ปั้น The Walking Backpack กับจุดเริ่มต้นลุยเดี่ยว เรียน รัก เที่ยวทั่วโลก!

การได้ออกเดินทางท่องเที่ยวแบกเป้ตัวคนเดียวมุ่งหน้าไปหาความท้าทายในสถานที่แปลกใหม่ ถือเป็นความฝันที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตในหมู่นักเดินทางรุ่นใหม่ รวมถึง ปั้น-จิรภัทร พัวพิพัฒน์ วิศวกรหนุ่มหล่อสุดคมเข้มวัย 25 ปี ที่มีแรงบันดาลใจในการเดินทางลุยเดี่ยวเที่ยวทั่วโลกเป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต และเป็นที่มาของการทำเพจ The Walking Backpack ด้วยยอดวิวของผู้ชมที่หลงใหลในสิ่งเดียวกันกว่าสองแสนคน

ปั้น The Walking Backpack

กับจุดเริ่มต้นลุยเดี่ยว เรียน รัก เที่ยวทั่วโลก!

จุดเริ่มต้นจากการเรียนที่สิงคโปร์

จากหนุ่มน้อยร่าเริง พูดเก่ง ได้เปิดโลกกว้างใหม่จากการสอบชิงทุนได้ไปเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ตอนม.3 จนกระทั่งถึงช่วงที่ต้องเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จากบุคลิกของความเป็นนักคิดนักสร้างตั้งแต่เด็ก เขาจึงเลือกเรียนต่อในสายวิศวกรรมศาสตร์ ที่ National University of Singapore

ที่มาเพจ The Walking Backpack

“ชีวิตมหา’ลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก สนุก มีความสุข มีอิสระสูง ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียน ผมกล้าทำทุกอย่าง ทั้งเล่นกีฬาแฮนด์บอล แสดงละคร เป็นพิธีกรข่าวฟุตบอล ผมอยากทำอะไรผมก็ทำ ส่วนวิธีการเรียนของผมก็คือลองไปเรื่อย ถ้าผิดก็ทำต่อ เอาโจทย์ข้อนี้มาทำ ไปหาคำตอบข้อนั้น จากรู้นิดๆ จนกระทั่งปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องใหญ่ๆ สุดท้ายจบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง ช่วงเวลาสี่ปีจึงเป็นโอกาสให้ผมได้ค้นหาตัวเองพบทั้งการเรียน อาชีพและความชอบส่วนตัว

ผมเริ่มเดินทางตั้งแต่ตอนปี 1 ช่วงที่อกหักเพิ่งเลิกกับแฟน แล้วนั่งกินข้าวกับรุ่นน้องคนหนึ่ง ก็บอกว่าเฮ้ยๆ อยากไปดำน้ำมากเลย เบื่อ เซ็งชีวิต น้องบอก ไปดิ ไปคนเดียวเลย เราก็บ้า ใครเขาไปเที่ยวคนเดียว สุดท้ายเคยดูหนังเห็นพระเอกแบกเป้เดินทาง โคตรเท่ ผมน่าจะทำได้ กลับมาเขียนลงเฟซบุ๊ก วันรุ่งขึ้นแพ็คกระเป๋าออกจากหอไปเลย ข้ามเกาะสิงคโปร์ไปมาเลเซีย ได้เจอคริสกับซาร่า เพื่อนคนสำคัญในทริปแรกของการเดินทาง ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเดินทางรอบโลก

แล้วก็เริ่มทำเพจ ตั้งเพจเล็กๆ กับเพื่อนแล้วไปโพสต์ในกระทู้พันทิป คนก็เริ่มสนใจ จนกระทั่งเรียนจบมาสามปีแล้ว ตอนนี้เพจก็โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป้าหมายของผมคือการมีคนกดไลท์ล้านคน ผมแค่อยากเปิดเพจขึ้นมาเป็นพื้นที่เล่าชีวิตของผมที่ผมได้เจอมาเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งที่ได้มีโอกาสทำคือออกพ็อกเก็ตบุ๊ค อย่างเล่มแรกที่ออกกับทาง GEEK BOOK ก็คือ ยุโรปไม่ได้เป็นเหมือนฝัน แล้วก็ทำต่อมาอีกสามเล่ม โชคดีที่มีคนอ่านมีคนติดตาม แพลนเล่มใหม่ตอนนี้อยากจะไปอเมริกา เหมือนไปขับรถโรดทริปรอบเมือง ด้วยความที่เราเสพสื่อและเข้าใจวัฒนธรรมของเขาดีมาก แต่ยังไม่เคยไปสักที ก็อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง

แต่คือจากการเดินทางมาหลายปี ผมไม่ได้คิดว่าการเดินทางคือเรื่องหลักของชีวิต ผมไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าต้องเดินทางให้ครบ 50 ประเทศ เพราะถ้าเราไปตั้งเป้าแล้วโห โคตรเหนื่อยเลย ไปไม่ถึงเป้า คุณจะเสียใจ สู้เราทำให้ดีที่สุด มองกลับไป ได้แค่นี้ก็ไม่เลวนะ ดีกว่า ก็ไม่อยากสนับสนุนให้วัยรุ่นสมัยนี้คิดว่าชีวิตคือการเดินทาง ต้องทำทุกอย่างเพื่อออกไปดูโลก มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราควรจะใช้เวลาควบคู่ไปด้วยกันกับงานหลัก ส่วนตัวผมอยากทำทั้งงานวิศวกรแล้วก็การเดินทางควบคู่กันไป จริงๆ อยากลาไปเรียนต่อประเทศอื่นด้วย เหมือนตอนนี้ผมอยู่สิงคโปร์อยู่ในคอมฟอร์ดโซนของตัวเอง ก็อยากเปลี่ยนไปค้นหาอะไรใหม่ๆ บ้าง”

เปิดใจให้กว้าง มองหาเพื่อนร่วมทางใหม่ๆ

ทุกครั้งที่เดินทาง ผมจะเปิดใจกว้างๆ ลองทำทุกอย่าง ลองกิน ลองคุยกับทุกคน ตอนอยู่ในชีวิตปกติ นั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน ผมจะเล่นโทรศัพท์ไม่สนใจใคร แต่พอถึงเวลาเดินทางปุ๊บ จะเปลี่ยนเป็นอีกโมทหนึ่ง หันไปดูคนข้างๆ หันไปคุยกับคนแปลกหน้า แล้วคือเวลาเดินทาง ถ้าผมทำอะไรด้วยตัวเองได้ผมจะทำ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปได้ หรือถ้าไปนอนกางเต็นท์ได้ ผมก็จะแบกถุงนอนไป เราก็จะได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ คือเราอย่าพยายามวางแผนมากเกินไป ให้ลองไปหาดูข้างหน้าว่ามีอะไรให้เราทำบ้าง”

การเดินทางทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น

“การเดินทางทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจวัฒนธรรม ศาสนา ความซับซ้อนของโลก สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ ทุกคนในโลก 99.99% เป็นคนดี อาจจะมีมุมไม่ดีบ้าง แต่ทุกคนก็พยายามช่วยเหลือคุณ คุณจะพูดว่าคนประเทศนั้นเสียงดัง พูดไม่ได้ ไม่สามารถเหมารวมได้ ทุกคนมีเหตุผลของเขา อย่างไปอินเดีย มีคนเสียงดัง วิ่งไปมา แซงคิว ตอนแรกคิดทำไมประเทศนี้แย่มาก แต่ประเทศอินเดียมีคนเป็นพันล้านคน ถ้าคุณไม่แซงคิว จะไม่ได้อะไรเลย ทุกวันที่เขาออกจากบ้านคือต้องต่อสู้ตลอดเวลา ถ้าเรามองจากมุมของเขา เข้าไปอยู่ในสังคมเขา เราจะเข้าใจว่ามันมีเหตุผลอยู่ แล้วคนอินเดียเป็นคนมองโลกในแง่ดี ถ้าเราต้องเข้าไปอยู่ในโลกของเขา ผมเชื่อว่าคนไทยต้องฆ่าตัวตาย มันลำบากมาก ร้อน ไม่มีข้าวกิน แต่เขาก็ยังอยู่ได้ เขามีความสุขในความลำบากตรงนั้น”

เมื่อคุณตกหลุมรักระหว่างการเดินทาง

“ผมว่ามันเป็นพาร์ทใหญ่พาร์ทหนึ่งที่คนเดินทางส่วนมากหวังในใจที่จะเจอใครสักคนระหว่างเดินทาง แล้วตกหลุมรักกัน มันสุดยอดมาก เวลาเดินทาง ทุกคนไปที่นั่น ใช้เวลาเดินทางช่วงหนึ่ง แล้วก็มีแผนของเขาต่อไป เพราะฉะนั้น อาจจะไม่มีการผูกมัดเป็นแฟนกันเป็นตัวเป็นตน แต่ในโมเม้นท์นั้น มันคือความรู้สึกดีที่ได้จับมือกัน ได้ไปไหนด้วยกัน มีครั้งหนึ่งไปบาหลี แล้วถ่ายรูปอยู่ริมหาด เจอผู้หญิงฝรั่งเศสคนหนึ่งยืนถ่ายรูปอยู่เหมือนกัน ก็ได้คุยกัน คุยไปคุยมาถูกคอกัน วันรุ่งขึ้น ว่างอยู่ใช่มั้ย ก็ได้ไปเที่ยวทำความรู้จักกัน ถึงจะไม่ได้ลึกซึ้ง แต่ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน แต่ถึงเวลาก็ต้องจากกันไป คือผมก็ได้เรียนรู้กับเรื่องนี้ว่า ในชีวิตการเดินทาง ความสั้นมันคือ Excitement แต่ในชีวิตประจำวันมันมีอะไรมากกว่านั้น มันต้องอยู่ด้วยกันได้ นิสัยเข้ากันได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีเพื่อนที่รู้จักกันมานาน เป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข ที่ไม่ได้ต้องการความหวือหวาอะไรมาก (ยิ้ม)”

เมื่อน้องๆ อยากออกเดินทางตามฝันบ้าง

“สำหรับน้องๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ ช่วงเรียนมัธยม โดยเฉพาะก่อนเข้ามหา’ลัย ต้องนั่งอ่านหนังสือ สอบเสร็จก็ทำงาน ชีวิตมันดูเศร้ามาก อย่าไปคิดอย่างนั้น ผ่านช่วงมัธยมจนถึงเรียนจบไปให้ได้ แล้วโลกที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้นจะรอเรา ถึงเวลามันจะมีอะไรสนุกๆ ให้ทำอีกเยอะ เพียงแต่ตอนนี้คุณต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อน เรียนให้เก่ง หางานที่เราชอบ มีความสุขกับมัน แล้วมีผลตอบแทนให้เรา แล้วชีวิตมันจะค่อยๆ เดินไปต่อได้ด้วยตัวเอง”

ติดตามคอลัมน์ Worker ได้ใน Campus Star No.53

www.facebook.com/campusstar

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง