คุณชายอดัม กับความท้าทายในการกำกับซีรีส์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

คุณชายอดัม ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับหนุ่มบุคลิกมุ่งมั่น ในพาร์ทการทำงานที่ดูจริงจัง กับความท้าทายใหม่ของการกำกับซีรีส์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทางช่อง MONO29 ในแบบที่แตกต่างจากที่หนังได้ทำมา และความพิเศษของ season 2 ที่จะเพิ่มดาราวัยรุ่นหลายคน และเตรียมฉายในเดือนมกราคมนี้แล้ว

คุณชายอดัม กับความท้าทายในการกำกับซีรีส์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

INSPIRATION

คุณชายอดัมเริ่มต้นคลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก จากการได้เห็นการทำงานในครอบครัว จนกระทั่งสิ่งที่จุดประกายความอยากเป็นผู้กำกับนั้นเริ่มต้นมาจากการได้รับรู้ถึงฟีดแบ็กจากหนังเรื่อง “เสียดาย” ของ ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่เป็นสื่อที่ทำให้คนติดยาเสพติดกลับตัวกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปในทางที่ดีขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณชายเลือกเดินทางไปเรียนต่อด้านการทำภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยที่ประเทศออสเตรเลีย

IMPORTANT IN A CAREER

“เคยอยากเป็นทหาร นักการเมืองหรือตำรวจที่มีอำนาจในการดูแลเทคแคร์คนได้ แต่พอช่วงที่ท่านพ่อทำหนัง “เสียดาย” ซึ่งเป็นหนังที่เปลี่ยนโลกทัศน์ผมมาก มีคนโทรเข้ามาที่บ้านแล้วบอกว่าเขาเลิกยาเสพติดได้เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนนั้นผมอยู่ประถมเอง แต่ก็รู้สึกว่าสื่อมีพลังและเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลกับคนมากๆ หลังจากนั้นก็ตั้งใจครูพักลักจำจากกองถ่าย

ประสบการณ์ครึ่งหนึ่งได้จากกองถ่าย เราได้เห็นด้านแย่นะ ไม่ใช่ด้านดี หลายคนถูกดึงดูดให้เข้ามาทำหนังด้วยข้อดีของมัน ด้วยความสวยงาม เราได้เจอดารา ได้ทำงานที่เราอยากเล่า ได้ลงมือผลิต แต่ผมต้องใช้คำว่ายอมรับในสิ่งที่แย่ของมันได้ ด้วยการอดมื้อกินมื้อ การไม่ได้มีเงินมากมาย แล้วอีกครึ่งหนึ่งก็มาจากการเรียนในโรงเรียนภาพยนตร์ มันมาควบคู่กันไป

ตอนนั้นผมเลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่ BOND UNIVERSITY ประเทศออสเตรเลีย ได้เจอคนที่สามารถคุยเรื่องหนังได้ตลอด 24 ชม. ได้ทำหนังเองกว่า 160 โปรดักชั่น รู้สึกว่าทุกวันคือวันหยุด การทำงานคือวันพักผ่อนของเรา แล้วทุกคนมาเรียนไม่ได้ต้องการทำเกรดให้ดี ไม่ได้คิดถึงการแข่งขัน แต่คิดแค่จะทำหนังเป็นเป้าหมายเดียวกัน ตอนนั้นเป็นสามปีที่สนุกมาก มันมาก จนจบกลับมาเมืองไทย เราก็คิดแต่ว่า เราไม่มีเงิน แต่เรามีความรู้ เรามีพ่อ เรามีครอบครัวที่ทำภาพยนตร์ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างบารมี สร้างข้อต่อรอง การที่จะเดินไปขอเงินคนสิบล้าน มันไม่ใช่ง่ายๆ นะ เราต้องเริ่มจากทำให้คนเชื่อก่อน ก็ต้องเริ่มจากคนที่เชื่อง่าย ต้องเริ่มที่เด็ก สร้างบริษัทขึ้นมา สร้างคนใหม่ๆ บริหารมันทีละสเต็ป แล้วก็ได้มีโอกาสทำหนังถึงสองเรื่อง อย่างเรื่องแรกก็ได้เรียนรู้อะไรจากมันเยอะ จากความผิดพลาดต่างๆ ผมว่าปัญหามีทุกวัน ปัญหามีมาตั้งแต่ผมเกิดลืมตาดูโลก ถ้าไม่มีปัญหา ปัญหาหมด ก็คืองานหมด สิ่งที่เจอเยอะที่สุดคงเป็นเรื่องของคน มนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน เราเจอผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ร้อยเหตุการณ์ที่เขาเจอ ไม่ใช่เขาชอบหมดนะ แต่เราจะทำยังไงให้เขาชอบมากที่สุด

แล้วผมเป็นคนเริ่มต้นทำทีละสเต็ป เราเริ่มจากศูนย์ ทำอะไรแล้วจะได้หนึ่ง เศษสอง เศษสาม อย่าง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์” ครั้งแรกที่ผู้ใหญ่ในช่องติดต่อมา ผมปฎิเสธตั้งแต่ต้นที่จะไม่ทำ เพราะด้วยประสบการณ์ของเราคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นรูปธรรมได้ แต่สุดท้ายผมก็มาคิดว่ามันเป็นความท้าทายอย่างมาก ทำอย่างไรให้ละครไทยออกไปสู่สากล อยากให้คนยอมรับตรงนี้ ทำไมเราดูคิงอาร์เธอร์ ดูอัศวินโต๊ะกลม ดูสามก๊กได้ แต่ทำไมคนถึงดูพระนเรศไม่ได้ ทำไมคนถึงดูประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้ นี่คือโจทย์ที่ยาก แต่ผมจะพยายามทำมันออกมาให้ได้ ซีรีส์มันมีความแตกต่างจากหนังค่อนข้างมาก เราลงในรายละเอียดยิบย่อยของมันมากขึ้น เรามี KEYMARK สำคัญของภาพยนตร์ แต่เราก็เก็บรายละเอียดของคนที่อยู่รอบตัวพระนเรศวรหรือพระเจ้านันทบุเรงด้วย ความเป็นหนังประวัติศาสตร์ มันมีเสน่ห์ในเรื่องความสมจริงที่ยิ่งกว่าละครของมันอยู่แล้ว ซีรีส์นี้ก็เป็นซีรีส์ที่ผมตั้งใจทำและภูมิใจที่จะนำเสนอมัน เป้าหมาย ณ วันนี้ของผมก็คือการถ่ายทำในอีกสามวันข้างหน้า ผมไม่ได้มองไกล มองแค่สั้นๆ ทำวันนี้ให้มันดีก่อน ทำพรุ่งนี้ให้มันดีที่สุดก็พอ”

ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

THINKING TO CAMPUS

“ผมว่าทุกอย่างมันมีสองส่วน หนึ่ง ถ้าคุณเรียนไม่ดี คุณป่วย คุณล้มเหลว เพราะคุณไม่มีพื้นฐานที่ดี คุณหลักลอย สอง คือ คุณต้องใช้ชีวิตให้ดี ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนดีอย่างเดียว คุณอาจจะเป็นคนเลวก็ได้ หรืออาจจะเป็นคนที่ลองผิดลองถูกเยอะๆ ล้มบ้างก็ได้ ลองค้นหาตัวเองดู ใช้ชีวิตด้วยการสังเกตและมีสามัญสำนึก แล้วนำสองอย่างนี้มาบวกกันในการใช้ชีวิต คุณก็จะเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นในการทำงานด้านนี้ ลองตั้งเป้าในสิบปีนี้เพื่อการสร้างภาพยนตร์ ทุกๆ วินาทีของคุณ ทุกๆ ลมหายใจของคุณ ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างภาพยนตร์ สร้างละคร ถ้าคุณทำได้ คุณก็จะมาเป็นแบบที่ผมเป็น ณ เวลานี้ได้”

ตามได้ในคอลัมน์ worker นิตยสาร campus star no.41

www.facebook.com/campusstar

ข่าวที่เกี่ยวข้อง