หาสิ่งที่ชอบ เชื่อแล้วลุย! แก๊ป-ธนเวทย์ นักแสดงและเจ้าของแบรนด์ a piece(s) of paper

ไม่ใช่แค่เล่นละครเก่ง แต่หนุ่มหล่อสุดอาร์คติสท์ แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ไอเดียเก๋ในชื่อ a piece(s) of paper ด้วยคอนเซ็ปต์เด่นในเรื่อง Eco Friendly ปลูกฝังแนวคิดถึงคนรุ่นใหม่ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ที่ตอนนี้แบรนด์เติบโตมากว่า 5 ปี และเตรียมขยายแบรนด์ต่อในต่างประเทศอีกด้วย

แก๊ป-ธนเวทย์ นักแสดงและเจ้าของแบรนด์ a piece(s) of paper

หาสิ่งที่ชอบ เชื่อแล้วลุย! 

แรงบันดาลใจเริ่มต้น

แก๊ปเรียนจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยการที่ต้องเหนื่อยหนักกับการพิสูจน์ความฝันในหลายๆ อย่างที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ อีกเท่าตัว

“ตอนนั้นเลือกด้านกราฟิกดีไซน์ เพราะคิดว่าน่าสนใจ ตอนเข้าเรื่องคะแนนวิชาทั่วๆ ไปผมไม่ค่อยกังวล แต่กังวลเรื่องความถนัดนี่แหละ เพราะพอมาเรียนติวจริงจัง มันต้องวาดคนให้ถูกสเกล วาดรถ วาดภาพเปอร์สเปกทิพ แล้วพี่ที่ติวเขาเห็นฝีมือเราเขาคิดว่าเราไม่น่าเข้าได้ แต่สุดท้ายเราเข้าไปได้ ด้วยคะแนนความถนัดที่ไม่ดีเลย เข้าไปเลยต้องพยายามต้องเหนื่อยกว่าปกติ แต่เราไม่ได้เหนื่อยคนเดียว มีอีกหลายคนที่เขาไม่ได้ดูดีตั้งแต่แรก

แต่ก็ทำให้เรารู้ว่า การเข้าสถาปัตย์ฯ ได้ไม่ได้ ไม่ได้วัดว่ารูปที่เราวาดมันสวย แต่วัดจากไอเดียคอนเซ็ปต์ของเรา พอจบมา สุดท้ายคนที่เป็นสถาปนิกเก่งๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องวาดรูปสวยมาก แต่ต้องวาดรูปสื่อความหมายให้คนเข้าใจได้ นั่นสำคัญกว่า

แล้วตอนเรียนก็มีเรื่องของการทำกิจกรรมคณะด้วย ตอนนั้นผมอินกับการเล่นละครเวทีคณะ แต่พอ Try Out  ทีไรได้เล่นแค่บทชาวบ้านธรรมดา มีบทพูดประโยคเดียว แล้วอาจารย์ในคณะยังเคยพูดว่า คุณทำไม่ได้หรอก ซึ่งมันก็เป็นอีกปมที่ทำให้เฟล คือมันเหมือนเป็นความฝันของผมคนเดียว เราต้องไฟท์อยู่คนเดียว

ซึ่งตั้งแต่แรกที่เข้ามาเรื่องติววาดรูป แล้วก็เรื่องละครอีก ผมรู้สึกว่าถ้ามีน้องๆ มาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำอะไรบางอย่าง ผมก็อยากให้กำลังใจทุกคน เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการแนะแนวเท่าไหร่ ว่าคุณควรจะทำอาชีพอะไร แล้วผมเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนก็ไม่ค่อยได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ เพราะพ่อแม่มักจะเลือกให้เขาก่อน สมมติไม่เชื่อพ่อแม่ ก็จะมีเพื่อนมาตัดสินเราอีก ซึ่งเพื่อนนี่ตัวสำคัญเลย เขามีอิทธิพลกับตัวเรามาก ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปได้ ถ้าเราไม่เชื่อเสียงที่อยู่ข้างในเรามากพอ

แบรนด์คอนเซ็ปต์เด่น

“สุดท้ายผมจบมาทำด้านกราฟิกดีไซน์ที่บริษัทรัฐวิสาหกิจก่อน แล้วใช้เวลาเลิกงานไปแคสโน่นนี่ มีเวทีประกวดก็ไป ก็ทำอยู่ที่นี่ได้ปีครึ่ง แล้วก็รู้สึกว่างานมันน่าเบื่อ เลยเปลี่ยนมาสายครีเอทีฟโฆษณาอยู่ 4-5 ปี ซึ่งคราวนี้งานสนุก ได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้คิดหนังทำสตอรี่ ออกกอง ตัดต่อ ซึ่งในช่วงนั้นก็เป็นช่วงได้เซ็นต์สัญญากับโพลีพลัสด้วยที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน ก็เลยลาออกมาโฟกัสกับงานด้านนี้เต็มตัว แต่ช่วงนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ a piece (s) of paper ด้วย

ช่วงปลายของการทำงานโฆษณา แล้วได้มีโอกาสทำงานประกวดระดับโลกเพื่อสังคม เลยเกิดแนวคิดของการทำโปรดักซ์ของตัวเองในคอนเซ็ปต์ Eco Friendly แล้วตอนนั้นแฟนผมก็มีความสามารถในเรื่องงานคราฟท์ และการวาดรูป เลยเอาความถนัดของเราสองคนมารวมกัน แล้วลองดูช่องว่างในท้องตลาด

ก็ไปเจอช่องว่างการใช้กระดาษห่อของขวัญ ที่คนมักใช้ครั้งเดียวแล้วฉีกทิ้ง ดูน่าสงสาร เลยออกเป็นคอลเลกชั่นแรก ทำเป็นกระดาษห่อของขวัญที่เป็นกระดาษ Recycle  มีรอยปรุเป็นตารางไปทั่ว ใช้เสร็จ เอามาเป็นกระดาษทดเลขต่อก็ได้ หรือเอาไปใส่ในเคสมือถือใสๆ ใส่ในปกหนังสือใสๆ เปลี่ยนปกใหม่ นั่นคือกระดาษแผ่นหนึ่งไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับหนึ่ง คุณได้ใช้ครั้งที่สองและสาม และนั่นคือคุณได้ช่วยโลกแล้ว ก็เป็นที่มาของชื่อแบรนด์ที่เราแอบใส่ (s) เข้าไป คือไม่ได้ตกภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ คือจะเติม s หรือเปล่าก็อยู่ที่คนใช้ว่าคุณจะเติม s ให้มันหรือเปล่า

ซึ่งตอนนี้แบรนด์ก็กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เราก็พยายามที่จะแตกไลน์โปรดักซ์ในหลากหลายรูปแบบ อย่างตอนนี้จะมีสติ๊กเกอร์ไลน์คาแรกเตอร์การ์ตูนที่เรามีออกมา แล้วก็พยายามจะขยายตลาดออกไปในหลายๆ ประเทศให้มากขึ้น ส่วนอนาคตของผม นอกจากเรื่องธุรกิจ ผมก็อยากทำงานแสดงต่อไป เพราะงานแสดงก็เป็นสิ่งที่ผมรัก ตราบใดที่ยังได้โอกาสจากผู้ใหญ่ ก็จะทำให้เต็มที่”

แนวคิดใหม่ที่ต้องใช้เวลา

“ตอนเริ่มแรกใช้เวลาคิด 6-7 เดือน กว่าจะออกมาเป็นคอลเลกชั่นแรก เราลังเลว่าคนจะใช้ได้มั้ย ลำบากมั้ย ซึ่งต้องบอกว่าปัญหาใหญ่สุดของงานที่เป็น Eco คือเรื่องราคา และวิธีการใช้งาน บางคนมองว่ามันเป็นข้อเสียหน่อยๆ เพราะต้นทุนกระดาษ Recycle ก็แพงกว่ากระดาษปอนด์ธรรมดาแล้ว ยังมีต้องไปทำตัวปั้มปรุอีก ก็เลยคิดว่าคนจะยอมจ่ายแพงขึ้นมั้ย ซึ่งในไทย ผมว่าเราอาจจะยังไม่ให้คุณค่าของงานดีไซน์เท่าไหร่ ถ้าในต่างประเทศเขาจะเข้าใจทันที เขายอมนะครับว่าถ้ามันเป็นวัสดุรีไซเคิลแล้วราคาแพงกว่า แต่บางคนอาจจะคิดว่าทุกวันนี้กินข้าวก็แพงแล้ว ทำไมยังต้องมาซื้อกระดาษในราคาแพงกว่าทั่วๆ ไปอีก เราก็ต้องค่อยๆ ให้ความรู้กันไป”

 

Eco ไม่ใช่เทรนด์ แต่คือสิ่งจำเป็น

“ผมรู้สึกว่า Eco ไม่ใช่เทรนด์ แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นเลย เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องมี เพราะมันเป็นสิ่งใกล้ตัวเรา ที่ทุกคนตั้งใจจะมีมันอยู่แล้ว คือ Eco มันมี Reduce Recycle Reuse ซึ่ง Reduce คือคำหนึ่งที่ต้องมีในทุกคนอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน เราทำธุรกิจเสื้อผ้า ก็ต้องพยายามทำยังไงก็ได้ให้ใช้ผ้าน้อยที่สุด หรือร้านอาหาร ก็ต้องใช้วัตถุดิบในปริมาณที่โอเคที่สุด เพราะฉะนั้น Eco ก็อยู่ในทุกธุรกิจเช่นกัน คนที่ทำธุรกิจ เวลาที่คุณใกล้ชิดกับมันจริงๆ คุณจะรู้ว่าในสายธุรกิจของคุณมันมีอะไรที่เราสามารถช่วยโลกได้ มันมีหมด แค่เราจะคิดถึงมันหรือเปล่า”

มุมมองฝากถึงน้องๆ

“อยากฝากแค่ให้เรามองหาต้นทุนของตัวเองก่อน การเริ่มทำสิ่งสำคัญคือต้นทุน แต่ต้นทุนของผมเนี่ย ไม่ใช่เงิน แต่คือการที่เรารู้ว่าเราชอบถนัดอะไร นี่คือต้นทุนที่ดีที่สุด และแข็งแรงกว่าคนอื่นด้วย บางทีคนสมัยนี้ชอบทำไปตามเทรนด์ อันนี้คือสิ่งที่อันตราย เพราะเราเริ่มต้นทำในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราชอบหรือเปล่า แค่เห็นคนทำสำเร็จแล้วก็กรูตามกันไป เพราะฉะนั้น กลับมาสำรวจตัวเอง แล้วค่อยๆ ลองดูช่องทางที่เราจะไปต่อได้ แล้วอย่าใช้เวลาลังเลนาน คิดแล้วก็ทำสิ่งที่ตัวเองชอบเลย อย่างผม ผมก็เริ่มก่อนเลย เริ่มในสโคปที่เราสามารถทำได้ แบบพอเพียง คือจุดเริ่มต้นมันแค่เสี้ยวเดียวจริงๆ ขอให้เริ่มก้าวก่อน พอเราเปิดประตูไปแล้ว ข้างหลังนั้นมันคือโอกาสของการเรียนรู้และพัฒนา ต่อให้คุณทำอันแรกแล้วเจ๊ง ผมว่าอันที่สองคุณก็จะมีประสบการณ์จากอันแรกมาเยอะพอสมควรเลย”

 

ภาพจาก FB : apiecesofpaper

 

ติดตามได้ในคอลัมน์ Worker นิตยสาร Campus Star No.52

www.facebook.com/campusstar

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง