ครั้งนี้เราจะมาวัดกันที่ความเจ๋งในเรื่องเทคโนโลยี ระหว่างมหา’ลัยชั้นนำอย่าง ม.พระจอมเกล้าธนบุรี VS ม.สยาม ที่มีความเด่นด้านการผลิตหุ่นยนต์ และฟอร์มูล่า โดยเปิดศึกชิงรางวัลกันมาโดยตลอด แล้วครั้งนี้ชาว Campus Star จะลงคะแนนให้ฝั่งไหนกันบ้างล่ะเนี่ย?
มหา’ลัยของนักประดิษฐ์ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี VS ม.สยาม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หุ่นยนต์สุดล้ำสมัย… มจธ. มีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และเป็นมหา’ลัยแห่งแรกที่เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อย่างครบวงจรทั้งปริญญาตรี โท และเอก เพื่อคนรักในการผลิตหุ่นยนต์โดยเฉพาะ นักศึกษาสถาบันฟีโบ้พูดถึงการเรียนการสอนของที่นี่ว่า น้องๆ จะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐาน และมีการออกแบบ ทำโปรเจคอยู่เสมอ ทุกคนจะได้หยิบจับเครื่องมือสร้างหุ่นยนต์จริง ซึ่งจะช่วยในการเรียนภาคนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำทฤษฎี สำหรับอุปกรณ์คอมฯ ซอฟแวร์ก็มีให้ใช้อย่างเต็มที่ มีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาเสมอ วิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามเป็นการรวมศาสตร์ด้านวิศวกรรมทุกอย่างไว้ด้วยกัน ทั้งเครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมอัตโนมัติ คอมฯ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉะนั้นการจะผลิตหุ่นยนต์ออกมาทุกส่วนที่มีส่วนร่วมก็จะมีความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะถ้าส่วนไหนทำมาไม่ดี อีกส่วนหนึ่งก็จะทำยาก หรือออกมาไม่สมประกอบไปเลย
ผลงานการสร้างหุ่นยนต์ และด้านการแพทย์ของ มจธ. เป็นที่สนใจของหลายๆ องค์กรภาครัฐ โดยล่าสุดก็ได้สร้างเครื่องมือ Sensible Tap ที่จะออกสู่ตลาดการแพทย์ สามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับผู้พิการได้จริง นอกจากนี้ยังมีผลงานหุ่นยนต์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมาแล้วอย่างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ ของทีม Hanuman KMUTT ที่เคยส่งไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก World RoboCup: Humanoid League 2013 ณ ประเทศตุรกี แล้วติด 1 ใน 8 สุดยอดทีมการแข่งขัน และหุ่นยนต์รับใช้ @Home ก็ติดเข้าสู่รอบรองชนะเลิศด้วยเช่นกัน แม้จะมีผลงานดีๆ ออกมามากมาย แต่นักศึกษาจากสถาบันยังถ่อมตัวว่า ยังมีข้อผิดพลาดอีกเยอะที่ต้องแก้ไข เพราะเมื่ออยู่การแข่งขันจริงๆ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ทีมต้องตั้งรับ และคอยซัพพอร์ตให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์
ฟอร์มูล่าสุดเท่!… รถแข่งชมรม Formula Student มจธ. ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ จากการที่เคยไปสร้างชื่อเสียงไกลถึงประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับคำชมว่าเป็นที่ทีมที่น่าสนใจอันดับต้นๆ ในเอเชีย ลองจากญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า 1 ใน 10 ของระดับประเทศที่น่าสนใจ และน่าจับตามองเป็นของ มจธ. เลยก็ว่าได้ จากการสัมภาษณ์นักศึกษาปี 4 พบว่า การเรียนที่นี่อาจารย์ผู้สอนจะเน้นในการประยุกต์ใช้งาน นำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมาผลิต และออกแบบใช้งานให้ได้ในรูปแบบของตัวเอง และให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าของเดิม
ในส่วนของเครื่องไม้ เครื่องมือที่มีไว้ให้ใช้งานก็เรียกได้ว่ามีให้ใช้กันอย่างพร้อมสรรพ ทั้งห้องแล็บ คอมพิวเตอร์ออกแบบ เครื่องมือผลิตอย่างเครื่องกลึง เครื่องกลต่างๆ พร้อมให้นักศึกษาได้หยิบจับใช้งานกันเต็มที่ ส่วนใหญ่ทุกคนจะเข้ามาเพราะชื่นชอบในตัวรถแข่งประเภทนี้ พอเข้ามายังชมรมจริงๆ ก็คิดว่าที่นี่ดีมากๆ แตกต่างกับที่อื่น ยิ่งได้เข้าแข่งก็ยิ่งมีความภูมิใจในตัวชมรมฟอร์มูล่าของมหา’ลัยมากยิ่งขึ้นไปอีก
“รถที่เราผลิต หรือใช้ในการแข่งขัน จะมีการเตรียมตัวในการออกแบบ ศึกษา และทดสอบคุณภาพอยู่เสมอๆ เพราะวัสดุบางอย่างก็รับแรงเสียดสีเป็นเวลานานไม่ได้ ต้องอาศัยการทดลองมาเป็นตัวช่วยในการปรับปรุง และเน้นเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ของนักแข่งด้วย คนที่จะทำตรงนี้ได้ต้องเรียนรู้ เข้าใจตั้งแต่พื้นฐาน เพราะทุกส่วนมีความสำคัญเหมือนกันหมด ฉะนั้นความเป็นทีมเวิร์คจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ เรื่องหนึ่ง บวกกับที่นี่จะมีความเด่นในด้านการมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีเครื่องมือเก็บวัดผล เครื่องทดสอบต่างๆ พร้อม และเราจะเก็บข้อมูลกันทุกปี เพื่อเอาไปพัฒนา และใช้ในปีต่อไป และคอยสอนรุ่นน้องในตัวรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ รถทุกคันอ้างอิงข้อมูลจากคันเดิม แต่เราจะสร้างรถออกมาให้ได้ดีกว่าคันเดิมเสมอ ตรงนี้ก็ทำให้เราเป็นมหา’ลัยที่แตกต่างจากมหา’ลัยอื่น
ในบางครั้งมีรุ่นพี่ของเราที่จบไปแล้วได้ไปทำงานเฉพาะด้าน แล้วกลับมาเพิ่มความรู้ให้กับเรา ซึ่งมันก็ได้ผลจริง เช่น เราได้คำแนะนำให้ลองเพิ่มแรงม้าให้กับตัวรถ 5-6 แรงม้า คนอื่นอาจจะมองว่ามันไม่มาก แต่มันช่วยยืดระบบ และการใช้งานให้ได้นานยิ่งขึ้น และดูมีพลังเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เท่าที่ดูจากผลงานในช่วงหลังๆ ของเราในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าดีมากๆ เพราะเรายังโดดเด่นในเรื่องการออกแบบ และพรีเซ็นเทชั่นด้วย ณ ตอนนี้เราไม่ได้มีเป้าหมายแค่ในประเทศ เรายังมีเป้าหมายที่จะไปโชว์ความสามารถให้ที่ต่างประเทศเห็นอีกด้วย”
รางวัล
– รางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Student Formular TSAE Auto Challenge 2012-2013
– ติดอันดับ 1 ใน 10 ของตารางการแข่งขัน JSAE Auto Challenge 2013 ที่ญี่ปุ่น
ผลคะแนนจากชาว Campus Star
ความน่าสนใจ : 8
สถานที่เรียน : 9
อุปกรณ์เทคโนโลยี : 9
สถิติการแข่งขัน : 9
เป็นที่รู้จัก : 8
คะแนนรวม : 43 คะแนน
มหาวิทยาลัยสยาม
หุ่นยนต์สุดล้ำสมัย… ม.สยาม เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในระดับ ป.ตรี ซึ่งจะสอนตั้งแต่พื้นฐานในระบบบริหาร และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถพัฒนาเป็นโปรแกรมอื่นๆ ต่อไปได้จนถึงการสร้าง และพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน สำหรับด้านการเรียนการสอนจะเป็นการเน้นในภาคคอมพิวเตอร์ และเริ่มจากการสร้างโครงชิ้นงานก่อนเสมอ ผ่านการคำนวณต่างๆ มาอย่างดีแล้วจึงค่อยลงมือผลิตเป็นหุ่นที่ใช้งานได้จริง มีการทดลองใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเข้าแข่งขันทีมจาก ม.สยาม ก็เป็นทีมที่น่าสนใจอันดับต้นๆ เสมอ
ล่าสุดกับผลงานสร้างชื่อใน การแข่งขันหุ่นยนต์สร้างบ้าน (Home Builder Robot Contest 2013) ที่ทีม SI-AM 54 ที่ได้สร้างหุ่นยนต์เพื่อการแบกถุงปูนก็สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันมาครองได้สำเร็จ แม้จะเป็นผลงานการออกแบบในภารกิจแรกของพวกเขา แต่ก็ยังสามารถชิงรางวัลได้ แบบนี้เรียกว่าไม่ธรรมดา อนาคตของพวกเขาต้องไปอีกไกลอย่างแน่นอนเลยเชียว และหุ่นยนต์อีกประเภทอย่างฮิวมานอยด์เองก็เคยได้รับราวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขัน Thailand Humanoid Soccer 2012 มาแล้วเช่นกัน
ฟอร์มูล่าสุดเท่!… นักศึกษาปี 2 พูดถึงรถแข่งฟอร์มูล่าว่า ที่ ม.สยาม เรื่องรถเป็นอะไรที่เด่นสุดแล้ว เพราะส่วนใหญ่เด็กที่มาต่อที่นี่จะเป็นในสาย ปวช. สายวิชาชีพโดยตรงทำให้ได้ความรู้มาระดับหนึ่งอยู่แล้ว เช่น ความรู้ในการซ่อมบำรุง แต่พอมาอยู่ในภาค ป.ตรี ก็จะมาเน้นการผลิต สร้างผลงาน เก็บเกี่ยวความรู้ใหม่ๆ ทำให้เรามีพื้นฐานที่แน่น และพูดได้ว่าเราเป็นที่ 1 ในระดับมหา’ลัยเอกชนอย่างแน่นอน แล้วเรื่องการสอนเชื่อว่าการสอนทางด้านนี้ก็จะเน้นในเรื่องปฏิบัติเหมือนๆ กันหมด เพราะหัวใจของการผลิตคือการได้ลงมือทำงานจริงๆ และได้นำเสนอออกมาเป็นชิ้นงาน
“ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการแล็บของที่นี่ก็มีเครื่องมือพร้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงกลึง ตัด เชื่อมต่างๆ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้เครื่องมือสำเร็จสักเท่าไหร่ ติดจะใช้เครื่องทุ่นแรงแบบงานฝีมือมากกว่า เช่นมีเครื่องไส แต่เราไม่ใช้ ใช้เครื่องเจียด้วยมือดีกว่า ทั้งง่ายกว่า และงานออกมาตรงใจกว่ากันเยอะ ล่าสุดเรากำลังจะเอาเครื่อง CNC รุ่นใหม่มาลงราคาก็หลักล้าน ก็ถือว่ามหา’ลัยทุ่มทุนเพื่อนักศึกษาจริงๆ
ด้านการแข่งรถในแต่ละครั้ง เราจะทำตั้งแต่เรื่องอุปกรณ์ประกอบรถ จัดหาผู้เข้าแข่ง ทุกอย่างต้องนำมาทดสอบร่วมกัน เทคนิคของเราก็คือ ออกแบบจากคอมฯ มาก่อน แล้วถึงจะไปสร้างจริง ขั้นตอนการสร้างก็ทั่วๆ ไป ลองผิด ลองถูกไปเรื่อย สำหรับทีมของเราเรื่องที่เด่นๆ เลยคือ เรื่องสมรรถนะ ตั้งแต่เรื่องน้ำหนักของรถ การรองรับ ช่วงล่างที่ดี เกาะถนนดีก็จะช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้มากกว่า และที่แน่ๆ สีรถเราเด่นกว่าทีมอื่นแน่นอนครับ 555 เพราะทีมอื่นจะเน้นสีเท่ๆ ดุดัน แต่เราจะใช้สีสว่าง สดใส ทำให้คนอื่นเห็นรถเราได้ง่ายขึ้น ในเรื่องการรองรับความปลอดภัยต่างๆ เรามันใจในผลงานของเรามากครับ เพราะเคยได้รับรางวัลจุดนี้มาแล้ว จะมีข้อที่ยังต้องปรับปรุงอีกในส่วนการพรีเซ็นเทชั่น แต่เราก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แต่ละปีมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ การแข่งใครจะเป็นผู้ชนะก็ต้องมาวัดกันอีกที ต้องอย่าไปท้อ อย่างไปกลัว มุ่งมั่นที่จะเป็นอันดับต้นๆ ต่อไป ^^ ”
รางวัล
– รางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Student Formular TSAE Auto Challenge 2011-2012
– รางวัล Rookie Award และอันดับคะแนนรวมที่ 18 จากการแข่งขัน Japan Student Formula 2011 ณ เมือง Shizuoka ประเทศญี่ปุ่น
– Formula Combustion Raking ปี 2011 มหาวิทยาลัยสยามได้อันดับที่ 76 ของโลก
ผลคะแนนจากชาว Campus Star
ความน่าสนใจ : 8.5
สถานที่เรียน : 8
อุปกรณ์เทคโนโลยี : 8
สถิติการแข่งขัน : 8.5
เป็นที่รู้จัก : 8.5
คะแนนรวม : 41.5 คะแนน
ผลคะแนนที่ได้ออกมา คือ… ผลสรุปของชาว Campus star ขอสรุปว่า มจธ. มีความโดดเด่นกว่า ม.สยาม จากคะแนน 43 ต่อ 41.5 เนื่องจากสภาพบรรยากาศ และความพร้อมในเครื่องมือที่มีมากกว่าของ มจธ. ในการ RESULT และเก็บข้อมูล DATA ต่างๆ ทำให้เอาชนะไปได้อย่างฉิวเฉียด ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเชื่อว่าแต่ละมหา’ลัยจะไม่หยุดการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของมหา’ลัยอย่างแน่นอน การศึกษาไทยเราจะต้องก้าวล้ำกว่านี้อีกเยอะ ไม่เชื่อก็ต้องคอยจับตาดู!!
ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.6 (พฤศจิกายน 2013)