“นิว-อิทธิศักดิ์” ผู้กำกับหนังรักฮาน้ำตาแตก “มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ”

นิว-อิทธิศักดิ์ เอื้อสุนทรวัฒนา ผู้กำกับหนังรุ่นใหม่สุดแนว กับการเดินทางในเส้นทางการกำกับภาพยนตร์ ที่กว่าจะมาได้เป็นผู้กำกับหนังเต็มตัว เส้นทางเกือบสิบปีนี้ต้องอาศัยใจรักอย่างจริงจังถึงจะมีความมุ่งมั่นไปถึงฝั่งฝันได้

เเรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ นิว-อิทธิศักดิ์

“นิว-อิทธิศักดิ์” ผู้กำกับหนังรักฮาน้ำตาแตก มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บINSPIRATION

นิว-อิทธิศักดิ์จบมัธยมปลายพร้อมกับไปศึกษาต่อด้านบริหารที่ประเทศอังกฤษหนึ่งปี ในช่วงวันว่างของการเรียนได้มีโอกาสดูหนังรางวัลต่างประเทศหลากหลายแนว หลังจากกลับมาเมืองไทย เขาจึงตัดสินต่อด้านนิเทศศาสตร์ ที่ม.อัสสัมชัญ ในสาขาโฆษณา ซึ่งก็ทำให้ได้คลุกคลีในการส่วนของทำหนังสั้น จนเรียนจบปริญญาตรี และได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่อเมริกาด้านการทำภาพยนตร์อย่างจริงจัง

IMPORTANT IN A CAREER

“หลังจากเรียนต่อที่อเมริกาอีกหนึ่งปี พอกลับมาก็มาเริ่มทำเกี่ยวกับโฆษณาก่อน เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ เพราะตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จักใครในสายหนังเลย จนกระทั่งได้ไปสมัครที่บริษัทของพี่ต้อม-ยุทธเลิศ แล้วเขามีบริษัทลูกที่ทำหนัง ได้เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา จนมาเป็นผู้ช่วยของพี่ต้อม ก็ได้ทำอยู่หลายปี แล้วก็มีรุ่นพี่ชวนให้ลองเขียนบททำหนังเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนั้นโจทย์มันมาในแนวหนังผี หนังผีผมดูได้ แต่ดูแล้วมันเหนื่อย ผมชอบหนังรักมากกว่า ก็เลยขอเป็นหนังผีที่เกี่ยวกับความรักก็ได้ (หัวเราะ) จนมาเรื่องล่าสุด (มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ) ที่เรียกว่าเป็นผู้กำกับหนังเต็มตัว และเป็นหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่เราอยากทำจริงๆ เผอิญผมรู้จักกับซันนี่ ได้ไปกินข้าวด้วยกันแล้วเล่าพล็อตเรื่องนี้ให้ฟัง ซันนี่ก็บอกว่าเอาด้วย ก็เลยไปเสนอค่าย ก็ได้มีโอกาสทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เป็นเรื่องราวความรักอกหัก แต่เราไม่อยากทำให้มันเศร้า อยากเล่าให้มันสนุกสนานมากกว่า ผมมองว่าหนังรักของไทยมันยังมีช่องทางของมันอยู่ มันทัชคนได้ง่าย เพียงแต่เราต้องมีวิธีเล่าให้เข้าถึง”

HOW TO WORK

อุปสรรคแรกของการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

“การเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ คือ ต้องคอย Manage จัดระบบภายใน มันยากตรงที่เราต้องเตรียมทุกอย่างให้มันเป๊ะเพื่อควบคุมภายในกอง อย่างงานโฆษณาก็หนักกว่ากองถ่ายหนัง คือต้องเป๊ะมาก รวดเร็วทันใจตลอด พลาดไม่ได้เลย ก็มีหลุดบ้างโดนบ่นโดนด่าเหมือนกัน มันต่างจากตอนที่เรียน ตอนนี้มันคืออาชีพ ทุกอย่างมันเป็นเงินหมด ทุกอย่างก็ค่อนข้างกดดัน มันดุเดือดกว่าที่คิดไว้มาก (หัวเราะ) แต่เราก็คิดว่ามันก็เป็นประสบการณ์ให้เราเรียนรู้ มันเป็นบรรยากาศที่เราอยากจะอยู่ แต่แค่อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำมันมากที่สุด”

ซึมซับความเป็นผู้กำกับหนังจากพี่ต้อม

“พอมาเป็นผู้กำกับจริงๆ แล้วต่างกับผู้ช่วยเยอะ ความรับผิดชอบทุกอย่างอยู่ที่เราหมด เราต้องรับผิดชอบคำพูดและการตัดสินใจของเรา ทุกคนพร้อมที่จะรอคำตอบจากเรา จริงๆ ผมกับพี่ต้อมคนละสไตล์กัน พี่ต้อมเขาจะมีความดาร์ก และตลกร้ายของเขา แต่ว่าเราก็มีซึมซับวิธีการทำงานของเขามาบ้าง ผมเป็นคนค่อนข้างจุกจิก รู้สึกว่าองค์ประกอบทุกอย่าง โลเกชั่น เสื้อผ้า หน้าผม สำคัญหมด อีกอย่างคือนักแสดงที่ผมใส่ใจมาก ตั้งแต่ตอนแคสติ้งเลยที่ต้องแคสคนที่ใช่กับบทมากที่สุด มันจะไปใช้เวลาช่วงก่อนถ่ายที่จะต้องทำให้นักแสดงทำความเข้าใจกับบท เพราะตอนออกกองแล้วผมจะไม่ค่อยไปยุ่งกับนักแสดง ให้เขาทำการบ้านมาเองก่อน แล้วอันใช่ไม่ใช่เราก็ค่อยไปคุยกับเขาอีกทีว่าเราต้องการอะไร”

ไลฟ์สไตล์ของผู้กำกับสุดแนว

“เวลาทำงานผมเป็นคนหมกมุ่นมาก คนในกองจะรู้ อย่างโลเกชั่นเรื่องล่าสุดถ่ายที่พัทยา ผมก็จะไปก่อน ไปนั่งเขียนบทของผมไป คือจะวนเวียนแต่แบบนี้ตลอด วันหยุดก็มีคิดไปเรื่อยว่าจะทำยังไงให้มันดี ก็มีออกไปเที่ยว ไปพบปะเพื่อนฝูงบ้าง ผมว่าการได้ไปเจอคนโน้นคนนี้ มันเป็น SOURCE อย่างหนึ่งจากชีวิตจริงที่เราสามารถเอามาใช้ในหนังได้”

พล็อตหนังอกหักจากชีวิตจริง

“ที่เลือกหนังรักแนวอกหัก เพราะคิดว่าทุกคนก็เคยอกหักกันทั้งนั้น น้อยคนที่จะโตมาชอบคนนี้แล้วแต่งงานอยู่กันยาว ต้องคบแฟน 4-5 คน แล้วโดนเขาทิ้งบ้าง อย่างผมเวลาอกหักจะดาวน์มาก เละเทะ หยำเป ชีวิตพัง (หัวเราะ) แต่สุดท้ายวันหนึ่งมันก็จะผ่านไป  พระพุทธศาสนาสอนไว้ “สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นย่อมดี” มองในมุมดี คนนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ เราหยุดไป เราจะได้ไปเจอกับคนที่เหมาะสมกว่า ธรรมะกับเวลาช่วยได้จริงๆ ซึ่งผมว่าคนเขียนบทเกือบทั้งหมด ก็เอามาชีวิตจริงของตัวเอง อย่างเรื่องอกหักมันจะมองมุมที่เศร้าก็ได้ จะตลกก็ได้ ตอนนี้เศร้าชิบหาย แต่พอเวลาผ่านไปเราจะมองเป็นเรื่องตลกไป”

THINKING TO CAMPUS

“เราต้องชัดเจนกับตัวเองก่อนว่าเรามีใจรักในวงการนี้จริงๆ มั้ย เพราะมันค่อนข้างใช้พลังและความอดทนสูง ผมเห็นคนจำนวนมากที่รายล้อมกองถ่าย แต่ถ้าคนที่ใจไม่รักจริงๆ มาแป๊บเดียวก็ต้องไป เพราะมันกดดันรู้สึกได้..มันช่างโหดเหี้ยมเหลือเกิน (หัวเราะ) แต่ถ้าเราแน่วแน่แล้วว่าเรารักมันจริงๆ ผมเชื่อว่ามันจะมีทางของมันที่จะทำได้”

ติดตามได้ในคอลัมน์ worker นิตยสาร campus star no.45 เดือนกุมภาพันธ์ 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง