในวันนี้ จึงอยากให้อธิการและอาจารย์อภัยเขาเสีย”

ด้วยพระราชดำรัสอันละมุนละม่อมนี้เอง ผู้ใหญ่ทางมหาวิทยาลัยจึงน้อมรับพระราชดำรัส

เมื่อนิสิตได้มาปฏิญาณตน และขอขมาโทษต่ออาจารย์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ได้คืนสภาพการเป็นนิสิตให้ นับเป็นการคืนอนาคตที่ยาวไกลให้กับนิสิตนักศึกษาที่สำนึกผิดเหล่านั้นเลยทีเดียว

(ข้อมูลจากหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย)

ที่มา : สกุลไทย,welovethaiking.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง