เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? หนังสือเรียนภาษาไทยสอนผิดหลักภาษา ที่มีอยู่จริง

กำลังเป็นที่วิจารณ์กันอย่างมากบนโลกโซเชียลอยู่ในขณะนี้เลย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊กดังอย่าง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความที่ระบุถึง หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย 2 เล่ม ที่ใช้เรียนจริงๆ อยู่ในตอนนี้ ว่าในปัจจุบันหนังสือเรียนภาษาไทยให้ความรู้ผิดๆ แก่ผู้เรียน ซึ่งหนังสือทั้ง 2 เล่มที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นการสะกดคำผิดตามหลักไวยากรณ์ และการอ่านออกเสียงคำที่มี ห นำไม่ถูกต้องตามหลักภาษา

เห็นแล้วงงเลย!! หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย

โดยในข้อความระบุไว้ดังนี้

“เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร” ?

นำตำราเรียนภาษาไทย ๒ เล่มที่มีอยู่จริง ใช้เรียนจริงในบ้านเราขณะนี้มาให้ดู :

– เล่มแรก เรื่องการสะกดคำ

– เล่มสอง เรื่องการเขียนคำออกเสียงให้คำที่มี ห นำ

(คุณคิดเห็นอย่างไร โปรดบรรยาย)

ทั้งนี้ การเขียนสะกดคำที่ถูกต้องในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยเล่มแรก จะต้องเป็น โค = คอ + โอ = โค

ส่วนการเขียนสะกดคำที่ถูกต้องในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยเล่มที่สอง คำว่า “แหวน” การอ่านออกเสียงคำที่มี ห นำ ตามหลักภาษาแล้วนั้น อักษรต่ำไม่สามารถใช้วรรณยุกต์จัตวาได้ ต้องสอนให้นักเรียนเข้าใจว่า “อักษรสูงนำอักษรต่ำ ให้ออกเสียงเป็นเสียงจัตวา หรือออกเสียงตามอักษรที่เขียนนำอยู่ เช่น ผลาญ แหวน ขวาน หมอน หรูหรา เป็นต้น” หรือการออกเสียงผันคำและสะกดคำ ให้อ่านว่า หอ-วอ-แอ-นอ-แหวน (ห นำ ว ออกเสียงว่า หวอ – ตามหลักการ “อักษรสูงนำอักษรต่ำ”) ดังนั้นคำว่า “แหวน” จึงไม่สามารถเขียนเป็นคำอ่านอื่นได้แล้ว เพราะสิ้นสุดมาตราสะกด “แม่กน” แล้วนั่นเอง

ความรู้เพิ่มเติมวรรณยุกต์ภาษาไทยที่แยกตามหมวดหมู่ ตามเสียงวรรณยุกต์ และรูปวรรณยุกต์ มีดังนี้ 

1. อักษรสูง มี 11 ตัว ประกอบด้วย ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห

โดยคำที่สะกดด้วยมาตราแม่กก แม่กด และแม่กบ จะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์เอกเสมอ เช่น ขาด ขัด ขด ถอด หัก หีบ เหาะ สึก สุข เป็นต้น

2. อักษรกลาง มี 9 ตัว ประกอบด้วย ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ 

โดยคำที่ใช้สระเสียงยาวที่มีตัวสะกดและคำที่ใช้สระเสียงสั้น จะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์เอกเสมอ เช่น บาด จาก จัด ตัด ตก บอก เป็นต้น

3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว ประกอบด้วย ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ

เสียงสามัญ : คำที่ใช้สระเสียงยาวที่ไม่มีตัวสะกด (รวมทั้งคำทีใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ตัวรือ และตัวลือ) และคำที่สะกดด้วย แม่กน แม่เกอว แม่กม แม่กง และแม่เกย เช่น โคน ยาว ยาม คลอง เลย คน ริน ยุง มัน ไร ใย เป็นต้น

เสียงเอก : ใช้อักษรสูงและกลางมานำหน้า หรือเป็นอักษรนำอักษรต่ำ แล้วเติมไม้เอก เช่น อย่า หมี่ กลุ่ม ไกล่เกลี่ย ขลุ่ย ปริ่ม เป็นต้น

เสียงโท : ให้เติมไม้เอกให้คำนั้น ๆ เช่น น่า แย่ ยุ่ง นั่ง ค่ะ เป็นต้น หรือใช้อักษรสูงนำหน้า (ห) แล้วเติมไม้โท เช่น หน้า หญ้า หม้าย หม้อ หรือใช้อักษรสูงและกลางเป็นอักษรนำ แล้วเติมไม้โท เช่น กล้า ขว้าง ปลิ้นปล้อน เป็นต้น หรือคำที่ใช้สระเสียงยาวที่มีตัวสะกด เช่น รอด มอด ทาส ยาก ลาก เครียด เป็นต้น

เสียงตรี : เติมไม้โทให้คำนั้นๆ เช่น น้า ม้า ย้อน ร้อง น้ำ ค้า ลุ้น เป็นต้น หรือเป็นคำที่ใช้สระเสียงสั้น เช่น นะคะ ซัก นัก ลัก ยักษ์ พัก ชิด

เสียงจัตวา : ใช้อักษรสูงนำอักษรต่ำ เช่น หนา หนอน หมี ผลาญ ขนาน เหม็น หลาย สลาย ผยอง เป็นต้น

——————————————-

ที่มา :
เฟซบุ๊ก มานะ มานี ปิติ ชูใจ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง